ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ แนะนำว่า หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด โดยอ้างอิงงานวิจัยฉบับใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่า วัคซีนโควิดไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือเพิ่มโอกาสในการคลอดก่อนกำหนด แต่การติดเชื้อโควิดจะเพิ่มความเสี่ยงรุนแรงต่อตัวหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมไปถึงอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
คำแนะนำดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ CDC ให้การสนับสนุนอย่างชัดเจนต่อการฉีดวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำของวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งอเมริกา (American College of Obstetricians and Gynecologists) และกลุ่มแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ
นอกจากนี้ คำแนะนำของ CDC ยังมีขึ้นท่ามกลางยอดติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทั่วสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา และเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามครั้งใหม่ของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะผลักดันอัตราการฉีดวัคซีนเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัส ทั้งนี้ คาดว่าอย่างเร็วที่สุดในวันพฤหัสบดีนี้ องค์การการอาหารและยา (FDA) จะอนุญาตให้มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แก่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
“CDC ขอเชิญชวนหญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตนเองจากโควิด” ดร.โรเชล วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC กล่าว “วัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในเวลานี้”
ข้อมูลจาก CDC เผยว่า ในสหรัฐอเมริกามีหญิงตั้งครรภ์เพียง 23% เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด ขณะที่มีรายงานว่าพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
การตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในภาวะสุขภาพที่ CDC ระบุว่ามีความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงหากติดเชื้อโควิด โดยหญิงตั้งครรภ์มีแนวโน้มต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU ต้องใช้เครื่องบายพาสหัวใจและปอด และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 70%
การติดโควิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และการตายคลอด (Stillbirth) และหากคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วยเป็นโรคโควิดขั้นรุนแรง ก็จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก นอกจากนี้ การติดโควิดขณะตั้งครรภ์ยังเชื่อมโยงกับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และน้ำหนักแรกคลอดต่ำ และในบางกรณี ไวรัสยังสามารถถ่ายทอดไปยังทารกในครรภ์ได้อีกด้วย
ดร.วาเลนสกียังได้ยกข้อมูลความปลอดภัยใหม่ที่ได้จากการศึกษาหญิงตั้งครรภ์เกือบ 2,500 คนที่ได้รับวัคซีน mRNA ตัวใดตัวหนึ่ง (Moderna หรือ Pfizer/BioNTech) ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งพบว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแท้ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีหญิงตั้งครรภ์จำนวนหนึ่งที่ไม่มั่นใจกับการฉีดวัคซีน “ฉันคิดมากเรื่องการฉีดวัคซีน ฉันรู้สึกว่ามันเป็นความรับผิดชอบมากกว่า” แรเชล คอนเทรราส อายุ 29 ปี กล่าว เธอตั้งครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ และกังวลว่าวัคซีนอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ตาม “ฉันไม่รู้ว่าฉันจะทำอย่างไรถ้าฉันได้รับวัคซีนและมีบางอย่างเกิดขึ้นกับทารก”
ดร.อดัม ยูราโต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ จากฟรามิงแฮม รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาคนไข้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์จำนวนมากไม่เต็มใจที่จะใส่สารแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย และต้องการข้อมูลระยะยาวและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมว่าวัคซีนจะไม่ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
“คำถามหนึ่งที่คนไข้ถามผมอยู่ตลอดคือ ‘เราแน่ใจได้ 100% หรือว่าวัคซีนเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกของฉัน’” เขากล่าว
ซาชา อาร์. เอลลิงตัน นักระบาดวิทยา ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเตรียมความพร้อมฉุกเฉินในแผนกอนามัยการเจริญพันธุ์ของ CDC กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับผลการคลอดนั้นมีอยู่จำกัด เนื่องจากเพิ่งเริ่มมีการฉีดวัคซีนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเท่านั้น
การศึกษามารดา 827 คนที่คลอดบุตรหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน พบว่าอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และผลในทางลบนั้นมีพอ ๆ กับในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
“ในเวลานี้ ประโยชน์ของการฉีดวัคซีน และความเสี่ยงที่เราทราบจากการติดโควิดในระหว่างตั้งครรภ์ มีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงเชิงทฤษฎีใดๆ ของวัคซีน” ดร.เอลลิงตันกล่าว
ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์มักไม่ได้เข้าร่วมการทดลองทางการแพทย์ เช่นเดียวกับการทดลองทางคลินิกของวัคซีนโควิดชนิดต่างๆ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับการให้วัคซีนทั้งสำหรับหญิงตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตร ซึ่ง WHO ระบุว่าไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยสำหรับคนกลุ่มนี้
ภาพ: Gerardo Vieyra / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: