แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี แจ้งผลการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ร่วมกับโรงพยาบาลแก่งคอย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแก่งคอย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกพนักงานโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี (บริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด มหาชน) ซึ่งมีพนักงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 5,800 คน ปัจจุบันดำเนินการตรวจเชิงรุกแล้วจำนวนประมาณ 3,400 ราย ทราบผลการตรวจแล้วจำนวน 765 ราย พบผู้ติดเชื้อจำนวน 245 ราย ทำให้มีพนักงานที่อยู่ระหว่างการรอผลตรวจอีกกว่า 2,600 ราย
สำหรับผู้ที่ตรวจพบเชื้อดังกล่าว ได้นำตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่และจังหวัดสระบุรี พร้อมได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้น ณ ค่ายลูกเสือเจ็ดคต – โป่งก้อนเส้า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 160 ราย ปัจจุบันมีผู้เข้าพักแล้วจำนวน 49 ราย
นอกจากนี้โรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี (บริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทยจำกัด มหาชน) ได้เตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของบริษัท โดยคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 400 ราย
ทั้งนี้บริษัทจะปิดสายการผลิตชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ถึง 3 มิถุนายน 2564 รวม 5 วัน
ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจค้นหาเชิงรุกพนักงานบริษัทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะทราบผลตรวจภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564
ด้าน บริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด มหาชน ชี้แจงกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงแปรรูปเนื้อไก่สระบุรีว่า
โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จังหวัดสระบุรี ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานในระดับสูงสุด และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีพนักงานติดเชื้อจํานวนหนึ่ง โรงงานจึงได้ดำเนินการ ดังนี้
ด้านพนักงาน: ตรวจคัดกรองพนักงานทั้งหมดทุกคน และส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา แยกผู้เสี่ยงสูงเข้ากักตัวในสถานที่ที่สาธารณสุขจัดให้เป็นเวลา 14 วัน พร้อมตรวจยืนยันโรค 2 ครั้ง ส่วนผู้เสี่ยงต่ำให้กักตัวที่บ้านสังเกตอาการตลอดช่วง 14 วันเช่นกัน โดยปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของพนักงาน ทั้งนี้พนักงานผู้ติดเชื้อเป็นผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่ไม่ได้สัมผัสผลิตภัณฑ์อาหารโดยตรง และในขณะปฏิบัติหน้าที่ทุกคนจะสวมชุดฟอร์ม หน้ากากอนามัยและผ้าปิดปากปิดจมูกอย่างมิดชิด ซึ่งช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อลงได้มาก
ด้านสถานที่: ได้หยุดการดำเนินงานในพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อปฏิบัติงานทันทีเป็นเวลา 5 วัน และทําความสะอาด Big Cleaning พร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทันทีตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของโรงงาน และต้องตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการว่าปราศจากเชื้อโรค ตลอดจนเพื่อคัดกรองพนักงานที่มีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบเข้ามาปฏิบัติงาน ด้วยสถานที่ที่ปลอดเชื้อและพนักงานที่ปลอดโรค ทำให้กระบวนการผลิตจะดำเนินต่อได้อย่างปลอดภัย
บริษัทได้ดําเนินการยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยขั้นสูงสุด เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงานและผลิตภัณฑ์ของโรงงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม โรงงานชำแหละเนื้อไก่แห่งนี้เป็นเพียง 1 ใน 19 แห่งของบริษัท ซึ่งทุกแห่งยังคงดำเนินการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ด้วยตระหนักถึงความปลอดภัยของพนักงานและผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเป็นสำคัญ ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัท
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า