×

หมอสุภัทรชี้โควิดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ระบาดในชุมชนเหมือน กทม. เหตุวัคซีนไม่พอ-ต้องเร่งฉีดเพื่อหยุดการระบาด

โดย THE STANDARD TEAM
05.10.2021
  • LOADING...

วันนี้ (5 ตุลาคม) นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าปรากกฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้เหมือนที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา 

 

นพ.สุภัทรกล่าวว่า โดยสภาพชุมชนของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใกล้เคียงกับชุมชนแออัดใน กทม. บ้านเรือนจะค่อนข้างหลังเล็กและใกล้ชิดกัน และคนที่อยู่ในบ้านหลังหน่ึงก็จะอาศัยอยู่กันหลายคนและหลายช่วงอายุ ถือเป็นการระบาดในชุมชน

 

“1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจะนะตอนนี้เป็นเด็ก ซึ่งอาการไม่มากตามทฤษฎี เพียงแต่เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีการแพร่โรค ซึ่งเราพบว่าบางครอบครัวผู้ใหญ่ดูแลตัวเองดีมาก ไม่ยุ่งกับใคร แต่ติดจากลูกเพราะลูกไปเล่นกับเพื่อนบ้าน และนำเชื้อมาสู่ครอบครัว” นพ.สุภัทรกล่าว

 

นพ.สุภัทรยังระบุถึงกรณีการฉีดวัคซีนในพื้นที่ 4 จังหวัด ซึ่งมีบางพื้นที่หรือบางอำเภอที่มีอัตราการฉีดค่อนข้างน้อย เนื่องจากคนกลัววัคซีนบ้าง หรือกังวลว่าจะได้วัคซีนที่ไม่ดี ประเด็นที่กล่าวกันอัตราการฉีดวัคซีนน้อยนั้นเกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่นราธิวาส แต่ในบางพื้นที่วัคซีนกลับไม่พอหรือมีน้อยกว่าความต้องการ โดยเฉพาะที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ก็มาน้อย โดยเฉพาะ Sinovac เองก็น้อย ยังไม่ได้รวมถึงวัคซีนอื่นๆ เช่น AstraZeneca ที่น้อยมาก

 

“ประโยคนี้เป็นประโยคคลาสสิคมาก ตุลาคมเราจะมีวัคซีนเต็มแขน เราจะฉีดกันเมื่อยมือ ผู้ใหญ่ก็แถลงเยอะ ในความเป็นจริงยังต้องถมและต้องเทมายังพื้นที่ 4 จังหวัด เหมือนที่เทในพื้นที่ กทม.” นพ.สุภัทรกล่าว

 

นพ.สุภัทรยังได้กล่าวถึงโมเดลการแก้ปัญหาการระบาดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือการเอาวัคซีนลงมา ซึ่งในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีประชากรได้วัคซีนเพียง 42% หากได้วัคซีนถึง 70% ก็คาดการณ์ว่าเป็นตัวเลขทางจิตวิทยาที่น่าสนใจ แม้ว่าการระบาดของเดลตาถึงจะมีการฉีด 70% ก็ยังเอาไม่อยู่

 

“ปัญหาของเราคือเราไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับในพื้นที่ เราก็รับอย่างเดียว Swab เยอะๆ จับมานอนโรงพยาบาล ปัจจุบันแพทย์จะเน้นนอนโรงพยาบาลสนาม เพราะเรารู้ว่านอนบ้านก็ติดคนในครอบครัวอีก เพราะเป็นครอบครัวขยาย” นพ.สุภัทรกล่าว

 

นพ.สุภัทรกล่าวทิ้งท้ายว่า วัคซีนที่อยากได้คือประมาณ 5 แสนโดสขึ้นไป ในพื้นที่มีประมาณ 60 โรงพยาบาล ถ้าโรงพยาบาลละหมื่นโดสอย่างน้อยก็ต้อง 6 แสนโดส เพื่อที่จะฉีดให้ได้ภายในเดือนตุลาคม ก็คิดว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ภายในเดือนพฤศจิกายน แต่ถ้าไม่ได้วัคซีนก็ลำบากแน่นอน ต้องยอมรับสถานการณ์ต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising