เกิดอะไรขึ้น:
ราคาหุ้น บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ปรับตัวลดลง 18% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา Underperform SET อยู่ 8% เนื่องจากตลาดมีความกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับการแข่งขันและการบริโภคที่ชะลอตัวลง แม้ตลาดจะมีความกังวลเกี่ยวกับคู่แข่งรายใหม่ / รายเดิม แต่ยังไม่เห็นผลกระทบเชิงลบที่มีนัยสำคัญต่อยอดขายของ CPALL
นับถึงปัจจุบันประเมินการเติบโตของยอดขายสาขา (SSS Growth) ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (CVS) ของ CPALL ได้ที่อัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำถึงกลาง YoY และ SSS Growth ของ CPAXT ในธุรกิจ B2B ได้ที่อัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำถึงกลาง YoY
และธุรกิจ B2C ได้ที่อัตราเลขตัวเดียวระดับกลาง YoY (เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ระดับทรงตัว YoY เพราะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่เปราะบางสำหรับผู้มีรายได้น้อย และการใช้จ่ายที่ชะลอตัวสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง เพื่อรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่) สนับสนุนจากการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายและการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว
ส่วนกำไร 4Q66 ของ CPALL มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น YoY (แต่คาดว่าจะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล) โดยมีสาเหตุจาก ประการแรก คาดว่ายอดขายในธุรกิจ CVS ของ CPALL จะเติบโต โดยได้รับการสนับสนุนจาก SSS ที่เติบโตเพิ่มขึ้นและการขยายสาขาพร้อมกับอัตรากำไรขั้นต้นที่กว้างขึ้นจาก CPRAM ตามการลดลงของต้นทุนวัตถุดิบ (เช่น ราคาสุกรและไก่เนื้อ) รวมถึงมียอดขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวและกลุ่มอาหารพร้อมทานที่ให้มาร์จิ้นสูงที่เพิ่มขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวและการตัดสินใจซื้อแบบฉับพลันที่เพิ่มขึ้น
ประการที่สอง คาดว่าอัตราค่าใช้จ่าย SG&A / ยอดขายจะลดลงจากฐานค่าใช้จ่ายโบนัสที่มีการจ่ายจริงในระดับสูงใน 4Q65 (มีการบันทึกค่าใช้จ่ายโบนัสล่วงหน้าต่ำใน 9M65 เทียบกับการจัดสรรการบันทึกค่าใช้จ่ายโบนัสล่วงหน้าให้กระจายตัวดีขึ้นใน 9M66) และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง (ซึ่งประเมินได้ว่าค่าไฟฟ้าที่ลดลงในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566, ลดลง 15%YoY และลดลง 15% จากเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566, จะหนุนให้กำไรเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 10%) ประการที่สาม คาดการณ์ส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นจาก CPAXT จากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงหลังจากรีไฟแนนซ์หนี้เสร็จในช่วงปลายเดือนเมษายน
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น CPALL ปรับลง 17.58%MoM สู่ระดับ 52.75 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลง 10.38%MoM สู่ระดับ 1,380.99 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:
InnovestX Research คาดว่ากำไรปี 2567 ของ CPALL จะเติบโต 22%YoY สนับสนุนจากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้นจากธุรกิจ CVS และส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นของ CPAXT ซึ่งหลักๆ เป็นผลจากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงใน 1H67 หลังจากรีไฟแนนซ์หนี้เสร็จ
ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวม Upside ของยอดขายในปี 2567 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ อาทิ โครงการ Digital Wallet (การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งร่าง พ.ร.บ. จะถูกส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาภายในสิ้นปี 2566 จากนั้นจะส่งต่อให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติช่วงต้นปี 2567 โดยหวังว่าจะเริ่มโครงการได้ในเดือนพฤษภาคม 2567) และโครงการ E-Refund (ครม. อนุมัติลดหย่อนภาษีจากการจับจ่ายสินค้าและบริการมูลค่ารวมไม่เกิน 50,000 บาท มีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567)
โดย CPALL มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์รายหลักในกลุ่มพาณิชย์จากโครงการ Digital Wallet เนื่องจากบริษัทมีเครือข่ายร้านค้าครอบคลุมทุกอำเภอในประเทศไทย และเงินจากโครงการนี้จะถูกใช้ในร้านค้าที่ลงทะเบียนในอำเภอที่ผู้ได้รับสิทธิอาศัยอยู่
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ณ ระดับราคาหุ้นปัจจุบันมองว่า ผลตอบแทนเทียบความเสี่ยงมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจาก
- CPALL จะรายงานกำไร 4Q66 เติบโตโดดเด่น YoY เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มพาณิชย์จากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้น รวมทั้งดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงจาก CPAXT นอกจากนี้ประมาณการปี 2567 ยังมี Upside จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะโครงการ Digital Wallet จากเครือข่ายร้านค้า CPALL ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
- ปัจจุบันหุ้น CPALL เทรดที่ P/E ปี 2566 ระดับ 29 เท่า (-1 S.D. จาก P/E เฉลี่ย 10 ปี)
การจัดตั้งกองทุน TESG (SET ESG Rating ของ CPALL อยู่ที่ AAA) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นในระยะสั้น โดยยังคงเรตติ้ง Outperform สำหรับ CPALL ด้วยราคาเป้าหมายกลางปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF (WACC 7.0% และการเติบโตในระยะยาว 2.5%) ที่ 74 บาทต่อหุ้น
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การเปลี่ยนแปลงในกำลังซื้อ ต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และนโยบายรัฐบาลใหม่ ความเสี่ยง ESG ที่สำคัญคือ การบริหารจัดการพลังงานและของเสีย ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (E) ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และแนวปฏิบัติด้านการจ้างงาน (S)