กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือว่าชะลอความร้อนแรงลงจากเดือนมิถุนายนที่ขยายตัว 0.9% ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ที่ 5.3% เล็กน้อย และอยู่ในระดับเท่ากันกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อรายเดือนที่โตช้าลงจากเดือนก่อนหน้าสะท้อนถึงการเร่งตัวของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขรายปีจะเห็นว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ ทำให้ยังคงต้องติดตามท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ว่าจะตีความทิศทางของเงินเฟ้อในระยะต่อไปอย่างไร
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เชื่อว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดไปแล้วในเดือนมิถุนายน และทั้งเงินเฟ้อรายเดือนและรายปีน่าจะทยอยลดความร้อนแรงลงในช่วงเดือนต่อจากนี้ หลังจากภาคธุรกิจสามารถจัดการปัญหาซัพพลายเชนถูกดิสรัปต์ ซึ่งทำให้ราคารถยนต์ในตลาดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้แล้ว
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เพิ่งจะประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนกรกฎาคม 2021 ออกมาสูงถึง 943,000 ตำแหน่ง สูงกว่าตลาดคาดการณ์ ที่ 870,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคม 2021 ก็ปรับลดลงมาที่ระดับ 5.4% ดีกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 5.7% สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของสหรัฐฯ จากวิกฤตโควิด
ซึ่งคาดว่าทั้งตัวเลขการจ้างงานและเงินเฟ้อล่าสุดนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในที่ประชุม Jackson Hole ช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งคาดว่า เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณการทำ QE Tapering ออกมาครั้งแรก และประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุม FOMC เดือนกันยายน 2021 โดยตลาดคาดจะเริ่มต้นเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2022 ก่อนที่จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงสิ้นปี 2022 หรือต้นปี 2023
อ้างอิง: