×

CPF เผย ภาษีทรัมป์ไม่กระทบธุรกิจ แต่ห่วงเกษตร-อาหารไทย ฝากรัฐเร่งเจรจา

11.04.2025
  • LOADING...
cpf-trump

หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐฯ ชะลอการขึ้นภาษี เป็นระยะ 90 วัน เพื่อเปิดทางให้หลายๆ ประเทศเข้าไปเจรจา แน่นอนว่าพิษภาษีแค่ชะลอ แต่ยังไม่ได้ยกเลิก แล้วอุตสาหกรรมอาหารไทยจะมีแนวทางตั้งรับอย่างไร 

 

ประสิทธิ์ บุญดวงประสิทธิ์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับรายการ MORNING WEALTH เช้าวันนี้ (11 เมษายน) ว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ มากนัก เนื่องจากได้วางแผนลงทุนระยะยาว ด้วยการสร้างโรงงานผลิตอาหารในสหรัฐฯ แล้วถึง 4 แห่ง

 

โดยใช้วัตถุดิบที่ใช้นำมาในสหรัฐฯ เป็นหลัก เช่น เนื้อไก่และหมู ส่วนเครื่องแกงสำเร็จรูปและ วัตถุดิบบางส่วนยังคงนำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบผสมผสานกัน

 

ถึงอย่างไร CPF ยังคงมีการส่งออกสินค้าอาหารจากไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าอย่าง ‘เกี๊ยวกุ้ง’ ซึ่งได้รับความนิยมสูงและมีมูลค่าการส่งออกเกือบ 1,000 ล้านบาท

 

เมื่อพูดถึงมาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม บางประเภท โดยเฉพาะภาคเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่ไทยพึ่งพาการ ส่งออกเป็นหลัก และจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ในขณะที่สินค้าหมวดเทคโนโลยี ที่ไทยนำเข้า แม้มีมูลค่าสูง แต่สร้างมูลค่าในประเทศเพียง 10-15% เท่านั้น 

 

เพราะฉะนั้นตัวเลขของเกณฑ์ดุลการค้า อาจจะต้องมาวิเคราะห์ให้ละเอียด ว่าเกณฑ์จริงๆ ของไทยอยู่ที่เท่าไรกันแน่ อย่างกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โซลาร์รูฟ สมาร์ทโฟน ที่สร้างมูลค่าให้ประเทศไทยอยู่ที่เท่าไร ถ้าเทียบกับสินค้าอื่นที่นำ เข้ามาต้องทำให้ชัด

 

พร้อมกล่าวต่อไปว่า หลังจากได้ฟังรองนายกรัฐมนตรี มองว่ามีมุมมองและกระบวนการเจรจาที่รอบคอบ และน่าจะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

 

ในขณะที่นโยบายของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังชะลอการขึ้นภาษีออกไปอีก 90 วัน ทำให้เห็นว่าตัวเลขภาษีที่กำหนดไว้น่าจะอยู่ในระดับสูงสุดแล้ว ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ไทยจะเข้าไปเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ โดยควรพิจารณา เจาะลึกถึงสินค้าที่ผู้บริโภคไทยต้องพึ่งพาการนำเข้า เช่น ผลไม้เมืองหนาว ชีส หรือข้าวโพด ซึ่งมีภาษีนำเข้าสูง หากสามารถเจรจาให้ลดภาษีลงได้ ก็จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค

 

สำหรับข้าวโพด ไทยมีความต้องการใช้ปีละประมาณ 9 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือต้องนำเข้า หากเปิดให้นำเข้าได้มากขึ้นก็จะไม่กระทบกับเกษตรกร เพราะไทยมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ได้อีกด้วย

 

ในส่วนของอุตสาหกรรมกุ้ง ยอมรับว่า หากไทยต้องเสียภาษีสูงถึง 36-37% จะเสียเปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเสียภาษี เพียง 10% เท่านั้น ขณะที่เวียดนามต้องเสียภาษีถึง 46% 

 

ทำให้ประเทศเอกวาดอร์กลายเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของอุตสาหกรรมส่งออกกุ้งไทย คือการกระจายตลาดได้ดี โดยสัดส่วน การส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 12% ของปริมาณทั้งหมด

 

สุดท้าย ‘ประธานคณะผู้บริหาร’ เน้นว่า รัฐบาลไทยควรเร่งหาช่องทางการเจรจาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เสียเปรียบในการแข่งขันและรักษาความสามารถของประเทศในการส่งออกสินค้าหลักสู่ตลาดโลก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising