×

นักธุรกิจไทยห่วงวิกฤตโควิดกระทบคนวงกว้าง กำลังซื้อเข้าขั้นวิกฤตหนักกว่า ‘ต้มยำกุ้ง’ และยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด

02.07.2021
  • LOADING...
นักธุรกิจไทย

วันนี้ (2 กรกฎาคม) เมื่อ 24 ปีที่แล้ว เป็นวันที่ประเทศไทยเริ่มต้นเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ภาคเอกชนที่มีหนี้สินในรูปเงินตราต่างประเทศมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวตามเงินบาทที่อ่อนค่าลง แต่วิกฤตคราวนั้นผู้ได้รับความเดือดร้อนส่วนใหญ่คือนักธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจความเห็นจากนักธุรกิจที่ผ่านร้อนหนาวจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 โดยทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจากวิกฤตในครั้งนี้ไม่ได้ย่ำแย่เท่ากับตอนปี 2540 แต่ในเชิงผลกระทบแล้วถือว่าสาหัสกว่ามาก เพราะเกี่ยวข้องกับผู้คนวงกว้าง ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งมีการจ้างงานจำนวนมาก เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบจึงมีแรงงานไม่น้อยที่ตกงาน ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อ และที่สำคัญยังไม่รู้ว่าวิกฤตรอบนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

 

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง

 

เจ้าของวลี ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ ย้ำรอบนี้หนักกว่าต้มยำกุ้ง กำลังซื้อเข้าขั้นวิกฤต

 

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง นักธุรกิจเจ้าของวลีโด่งดังในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ ซึ่งกิจการของเขาต้องพังลงในปี 2540 กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สถานการณ์ในปัจจุบันหนักกว่าช่วงต้มยำกุ้งอีก ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจไทยรอบนี้คือกำลังซื้อแท้จริงที่ฟุบลง เงินเยียวยาไม่ถึงตัวผู้ต้องการความช่วยเหลือที่แท้จริง

 

เขากล่าวว่าวิกฤตรอบที่แล้ว (ต้มยำกุ้ง) เกิดจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่ลอยตัวแบบกะทันหัน ทำให้หนี้ที่มีอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว แต่ผู้ได้รับความเสียหายคราวนั้นส่วนใหญ่เป็นเศรษฐีและนักธุรกิจ แต่ก็ยังพอจะทำงานสร้างรายได้กลับมาได้ จนมีคนพูดกันว่าล้มบนฟูก

 

นอกจากนี้ในช่วงเวลานั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 6-7% ทำให้ผู้เกษียณอายุและผู้มีรายรับเป็นดอกเบี้ยเงินฝากยังมีรายได้พอใช้จ่าย ดังนั้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งกำลังซื้อจึงไม่ได้ย่ำแย่นัก

 

ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบันกำลังซื้อที่แท้จริงอยู่ในขั้นวิกฤตมาก ทุกภาคธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบจากโควิดและมีแรงงานบางส่วนต้องหายไปจากระบบเพราะภาคธุรกิจปิดตัว บางแห่งลดการจ้างงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายรับของประชาชน กดดันต่อกำลังซื้อที่แท้จริงในที่สุด

 

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อต่างๆ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับศักยภาพในการหาเงินมาชำระหนี้ของภาคประชาชน

 

“ถ้าเทียบระดับอัตราดอกเบี้ยของช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งและช่วงนี้ แม้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ตอนนี้จะต่ำกว่าแต่ดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำไปด้วย โดยอยู่แค่เพียง 0.5-1% คนไม่สามารถคาดหวังรายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากได้เลย ก็ซ้ำเติมกำลังซื้อที่แท้จริงอีกว่าแทบไม่มีแล้ว”

 

สวัสดิ์กล่าวว่า ทางรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจไทยที่สามารถทำได้ในช่วงโควิดคือการแก้ไขระบบสวัสดิการรัฐ โดยเฉพาะการปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นจริงมากขึ้นและเป็นข้อมูลที่อัปเดตมากขึ้น เพื่อจะช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริงได้ตรงจุด

 

“ปัญหาที่เห็นชัดมากในช่วงโควิดคือรัฐบาลแจกเงินแต่คนไทยได้รับเงินไม่ทั่วถึง ทำให้การเยียวยาไม่ตรงจุด การขอเงินกู้ของภาคธุรกิจขนาดเล็กก็เจอกับปัญหานี้เหมือนกันเพราะฐานข้อมูลไม่ครบ หากรัฐสามารถทำให้ข้อมูลรายรับของภาคประชาชนเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันหมดได้ ไม่ว่าคนที่ถึงเกณฑ์เสียภาษีหรือไม่เสียภาษี ทั้งพ่อค้าหาบเร่แผงลอย เด็กจบใหม่เพิ่งหางานทำก็ควรจะมีข้อมูลไว้เพื่อแทร็กได้ เมื่อเกิดวิกฤตที่ต้องเยียวยาคนจำนวนมากรัฐก็รู้ได้เลยว่าความช่วยเหลือควรไปที่ไหนก่อนและหลัง”

 

โดยมองว่าหากรัฐบาลสามารถบริหารจัดการและสร้างศูนย์ข้อมูลที่เท่าทันสถานการณ์ได้ในระยะยาว รัฐก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มเช่นเดียวกัน

 

ปัจจุบัน สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ดำเนินธุรกิจท่าเรือน้ำลึกที่ศรีราชา และอยู่ระหว่างพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมที่เกาะล้าน ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการเนื่องจากเจอปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์ Smart City ที่ EEC ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลก่อน 

 


 

สุพันธุ์ มงคลสุธี

 

สภาอุตฯ ตอกภาครัฐ ต้นเหตุวิกฤตรอบนี้คือวัคซีนที่ล่าช้า

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า วิกฤตต้มยำกุ้งกับวิกฤตโควิดในปัจจุบันมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะต้มยำกุ้งเป็นภาวะฟองสบู่แตก เกิดจากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศโดยไม่ประเมินความเสี่ยง ซึ่งในท้ายที่สุดสถาบันการเงินทั้งธนาคารและไฟแนนซ์หลายแห่งต้องปิดตัวไป ผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทในเวลาอันรวดเร็วก็ล้มละลายหายไป แต่เวลานี้คนที่เดือดร้อนคือคนตัวเล็กตัวน้อย ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอีและซัพพลายเชนของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ยังแข็งแกร่งและได้เปรียบจากดอกเบี้ยที่ถูกลงด้วยซ้ำ

 

“เราเคยได้บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้วว่าทุกปัญหาต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุ เมื่อสถาบันการเงินคือต้นเหตุของปัญหา เราก็ออกกฎมาควบคุมจนปัจจุบันสถาบันการเงินเราคุมความเสี่ยงได้ดีมาก ต้นเหตุของวิกฤตโควิดตอนนี้คือวัคซีนที่ล่าช้า ภาครัฐควรมองต้นเหตุให้ถูก การไปชดเชยเยียวยาต่างๆ นั้นล้วนเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ตราบใดที่คนยังเข้าถึงวัคซีนยาก เราก็จะไม่สามารถออกจากวิกฤตนี้ได้ ภาคเอกชนเราพูดไปหลายครั้งแล้วว่าอยากให้ผ่อนคลาย ให้เอกชนมีส่วนร่วมนำเข้าวัคซีนทางเลือกและเวลาออกนโยบายที่มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมใดก็ควรให้ตัวแทนของภาคนั้นๆ เข้าร่วมประชุมรับฟังและระดมสมองด้วย” ประธาน สอท. กล่าว

 


 

ฐากร ปิยะพันธ์

 

วิกฤตโควิดสาหัสกว่าต้มยำกุ้ง เพราะกระทบคนวงกว้าง

 

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากเปรียบเทียบวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 กับวิกฤตโควิดในปัจจุบันจะเห็นความแตกต่างกันอยู่ทั้งในแง่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและขนาดความเสียหาย เพราะวิกฤตต้มยำกุ้งนั้นผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ คือสถาบันการเงิน บริษัทขนาดใหญ่ และเจ้าของกิจการที่มีเงินกู้ต่างประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือกระทบคนข้างบนเป็นหลัก แต่เมื่อมองกลับมาที่วิกฤตโควิดจะเห็นว่าคนที่ถูกกระทบรุนแรงนั้นคือคนข้างล่าง ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ค้ารายย่อย แรงงาน และขณะนี้ก็เริ่มเห็นผลกระทบกับธุรกิจขนาดใหญ่บ้างแล้วเช่นกัน

 

“วิกฤตโควิดมันกระทบไปหมด ทั้งระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ ความมั่นคง สาหัสกว่าต้มยำกุ้งเพราะผลกระทบมีฐานกว้างกว่าและจนถึงตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด” ฐากรกล่าว

 

อย่างไรก็ดี ฐากรระบุว่าในทุกวิกฤตย่อมนำมาซึ่งโอกาส อย่างเช่นในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งก็เกิดกฎระเบียบทางการเงินต่างๆ ขึ้นมามากมายเพื่อดูแลความเสี่ยงไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อวิกฤตโควิดสิ้นสุดลง ประเทศไทยก็จะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อให้เราสามารถรับมือกับวิกฤตในครั้งต่อๆ ไปได้ดีขึ้น

 


 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร

 

‘วัคซีน’ จะเป็นยาช่วยไทยหลุดพ้นวิกฤตได้เร็วขึ้น

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า วิกฤตรอบนี้ต่างกับเมื่อปี 2540 โดยสิ้นเชิงทั้งในแง่ต้นเหตุและผลกระทบ เมื่อครั้งปี 2540 มีต้นเหตุสำคัญจากการกู้หนี้ยืมสินจำนวนมาก ดูได้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับ 6-7% ของ GDP จนเกิดฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ เมื่อฟองสบู่แตกทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก สถาบันการเงินล้มละลาย ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มทุนมหาศาล บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องปิดตัวลงเกือบหมด และหลายธุรกิจต้องล้มลง

 

ส่วนวิกฤตโควิด เรามีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมากจากการผ่านทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2540) และวิกฤตซับไพรม์ (ปี 2551) ปัจจุบันหนี้สาธารณะค่อนข้างต่ำ เงินคงคลังสูง และสถาบันการเงินแข็งแรงมาก ขณะเดียวกันวิกฤตครั้งนี้เกิดจากเชื้อโรคและไม่ได้มีฟองสบู่ขนาดใหญ่อยู่ในระบบ

 

แต่สิ่งที่ต่างกันชัดเจนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้คือ SMEs และรายย่อย ขณะที่วิกฤตปี 2540 ธุรกิจใหญ่ได้รับผลกระทบ ทำให้การฟื้นตัวในรอบก่อนนี้ใช้เวลานานถึง 5-6 ปี

 

“วิกฤตปี 40 ใช้เวลา 5-6 ปี กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้ ตลาดหุ้นก็เช่นกันใช้เวลานานมากกว่าจะกลับมาที่เดิม แต่รอบนี้บริษัทใหญ่ได้รับผลกระทบน้อยมากและแทบไม่มีใครล้ม ธนาคารก็แข็งแรง ในขณะที่ SMEs และรายย่อย ซึ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากได้รับผลกระทบหนักกว่า โดยรวมจึงเชื่อว่าการฟื้นตัวในครั้งนี้จะเกิดขึ้นเร็ว ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยแต่เป็นเหมือนกันทั่วโลก”

 

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายอยู่มาก วัคซีนเป็นเหมือนยาที่จะช่วยให้หลุดจากวิกฤตได้เร็ว แต่ในระหว่างที่รอการกระจายวัคซีนต้องคิดว่าจะทำยังไงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาดีกว่าเดิม เพราะเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดโควิด 

 

เมื่อปี 2562 ซึ่งยังไม่มีโควิด นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยถึง 40 ล้านคน แต่ GDP โตได้แค่ 2% ขณะที่ในอาเซียนโตได้ 5-6% เพราะฉะนั้นจะเห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวมาตลอด ขณะที่ปีหน้า ธปท. คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 10 ล้านคน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจำเป็นจะต้องดูภาพระยะยาว ต้องศึกษาอดีตว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น เหตุใดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยถึงอ่อนลงต่อเนื่อง

 

“วัคซีนคือคำตอบในระยะสั้น แต่วัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษให้เศรษฐกิจไทยกลับมารุ่งเรือง เพราะเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการชะลอตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว”

 


 

ชลัช ชินธรรมมิตร์

 

วิกฤตต้มยำกุ้งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ แต่รอบนี้มาจากธรรมชาติ และไม่รู้จะจบแบบใด

 

ชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น หรือ KSL ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย รวมทั้งผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง เช่น ไฟฟ้า เอทานอล และปุ๋ยอินทรีย์ กล่าวว่า ความต่างระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กับปัจจุบันคือสาเหตุที่มาของปัญหา โดยวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้นจากปัญหาที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นจากการใช้เงินผิดประเภท การกู้เงินมากเกินไป การผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราที่ไม่ปกติ

 

เมื่อเกิดความไม่บาลานซ์ขึ้นจึงพังลงมา แต่วิกฤตต้มยำกุ้งสามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ คนที่มีหนี้เพิ่มขึ้นสามารถรู้ได้ว่ามูลหนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าไรและสามารถหาแผนบริหารจัดการวิกฤตทางการเงินได้ มีวิธีแก้ไขหลายทางเลือกขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกเครื่องมือทางการเงินประเภทใด

 

ขณะที่วิกฤตการณ์รอบนี้เกิดจากธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ย่ำแย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้งคือสภาวการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก และไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดคือเมื่อไรและจะจบในสถานการณ์แบบใด

 

โดยประเมินว่าสภาพสังคมและเศรษฐกิจหลังโควิดอาจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงก็เป็นได้ และอาจจะมีระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นก็เป็นได้

 

ในเรื่องการรับมือวิกฤตการณ์ครั้งนี้ KSL ยังดูแลพนักงานทั้งในสำนักงานใหญ่และโรงงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามในแง่ผลกระทบต่อธุรกิจนั้นไม่มากนัก จะมีเพียงปัญหาแรงงานต่างด้าวที่รับจ้างตัดอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยในเครือข่ายพันธมิตรของ KSL ที่อาจมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่วนในโรงงานของ KSL ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X