เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือเป็นอีกกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชง โดยล่าสุดได้จับมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการทำวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสกัดจากกัญชงเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค
ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชกัญชง ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมี สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และ รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ลงนาม
ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกร ตลอดจนสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้ประชาชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีเอฟ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสกัดกัญชงอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค และนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง ทั้งสายพันธุ์ แหล่งเพาะปลูก และวิธีการปลูก ตอบโจทย์อาหารปลอดภัยสู่ ‘ครัวของโลก’ ได้อย่างยั่งยืน โดยจะทำการวิจัยระบบมาตรฐานในการเพาะปลูก รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่า
รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า ความร่วมมือวิจัยพัฒนาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในวงการการศึกษาของประเทศไทย ด้วยความชำนาญของทั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และความพร้อมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีหน่วยงานด้านพืชครบวงจรเข้ามาร่วมกันพัฒนา ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงาน RD Center ของซีพีเอฟซึ่งมีความพร้อมในการวิจัยพัฒนาอาหาร ช่วยต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าให้ครบถ้วน อันจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับผลผลิตของเกษตรกรด้วย
“มหาวิทยาลัยแม่โจ้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชงและกัญชามาตั้งแต่ปี 2554 และมีความเชี่ยวชาญในการปลูกด้วยวิธีอินทรีย์ ปัจจุบันงานวิจัยพัฒนาพืชกัญชงและกัญชากำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก แต่ไม่มีความร่วมมือใดที่จะครบถ้วนรอบด้านและมีความพร้อมเท่ากับความร่วมมือครั้งนี้ ผมมั่นใจว่าเราจะค้นพบสายพันธุ์ที่ดี มีเทคนิควิธีการปลูกที่ดี และใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนตอบสนองการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างเพียงพอ สร้างประโยชน์ต่อเกษตรกร ต่อผู้บริโภค และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ” รศ.ดร.วีระพล กล่าว
ด้าน ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตอบสนองนโยบายรัฐ และให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นอันดับหนึ่ง โดย CPF RD Center จะสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารที่เติมสารสำคัญจากพืชกัญชง ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงสายพันธุ์และแหล่งเพาะปลูก เพื่อตอบโจทย์สุขภาพและความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภค
“การวิจัยพัฒนาพืชกัญชงเป็นเรื่องท้าทาย ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เมื่อได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เชื่อว่าจะสามารถผลิตพืชกัญชงคุณภาพในปริมาณที่มากพอสำหรับการผลิตอาหารของซีพีเอฟ โดยอาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชงซึ่งเป็นสารที่ดีต่อสุขภาพจะออกสู่ตลาดได้ภายในปีนี้ ขึ้นอยู่กับการประกาศของภาครัฐ” ประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้พืชกัญชงเป็นพืชที่มีคุณค่าของสารสำคัญมากมาย อาทิ CBD ที่งานวิจัยในต่างประเทศพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งระบบประสาทและสมอง ระบบหัวใจ
นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่มเทอร์ปีนที่ช่วยผ่อนคลาย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนเมล็ดของพืชกัญชง มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เป็นแหล่งโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน รวมถึงมีไขมันโอเมก้า 3, 6, 9 ซึ่งดีต่อร่างกาย นอกจากนี้กากเมล็ดกัญชงยังนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้อีกด้วย
ความมหัศจรรย์ของกัญชงคือ เป็นพืชที่ดูดซึมสารอาหารจากดินได้ทั้งหมด ดังนั้นการควบคุมและระบบการจัดการเป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากสายพันธุ์ที่ต้องวิจัยและพัฒนามาอย่างดีเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้ได้กัญชงที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหาร
ความร่วมมือในการวิจัยพัฒนากัญชงอย่างครบวงจรตั้งแต่สายพันธุ์ การเพาะปลูก ไปจนถึงการแปรรูปเป็นอาหารนี้ จะสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรมีสายพันธุ์และเทคนิควิธีดูแลพืชอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการในวิถีอินทรีย์ และนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นอาหารสำเร็จรูป จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศ ตอบโจทย์อาหารสุขภาพ ตอกย้ำวิสัยทัศน์ ‘ครัวของโลก’ ได้อีกทางหนึ่ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า