วันนี้ (30 เมษายน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยสำนักยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร ออกแถลงการณ์กรณีมีการพาดพิงชื่อซีพีจากเวทีดีเบตหาเสียง อันทำให้เกิดความเข้าใจผิด
โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ซีพีให้ความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในช่วงที่ผ่านมามีการดีเบตของนักการเมืองเรื่อง ‘ปัดฝุ่น ปัญหาภาคเหนือ’ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงถึงชื่อซีพี โดยมีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
ประเด็นพาดพิง 1: การเผาป่าเป็นวิธีการของนายทุนเพื่อลดต้นทุน
กรณีนี้ซีพียืนยันว่าไม่มีนโยบายลดต้นทุนด้วยวิธีการส่งเสริมการเผาป่า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ 100%
ข้อเท็จจริง 1: ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซีพีมีการทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่และภาคสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยยืนยันได้ว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา ซีพีเป็นผู้นำในการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) มาใช้ 100%
ข้าวโพดทุกเมล็ดของซีพีที่ใช้ในอุตสาหกรรมมาจากพื้นที่ถูกกฎหมาย ไม่มีการเผาป่า ซึ่งมีความโปร่งใส โดยมีความพร้อมและยินดีทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ระบบดังกล่าวเป็นต้นแบบอุตสาหกรรม ซีพีไม่มีนโยบายลดต้นทุนจากการทำลายสิ่งแวดล้อม
ประเด็นพาดพิง 2: นายทุนอาหารสัตว์ไปส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา รับซื้อข้าวโพดมาโดยไม่สนใจว่าเกษตรกรจะเผาหรือไม่
กรณีนี้ซีพียืนยันว่าไม่มีการส่งเสริม และไม่มีการรับซื้อข้าวโพดในพื้นที่ที่มีการเผา 100%
ข้อเท็จจริง 2: ซีพีไม่มีการส่งเสริมเกษตรพันธสัญญาในพื้นที่ผิดกฎหมาย และพื้นที่ที่มีการเผาซังข้าวโพดทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดเป็นนโยบายบริษัทชื่อ ‘ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ’ ซึ่งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ที่ถูกต้อง ไม่บุกรุกป่า ไม่บุกรุกภูเขา และซื้อจากพื้นที่ที่ไม่มีการเผาเท่านั้น
นอกจากนี้ในการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ซีพีมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ และไม่มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรนำข้าวโพดไปปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมายทั้งในและต่างประเทศเช่นเดียวกัน อีกทั้งในต่างประเทศยังมีการใช้ระบบเกษตรแปลงใหญ่ (Smart Farming) ซึ่งไม่มีการเผา แต่ใช้วิธีการไถกลบโดยเครื่องจักรทันสมัย
ซีพีหวังว่าการหาทางออกปัญหาหมอกควัน ไฟป่า จะตั้งอยู่บนข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นความจริง ซีพียืนยันว่าระบบการจัดซื้อตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Sustainable Supply Chain) พื้นที่การเกษตรที่อยู่ใน Supply Chain ของซีพี เป็นพื้นที่ที่ถูกต้อง
ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซีพีพร้อมที่จะให้นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนขยายผลระบบตรวจสอบย้อนกลับ ให้เป็นระบบพื้นฐานของอุตสาหกรรม โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
ทั้งนี้ ซีพีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่หากยังมีการพาดพิงซีพีด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสื่อมเสียต่อองค์กร บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปอย่างถึงที่สุด