×

CPF เผย Chia Tai Investment ได้รับการพิจารณาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้

28.05.2021
  • LOADING...
CPF

เกิดอะไรขึ้น:

วันนี้ (28 พฤษภาคม) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า CPP HK (ซึ่งถือหุ้น 52% โดย CPF) ประกาศว่า Chia Tai Investment (CTI) ซึ่งถือหุ้น 35% โดย CPP HK และ 18% โดย CPF ได้รับหนังสือจาก China Securities Regulatory Commission แจ้งรับการพิจารณาคำขอจดทะเบียนหลักทรัพย์ของ CTI เรียบร้อยแล้ว โดย CTI ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ เพาะพันธ์ุ เลี้ยง และจำหน่ายสุกร รวมถึงจำหน่ายเนื้อสุกรในสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

ทั้งนี้ การแยกธุรกิจ (Spin-off) ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการนำหุ้นของ CTI จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange) ด้วยการเสนอขายหุ้นใหม่แก่นักลงทุน โดยที่ยังไม่ได้ระบุจำนวนหุ้นที่แน่นอน แต่ในเบื้องต้น CPP HK จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน CTI ลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 30% เมื่อการแยกธุรกิจ (Spin-off) แล้วเสร็จ

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ราคาหุ้น CPF เคลื่อนไหวไม่มากนัก และปิดที่ระดับ 27.25 บาท ลดลง 0.91%DoD ขณะที่ตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลง 0.98 จุด หรือลดลง 0.06%DoD สู่ระดับ 1,581.98 จุด

 

มุมมองระยะสั้น:

ในส่วนของผลประกอบการระยะสั้นของ CTI บริษัทอาจจะได้รับผลกระทบจากราคาสุกรในจีนที่ลดลงในระยะหลังนี้สู่ราว 20 หยวนต่อกิโลกรัม ใน 2Q64TD ลดลง 29% YoY และ QoQ เพราะมีอุปทานเข้าสู่ตลาดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามบริษัทตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการจำหน่ายของฟาร์มสุกรในจีนอีก 30-50%YoY สู่ระดับ 6-7 ล้านตัวต่อปี ในปี 2564 ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ทั้งนี้ การจดทะเบียนหลักทรัพย์ของ CTI ถ้าหากสำเร็จจะช่วยปลดล็อกมูลค่าตลาดใน CTI ให้กับ CPF ขณะที่แนวโน้มกำไร 2Q64 ของ CPF จะลดลง QoQ จากราคาสุกรในจีนและเวียดนามที่ลดลง และส่วนแบ่งกำไรจาก CPALL ที่ลดลง แต่จะเพิ่มขึ้น YoY จากราคาเนื้อสัตว์ในประเทศและกิจการ

 

ทั้งนี้ ต้องติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และรอ China Securities Regulatory Commission อนุมัติกระบวนการจดทะเบียนหลักทรัพย์ของ CTI โดย CPF ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับไทม์ไลน์สำหรับกระบวนการจดทะเบียนหลักทรัพย์ของ CTI

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS คาดว่าราคาสุกรในเวียดนามและจีนปี 2564 จะลดลง YoY แต่ยังสูงกว่าระดับก่อนโรค ASF ระบาด เนื่องจากอุปทานสุกรลดลงอย่างมากหลังจากโรค ASF เริ่มระบาดในเดือนสิงหาคม 2561 ในจีน และเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในเวียดนาม และต้นทุนการลงทุนที่สูงขึ้นจากการนำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพมาใช้เพื่อป้องกันโรค ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการรายเล็กจะต้องใช้เวลาในการทำให้อุปทานสุกรฟื้นตัวกลับมาดังเดิม ทั้งนี้ CPF ตั้งเป้าเพิ่มการผลิตจากฟาร์มสุกรของบริษัทอีก 15%YoY สู่ 7 ล้านตัวต่อปีในเวียดนาม และเพิ่มอีก 30-50%YoY สู่ระดับ 6-7 ล้านตัวต่อปีในจีน ในปี 2564 ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง

 

ขณะที่ราคาสุกรในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น YoY เนื่องจากอุปทานได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค ASF ส่งผลทำให้การค้าชายแดนปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านราคาไก่ในประเทศคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น YoY โดยได้รับการสนับสนุนจากอุปสงค์ที่ค่อยๆ ปรับตัวขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง สำหรับด้านต้นทุน SCBS คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6% จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น แต่จะได้รับการชดเชยบางส่วนจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นของ CPF ผ่านทางการปรับปรุงพันธุ์สุกรและการลดจำนวนวันในการเลี้ยงไก่ลง

 

ทั้งนี้ ต้องติดตามกระแสตอบรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชของ CPF รวมถึงความคืบหน้าของแผนการลงทุนในธุรกิจกัญชง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X