เปิดดำเนินการมาเกือบ 3 เดือนเต็ม กับงบลงทุน 5 พันล้านบาท สำหรับ ‘เซ็นทรัล วิลเลจ’ ลักชัวรีเอาต์เล็ตแห่งแรกของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ล่าสุดได้ออกมาประกาศว่า กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ยักษ์แดนซามูไร ‘มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย’ ได้เข้ามาร่วมทุนในโครงการนี้ด้วยสัดส่วน 30% พร้อมกับเม็ดเงิน 1 พันล้านบาท
เดิมทีการทำโครงการนี้ของ CPN ไม่ได้ตั้งใจจะหาผู้ร่วมทุนตั้งแต่แรก แต่ที่ผ่านมามีผู้เข้ามาพูดคุยประมาณ 3 ราย ก่อนจะมาตกลงใจที่มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย ซึ่งเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาก่อน และใช้เวลาพูดคุยเกือบ 2 ปี เหตุผลที่เลือกเป็นเพราะนอกจากจะเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Cap ที่ 2.913 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
และมีรายได้รวมกว่า 1.263 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโครงการที่อยู่อาศัย (Residential Properties) ธุรกิจโครงการสำนักงาน (Office Buildings) ธุรกิจศูนย์การค้า (Retail Properties) และธุรกิจโรงแรม (Hotel Business) ทั้งในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในกลุ่มเอเชีย
มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชียยังมีเอาต์เล็ตในเครือ 9 แห่ง ซึ่งได้ร่วมทุนกัน ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของโลก ซึ่งมีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์รวมกว่า 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเจ้าของโครงการมากกว่า 230 โครงการ ใน 12 ประเทศทั่วโลก และพรีเมียมเอาต์เล็ต 96 แห่งทั่วโลก สำหรับในญี่ปุ่นแห่งที่ดังที่สุดคือ ‘โกเทมบะ’ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ภูเขาไฟฟูจิและกรุงโตเกียว แต่ละปีเฉพาะผู้ที่มาซื้อสินค้ามีกว่า 10 ล้านคน
จุดนี้เองทำให้ CPN ตัดสินใจเลือก ด้วยหวังว่า จะสามารถนำ Know-How และประสบการณ์มาช่วยในการบริหารจัดการเอาต์เล็ต อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ดึงแบรนด์ญี่ปุ่นให้เข้ามา รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นด้วย ซึ่งตั้งเป้าจะเพิ่มอีก 20% อีกทั้งวิธีนี้ยังทำให้ ‘เซ็นทรัล วิลเลจ’ คืนทุนได้เร็วกว่าเดิมที่วางไว้ 7-8 ปี แม้จะแลกด้วยกำไรที่ต้องแบ่งกันก็ตาม ส่วนเงินที่ได้มาจะถูกนำไปใช้ในการบริหารจัดการต่อไป
ปัจจุบันเซ็นทรัล วิลเลจเปิดดำเนินงานเกือบ 100% แล้ว มีจำนวนทราฟฟิกเฉลี่ย 17,000 คนต่อวัน เป็นปกติที่จะน้อยกว่าศูนย์การค้า เพราะคนที่ตั้งใจมาที่นี่จะซื้อสินค้าอย่างเดียว ไม่เหมือนกับศูนย์การค้าที่มาใช้บริการอื่นๆ มียอดซื้อต่อใบเสร็จเฉลี่ยอยู่ที่ 11,000-12,000 บาท โดย 65% ยังเป็นคนไทย ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ ทาง CPN อยากให้เพิ่มส่วนนี้ให้มากขึ้น
ยูทาโร่ โยซูซูกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย มองว่า การร่วมลงทุนในโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการรุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทย ซึ่งศักยภาพประเทศไทยแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เติบโตถือเป็นเบอร์ 1 ของภูมิภาคอาเซียน คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 จะเติบโตได้ประมาณ 4% และเชื่อมั่นใน CPN ที่มีประสบการณ์บริหาร 34 ศูนย์การค้า ทั้งในและต่างประเทศ 1 เอาต์เล็ต 2 โรงแรม และโครงการที่พักอาศัย อีกทั้งยังเป็นบริษัทขนาดใหญ่มี Market Cap 2.8 แสนล้านบาท
เบื้องต้นนอกเหนือจากการเข้ามาให้ Know-How ในการพัฒนาบริการให้กับลูกค้าแล้ว ยังจะช่วยในการออกแบบและเลย์เอาต์เฟส 2 ซึ่งกำลังศึกษาความเหมาะสม โดยจะใช้ที่ดินอีก 30% ที่เหลืออยู่หรือราว 30 ไร่ในการพัฒนา คาดว่า จะมีร้านที่เพิ่มขึ้นอีก 50-60 ร้านค้า โยซูซูกะมองว่า เอาต์เล็ตยังมีทิศทางที่เติบโต เพราะมีเสน่ห์อย่างหนึ่งที่อีคอมเมิร์ซไม่มี คือการที่ลูกค้าสามารถจับต้องสินค้าได้จริงๆ
“การเข้ามาร่วมทุนไม่ได้มองแค่เซ็นทรัล วิลเลจเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการพัฒนาโครงการร่วมกัน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อน แต่ที่กำลังสนใจในขณะนี้คือ โครงการออฟฟิศให้เช่าและศูนย์การค้า แต่ทั้งนี้ จะไม่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกัน เพราะได้จับมือกับ AP อยู่แล้ว”
ปัจจุบัน ‘ญี่ปุ่น’ เป็นนักลงทุนต่างชาติที่มีเข้ามาลงทุนมากติดอันดับท็อป 3 ของไทย และเป็นอันดับ 1 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือเขตเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของไทย ด้วยเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการลงทุนในพื้นที่ EEC ทั้งหมด
สำหรับทิศทางในปีหน้าของ CPN ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีหน้าไม่มีการเปิดโครงการใหม่ แต่จะปรับปรุงและขยายพื้นที่แทน 5-6 โปรเจกต์ ที่ทำไปแล้วคือเชียงรายและชลบุรี ส่วนพระราม 2 กำลังศึกษาการขยายพื้นที่อยู่
“ความท้าทายในขณะนี้คือ ภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ผันผวน ค่าเงินบาทที่แข็งค่า CPN จึงต้องจัดกิจกรรมทางการตลาดเพิ่ม ดึงทราฟฟิกเข้ามาในศูนย์ให้มากขึ้น ส่วนปีหน้ามองเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจากปีนี้ โดยยังไม่เห็นปัจจัยลบที่เข้ามา”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล