หลายคนวางแผนเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้สูงอายุหลายคนตั้งหน้าตั้งต่อรอลูกหลานกลับมาเยี่ยม เลยอยากให้ช่วยสำรวจญาติผู้ใหญ่ที่บ้านกันสักหน่อยว่าใครยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดบ้าง หรือถ้าใครฉีดครบ 2 เข็มแล้ว เข็มสุดท้ายฉีดครบตั้งแต่เดือนไหน… ถ้าผู้สูงอายุฉีดวัคซีนครบแล้ว และฉีดเข็มสุดท้ายไม่เกิน 3 เดือนก็จะลดความกังวลได้ระดับหนึ่ง เพราะถึงแม้วัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ลดลง แต่ยังป้องกันอาการรุนแรงได้ดี
คำถามที่อาจตามมาหลังจากถามท่านว่าฉีดวัคซีนแล้วหรือยังคือ “ต้องฉีดวัคซีนกี่เข็มถึงจะพอ”
คำตอบแบบรวบรัดคือ ‘2 เข็มไม่พอ ขอ 3 เข็ม (ก่อน)’ เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงตามระยะเวลา และไวรัสก็กลายพันธุ์ตลอดเวลา ทำให้ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น คล้ายกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผู้สูงอายุทุกคนน่าจะเคยฉีดเป็นประจำทุกปี ถ้าเปรียบเทียบเป็นนักกีฬา วัคซีนก็เหมือนคู่ฝึกซ้อม ไม่ว่าการแข่งขันรอบก่อนจะได้เหรียญอะไรมา รอบนี้ก็ต้องฝึกซ้อมเช่นกัน ส่วนที่วงเล็บ ‘ก่อน’ ไว้ก็เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันวัคซีน 3 เข็มถือเป็นขั้นต่ำ และอาจมีความจำเป็นต้องฉีดเข็มถัดไปในอนาคต
ทำไมผู้สูงอายุต้องฉีดวัคซีน
ถึงแม้วัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อได้ลดลง แต่ยังป้องกันอาการรุนแรงได้ดี ตรงไปตรงมาตามข้อมูลในปัจจุบัน ปีที่แล้วหลายท่านอาจเคยได้ยินว่าฉีดวัคซีนแล้วจะป้องกันการติดเชื้อ วัคซีนบางยี่ห้อป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้มากกว่า 90% แต่ไวรัสปีที่แล้วกับปีนี้เป็นคนละสายพันธุ์กัน จากสายพันธุ์อัลฟา เป็นเดลตา และปัจจุบันเป็นโอมิครอน ทำให้อาจเคยได้ยินว่าบางคนฉีดวัคซีน 3 เข็มแล้วก็ยังติดเชื้อ แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว วัคซีนจะช่วย ‘ผ่อนหนักให้เป็นเบา’ ลดอาการรุนแรงได้
สายพันธุ์โอมิครอน ‘รุนแรงลดลง’ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา หลายคนสังเกตว่ายอดผู้ติดเชื้อระลอกนี้มากกว่าระลอกก่อน แต่ยอดผู้เสียชีวิตต่ำกว่า ทั้งนี้ไม่หมายความว่าโอมิครอนจะ ‘ไม่รุนแรง’ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไปและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (1 มกราคม – 31 มีนาคม 2565) ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 3,432 ราย โดย 8 ใน 10 รายเป็นผู้สูงอายุ
เมื่อวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า
- ไม่เคยฉีดวัคซีน 1,589 ราย (59%)
- ฉีดวัคซีน 1 เข็ม 205 ราย (8%)
- ฉีดวัคซีน 2 เข็ม 795 ราย (29%)
- ฉีดวัคซีน 3 เข็ม 112 ราย (4%)
เทียบกับผู้สูงอายุในประเทศ ทุกๆ 1 ล้านคน
- ไม่เคยฉีดวัคซีน จะเสียชีวิต 767 ราย
- ฉีดวัคซีน 1 เข็ม จะเสียชีวิต 366 ราย
- ฉีดวัคซีน 2 เข็ม จะเสียชีวิต 145 ราย
- ฉีดวัคซีน 3 เข็ม จะเสียชีวิต 25 ราย
แสดงว่าความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลดลง 5 เท่าในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และจะลดลงอีกเป็น 31 เท่าในผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน เพราะฉะนั้นยอดผู้เสียชีวิตที่ได้ยินจากข่าวทุกวันสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้สูงอายุถึงต้องฉีดวัคซีน และเมื่อความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลดลง ผู้สูงอายุก็สามารถใกล้ชิดกับลูกหลานในช่วงสงกรานต์นี้ได้มากขึ้น (แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุดต้องสวมหน้ากากอนามัยหรืออยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก)
