1. สถานการณ์โควิดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มมีแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม ผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์ แต่ละจังหวัดมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่วันละ 400-700 ราย โดย ศบค. รายงานว่า ในวันที่ 11 ตุลาคม ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,185 ราย ถือเป็นสัดส่วน 20% ของตัวเลขทั้งประเทศ ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลมีผู้ป่วยรายใหม่ 2,122 ราย อยู่ในสัดส่วน 19%
2. หากรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อในรอบ 7 วันที่ผ่านมา คือวันที่ 6 ตุลาคม – 12 ตุลาคม
- ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรวม 3,135 ราย
- ยะลา มีผู้ติดเชื้อรวม 4,607 ราย
- นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรวม 3,273 ราย
- สงขลา มีผู้ติดเชื้อรวม 3,782 ราย
3. ขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรในจังหวัด ณ วันที่ 11 ตุลาคม มีดังนี้
- ปัตตานี: เข็ม 1 จำนวน 277,664 โดส ครอบคลุม 37.37% เข็ม 2 จำนวน 161,840 โดส ครอบคลุม 21.78%
- ยะลา: เข็ม 1 จำนวน 271,349 โดส ครอบคลุม 49.52% เข็ม 2 จำนวน 168,954 โดส ครอบคลุม 30.83%
- นราธิวาส: เข็ม 1 จำนวน 283,902 โดส ครอบคลุม 35.52% เข็ม 2 จำนวน 189,575 โดส ครอบคลุม 23.54%
- สงขลา: เข็ม 1 จำนวน 687,439 โดส ครอบคลุม 46.22% เข็ม 2 จำนวน 468,176 โดส ครอบคลุม 31.48%
4. สำหรับสาเหตุการระบาดและตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ว่า การติดเชื้อในพื้นที่ยังเป็นลักษณะเดิม คือการติดเชื้อในบ้านและชุมชน ไม่ได้มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคน เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยงในชุมชน เป็นต้น และมีการระบาดของโควิดทั้ง 3 สายพันธุ์คือ อัลฟา เดลตา และเบตา ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแพร่ระบาดค่อนข้างมากของโควิดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้นั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา
5. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ระบุว่า ปรากกฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้เหมือนที่เกิดขึ้นใน กทม. เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา โดยสภาพชุมชนของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใกล้เคียงกับชุมชนแออัดใน กทม. บ้านเรือนจะค่อนข้างหลังเล็กและใกล้ชิดกัน และคนที่อยู่ในบ้านหลังหน่ึงก็จะอาศัยอยู่กันหลายคนและหลายช่วงอายุ ถือเป็นการระบาดในชุมชน
และกรณีการฉีดวัคซีนในพื้นที่ ซึ่งมีบางพื้นที่หรือบางอำเภอที่มีอัตราการฉีดค่อนข้างน้อย เนื่องจากคนกลัววัคซีนบ้าง หรือกังวลว่าจะได้วัคซีนที่ไม่ดี โดยประเด็นเรื่องอัตราการฉีดวัคซีนน้อยนั้นเกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่นราธิวาส แต่ในบางพื้นที่วัคซีนกลับไม่พอหรือมีน้อยกว่าความต้องการ โดยเฉพาะที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แม้แต่วัคซีน Sinovac เองก็น้อย ยังไม่ได้รวมถึงวัคซีนอื่นๆ เช่น AstraZeneca ที่น้อยมาก
6. นพ.อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า สถานการณ์ของการแพร่ระบาดในขณะนี้ หลักๆ น่าจะมาจากมาตรการการผ่อนคลายมาตรการของ ศบค. ทำให้ภาพรวมของจังหวัดที่มีการระบาดถูกผ่อนคลายไปด้วย
7. สำหรับแนวทางการรับมือ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ นพ.เกียรติภูมิ พร้อมคณะ ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ ทั้งนี้ตั้งเป้าให้ควบคุมการระบาดภายใน 1-2 เดือน คาดว่าจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อร้อยละ 10 ต่อสัปดาห์ พร้อมให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปในพื้นที่แล้ว ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ 1 ล้านเม็ด, ชุดตรวจ ATK 20,000 ชุด, Oxygen Concentrator 100 เครื่อง, วัคซีน AstraZeneca 25,000 โดส, วัคซีน Pfizer 100,000 โดส
8. นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ระบุถึงการฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ได้ประมาณ 1.5 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 42.4 จากประชากรเป้าหมาย 3.5 ล้านกว่าคน โดยตั้งเป้าหมายฉีดให้ได้ร้อยละ 70 ภายในเดือนตุลาคมนี้ และจะจัดส่งวัคซีน Pfizer ให้เนื่องจากมีการระบาดทั้ง 3 สายพันธุ์ โดยล่าสุดในหลายพื้นที่ของ 4 จังหวัดชายแดนใต้เริ่มมีการเปิดให้ฉีด Pfizer สำหรับประชาชนทั่วไปที่อายุมากกว่า 12 ปี ซึ่งนับเป็นพื้นที่แรกที่ได้ฉีด Pfizer นอกเหนือจากกกลุ่มนักเรียน
9. วันที่ 12 ตุลาคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ลงนามในคำสั่งให้บุคลากรทางการแพทย์และทีมบุคลากรทางการแพทย์จากส่วนกลางไปปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิดในจังหวัดปัตตานี โดยจะมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ของกรมการแพทย์ลงพื้นที่ไปตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ในชุดแรก จำนวน 18 ราย เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในจังหวัดปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง
10. สำหรับจังหวัดปัตตานียังได้มีการเตรียมพิจารณามาตรการเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องของมาตรการในร้านอาหาร ซึ่งอาจจะจะต้องให้ทางร้านต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม รวมถึงผู้ที่นั่งในร้านก็ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเช่นเดียวกัน ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบ 2 เข็ม ต้องซื้ออาหารนำกลับไปทานที่บ้าน
ส่วนมาตรการในเรื่องตลาด ชัดเจนว่าต้องมีการกำหนดจำนวนแม่ค้า และแม่ค้าต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม การเว้นระยะห่าง ความสะอาดในตลาด เพราะในตอนนี้พบว่าแหล่งชุมชนและพื้นที่ทีมีการแออัดของประชาชนเป็นพื้นที่ของการแพร่ระบาด
11. ส่วนเรื่องฉีดวัคซีน พื้นที่จังหวัดปัตตานีมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมไปแล้ว 37% ทางกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่าอย่างน้อยทางจังหวัดปัตตานี ต้องฉีดครอบคลุม 50% ภายในสัปดาห์นี้ จึงได้ดำเนินการฉีดและกระตุ้นการฉีด ส่วนสถานการณ์ของโรงพยาบาลสนามในขณะนี้ ทางจังหวัดได้จัดเตรียมไว้กว่า 4,000 เตียง แต่เต็มเกือบหมดแล้ว จึงพยายามเปิด Community Isolation (CI) ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 1,300 เตียง อย่างน้อยต้องเพิ่มให้ได้ 10,000 เตียง ถึงจะเพียงพอต่อการระบาดในขณะนี้ เพราะแนวโน้มภายในสัปดาห์นี้อาจจะจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
12. นอกจากนี้ในวันที่ 14 ตุลาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่จะพิจารณามาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาการระบาดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่ง พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า จะต้องมีมาตรการออกมาเพื่อแก้ปัญหาให้สถานการณ์ดีขึ้น
อ้างอิง:
- https://thestandard.co/moph-yala-not-yet-found-a-large-cluster/
- https://thestandard.co/covid-in-4-southern-border-provinces-spreading-in-communities/
- https://thestandard.co/covid-epidemic-in-4-southern-border-provinces/
- https://thestandard.co/covid-in-4-southern-border/
- https://thestandard.co/target-4-southern-border-provinces-vaccinate-up-to-70percent/
- https://thestandard.co/measures-to-solve-the-covid-crisis-in-4-southern-border-provinces/