×

กนศ. เตรียมสรุปผลกระทบหากไทยเข้าร่วม CPTPP ก่อนชง ครม. ตัดสินใจ 24 มิถุนายนนี้

19.06.2021
  • LOADING...
กนศ. เตรียมสรุปผลกระทบหากไทยเข้าร่วม CPTPP ก่อนชง ครม. ตัดสินใจ 24 มิถุนายนนี้

นลินทิพย์ หอมวิเศษวงศา ผู้อํานวยการกองนโยบายระบบการค้า สํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะมีการประชุมเพื่อสรุปผลการศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการเข้าร่วมเจรจาในข้อตกลงดังกล่าวในวันที่ 24 มิถุนายน

 

ทั้งนี้วันที่ 24 มิถุนายน จะเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาที่ ครม. ขยายให้ กนศ. ไปศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ของไทยเพิ่มอีก 50 วัน จากกำหนดการเดิมที่ต้องส่งผลสรุปการศึกษาดังกล่าวในวันที่ 15 เมษายน

 

นลินทิพย์กล่าวว่า ในรอบ 50 วันที่ผ่านมา กนศ. ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการคลัง ในประเด็นที่มีข้อกังวลหากไทยเข้าร่วม CPTPP เช่น การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ความมั่นคงทางภาคเกษตรของไทย ความมั่นคงทางระบบสาธารณสุข และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตการค้าเสรี

 

“นอกจากนี้ กนศ. ยังมีการหารือและรับฟังความเห็นจากตัวแทนภาคเอกชน ขั้นตอนจากนี้จะเป็นการสรุปเพื่อส่งการบ้านให้ ครม. นำไปใช้ตัดสินใจ” นลินทิพย์กล่าว

 

เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยอาจเสียโอกาสหลายประการหากไม่เริ่มต้นกระบวนการเข้าร่วมเป็นภาคีใน CPTPP เช่น การหลุดออกจากห่วงโซ่การค้าโลก และการสูญเสียโอกาสปรับปรุงกฎระเบียบการค้าต่างๆ ให้เข้ากับกติกาโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งในการเจรจาข้อตกลงการค้าอื่นๆ ไทยก็ต้องปรับปรุงกฎระเบียบของตัวเองในลักษณะที่คล้ายกับ CPTPP เช่นกัน

 

“เราอาจต้องถามตัวเองว่าเราพอใจกับศักยภาพของเราในปัจจุบันหรือยัง หากเราบริหารโรงแรมสามดาวอยู่แล้วอยากให้กิจการเติบโตเป็นโรงแรมห้าดาว เราก็ต้องยอมรับมาตรฐานต่างๆ ที่จะสูงขึ้น เช่น ความสะอาดและการให้บริการด้านอื่นๆ” เชิดชายกล่าว

 

อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศระบุว่า การเริ่มต้นกระบวนการเจรจาเข้าร่วมเป็นภาคีใน CPTPP ไม่ได้หมายความว่าไทยจะได้เข้าเป็นสมาชิกในทันที แต่จะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ เช่น การพิจารณาคำขอโดยคณะกรรมาธิการ CPTPP การเจรจากับ AWG จนได้ข้อสรุป การเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการ CPTPP และการยื่นภาคยานุวัติสาร ซึ่งอาจกินเวลาเป็นปี 

 

“ณ ปัจจุบัน ไทยเรายังไม่เริ่มต้นขั้นตอนที่หนึ่งเลย ขณะที่สหราชอาณาจักรเริ่มไปแล้ว หากเราดำเนินการช้าและสหราชอาณาจักรได้เข้าเป็นภาคีก่อน การเจรจาของเราจะยากขึ้น เพราะจำนวนประเทศที่ต้องเจรจาจะเพิ่มจาก 7 เป็น 8 ประเทศ ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือแม้แต่จีนเองก็แสดงความต้องการจะเข้าร่วม CPTPP ดังนั้นยิ่งเราช้างานจะยิ่งยากขึ้น” เชิดชายกล่าว

 

ธิดากุญ แสนอุดม ผู้อำนวยการ กลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงข้อกังวลว่า หากเข้าร่วม CPTPP เกษตรกรไทยจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้สำหรับการเพาะปลูกในครั้งต่อไปได้ เนื่องจากอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ให้ความคุ้มครองแก่ผู้พัฒนาพันธุ์พืชว่า เรื่องนี้อาจต้องมองทั้งสองมุม คือมุมที่ไทยได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

 

ธิดากุญยอมรับว่า จะมีเกษตรกรไทยที่เสียประโยชน์จากเรื่องนี้ เนื่องจาก UPOV 1991 ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของผู้พัฒนาพันธุ์พืชในระดับที่สูงกว่ากฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชไทย เช่น กรณีที่มีผู้พัฒนาพันธุ์พืชใหม่ขึ้นมาได้ กฎหมายไทยจะอนุญาตให้เป็นผู้ขายแต่เพียงผู้เดียว 12 ปี แต่ภายใต้ UPOV 1991 การคุ้มครองจะเพิ่มเป็น 20 ปี กรณีการเก็บเมล็ดเพื่อนำไปปลูกต่อกฎหมายไทยอนุญาตให้ทำได้ในพืชทุกประเภท แต่ภายใต้ UPOV พืชที่ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งอาจทำไม่ได้เลย ส่วนพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดอาจทำได้แต่ประเทศนั้นๆ ต้องออกกฎหมายมารองรับ

 

“UPOV มองว่าเงื่อนไขเหล่านี้จะช่วยจูงใจให้นักพัฒนาพันธุ์พืชคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา ซึ่งหากมองในแง่ดี ไทยเองถือเป็นประเทศที่พัฒนาพันธุ์พืชและส่งออกสูงมาก ในมุมนี้เราอาจได้ประโยชน์ สำหรับเกษตรกรรายย่อยของไทยที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ภาครัฐอาจต้องเร่งพัฒนาและวิจัยพันธุ์พืชที่ตรงกับความต้องการของเขาเพื่อช่วยเกษตรกรกลุ่มนี้ให้เข้าถึงเมล็ดพันธุ์ในราคาถูกได้” ธิดากุญกล่าว

รัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก กล่าวว่า การเข้าร่วมเจรจาในข้อตกลง CPTPP ไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยไทยสามารถเจรจาขอผ่อนผันการบังคับใช้กฎระเบียบบางเรื่องของข้อตกลงที่เรายังไม่มีความพร้อมได้ เช่นเดียวกับที่เวียดนามทำ ส่วนเรื่องการชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเชื่อว่าการตั้งกองทุนเยียวยาเป็นเรื่องที่สามารถทำได้

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X