ทำไม 2 เข็มไม่พอ ต้องขอ 3 เข็ม
วัคซีนป้องกันโรคโควิดต้องฉีด 2 เข็มห่างกันตามระยะเวลาที่กำหนด เรียกว่า ‘การฉีดวัคซีนชุดแรก’ (Primary Series) หรือถือว่า ‘ฉีดวัคซีนครบ’ เช่น Sinovac ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ AstraZeneca ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 8-12 สัปดาห์ Pfizer ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ (ยกเว้น Johnson & Johnson ฉีด 1 เข็ม) ต่อมามีการวิจัยวัคซีนสูตรไขว้ก็ต้องฉีด 2 เข็มเช่นกัน เช่น สูตร Sinovac+AstraZeneca ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ (ปัจจุบันไม่มีสูตรนี้แล้ว) สูตร AstraZeneca+Pfizer ห่างกัน 4-12 สัปดาห์
การฉีดวัคซีนครบป้องกันอาการรุนแรงได้ในระดับสูง และในระยะแรกบางยี่ห้อยังสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการและลดการแพร่เชื้อในครอบครัวได้ เนื่องจากสายพันธุ์ที่ระบาดยังใกล้เคียงกับสายพันธุ์ดั้งเดิมที่นำมาใช้เป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีน แต่เมื่อการระบาดยังคงต่อเนื่องทั่วโลก ไวรัสกลายพันธุ์ตลอดเวลา และภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นลดลงตามระยะเวลา เหมือนการฝึกซ้อมกีฬา ความฟิตของร่างกายที่เคยเตรียมไว้ก็ลดลง จึงต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose)
ข้อมูลจากสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) เปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนต่อไวรัส 2 สายพันธุ์ที่ระบาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 – มกราคม 2565 พบว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์โอมิครอนได้ลดลง โดยที่ 2-4 สัปดาห์หลังฉีดเข็มที่ 2 วัคซีน AstraZeneca ป้องกันเดลตาได้ 82.8% และลดลงเหลือ 48.9% สำหรับโอมิครอน ส่วนวัคซีน Pfizer ป้องกันเดลตาได้ 90.9% และลดลงเหลือ 65.5% สำหรับโอมิครอน
เมื่อติดตามประสิทธิผลของวัคซีนตามระยะเวลาหลังฉีดวัคซีน พบว่า วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม ป้องกันโอมิครอนได้สูงสุดที่ 2-4 สัปดาห์หลังฉีดเข็มที่ 2 จากนั้นจะลดลงเหลือ 28.6% ที่ 3 เดือน จนป้องกันการติดเชื้อไม่ได้หลัง 5 เดือน ส่วนวัคซีน Pfizer 2 เข็ม ป้องกันโอมิครอนได้สูงสุดที่ 2-4 สัปดาห์หลังฉีดเข็มที่ 2 เช่นกัน จากนั้นจะลดลงเหลือ 30.1% ที่ 3 เดือน จนป้องกันการติดเชื้อไม่ได้หลัง 6 เดือน สหราชอาณาจักรจึงแนะนำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มนานเกิน 3 เดือนเข้ารับการฉีดเข็มกระตุ้น
ประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการต่อสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน
หลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มและเข็มกระตุ้น
หลังฉีดเข็มกระตุ้น (ในสหราชอาณาจักรแนะนำวัคซีน Pfizer หรือ Moderna) วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ใกล้เคียงกับช่วงแรกของเข็มที่ 2 และมีแนวโน้มลดลงช้ากว่า โดยกลุ่มที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม และฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer ที่ 2-4 สัปดาห์ ป้องกันได้ 62.4% ส่วนกลุ่มที่ฉีดวัคซีน Pfizer 3 เข็ม (รวมเข็มกระตุ้น) ที่ 2-4 สัปดาห์ ป้องกันได้ 67.2% และเมื่อผ่านไปเกิน 2 เดือนยังป้องกันได้ 45.7% จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม 2 เข็มไม่พอ ต้องขอ 3 เข็ม
ส่วนการป้องกันอาการรุนแรง เมื่อเวลาผ่านไปประสิทธิผลป้องกันการเสียชีวิตก็ลดลงเช่นกัน UKHSA พบว่าที่ 6 เดือนหลังฉีดเข็มที่ 2 วัคซีนป้องกันการเสียชีวิตได้ 59% (ช่วงความเชื่อมั่นเท่ากับ 4-82% หมายความว่าอาจป้องกันการเสียชีวิตได้ต่ำมากจนอาจป้องกันไม่ได้) แต่เมื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะป้องกันการเสียชีวิตได้ 95% (ช่วงความเชื่อมั่น 90-98%) สอดคล้องกับข้อมูลของกรมควบคุมโรคข้างต้นที่สามารถเทียบเป็นประสิทธิผลของวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เท่ากับ 96.7%
ฉีดวัคซีนหลายเข็มเป็นอันตรายหรือไม่
ผู้สูงอายุหลายท่านอาจได้รับการส่งต่อข้อมูลมาว่าการฉีดวัคซีนหลายเข็มจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีต่อร่างกายและเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้าข้างกับไวรัส กรณีนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ของไทย ได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย, สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า
ยัง ‘ไม่มีหลักฐาน’ ยืนยันว่าพบภาวะดังกล่าว และยัง ‘ไม่มีข้อมูล’ ที่แสดงว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน เมื่อป่วยเป็นโควิดมีการอักเสบของอวัยวะต่างๆ มากกว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน แต่ ‘มีข้อมูล’ ว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนช่วยลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งลดการเกิดอาการภายหลังโควิด (Long COVID) ด้วย ส่วนวัคซีนรุ่นใหม่ต่อสายพันธุ์โอมิครอนยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย จึงยังไม่แน่นอนว่าจะสามารถผลิตใช้โดยทั่วไปเมื่อใด จึงยังคงต้องกระตุ้นด้วยวัคซีนที่ผลิตสำหรับสายพันธุ์ดั้งเดิมไปก่อนในปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลทั้งหมด กล่าวโดยสรุปคือ ‘ผู้เสียชีวิต’ จากโควิดระลอกโอมิครอนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ‘ประสิทธิผลของวัคซีน’ ลดลงเนื่องจากไวรัสกลายพันธุ์ในขณะที่การระบาดยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงตามระยะเวลา ‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’ ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากกว่า 30 เท่า หรือคิดเป็นประสิทธิผลมากกว่า 95% ดังนั้นหากญาติผู้ใหญ่ที่บ้านยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือน ควรติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อพาท่านไปฉีดวัคซีนกันครับ
อ้างอิง:
- สไลด์ประกอบการแถลงข่าววันที่ 5 เมษายน 2565 https://www.facebook.com/100064357584890/posts/347100577445192/
- Covid-19 Vaccine Effectiveness against the Omicron (B.1.1.529) Variant https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2119451
- COVID-19 vaccine surveillance report: Week 14 (7 April 2022) https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/1067158/vaccine-surveillance-report-week-14.pdf
- ประกาศร่วม 5 องค์กรวิชาชีพสนับสนุนการรับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น https://www.facebook.com/172325932892273/posts/3758537664271064/ และ https://www.facebook.com/172325932892273/posts/3762931600498337/