×

ฉีดวัคซีน Sinovac เสี่ยงโควิดรุนแรงมากกว่า Pfizer 5 เท่าจริงหรือไม่ สิงคโปร์ศึกษาอย่างไร

17.04.2022
  • LOADING...
วัคซีน Sinovac

ในจำนวนวัคซีนที่ได้รับครบ 2 เข็มเท่ากัน ผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 2.4 เท่า และมีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง 4.6 เท่าของผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer ข้อมูลนี้เป็น ‘ข่าวจริง’ โดยเป็นงานวิจัยของสิงคโปร์ในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านโรคติดเชื้อ Clinical Infectious Disease เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีน Moderna มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการป่วยรุนแรงน้อยกว่า 0.8 เท่า และ 0.4 เท่า 

 

งานวิจัยนี้น่าเชื่อถือหรือไม่ คณะผู้วิจัยศึกษาอย่างไร ผลการวิจัยเหมือนหรือแตกต่างจากผลการศึกษาเบื้องต้นในประเทศไทย

 

‘ที่มา’ งานวิจัยของสิงคโปร์

 

งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนชนิด mRNA และชนิดเชื้อตายต่อการติดเชื้อโควิดและอาการรุนแรงในสิงคโปร์ (Comparative Effectiveness of mRNA and Inactivated Whole Virus Vaccines against COVID-19 Infection and Severe Disease in Singapore) คณะผู้วิจัยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์โรคติดเชื้อแห่งชาติสิงคโปร์ (NCID) โดยศึกษาทั้งวัคซีน Moderna, Sinovac และ Sinopharm เทียบกับวัคซีน Pfizer 

 

วัคซีนเป็นยุทธศาสตร์หลักในการลดการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคโควิด สิงคโปร์ดำเนินโครงการฉีดวัคซีนระดับชาติ (National Vaccination Program: NVP) ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ด้วยวัคซีน Pfizer ต่อมาได้อนุมัติวัคซีน Moderna และ Sinovac เข้ามาในโครงการเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และ 23 ตุลาคม 2564 ส่วนวัคซีน Sinopharm ประชาชนสามารถฉีดได้ที่โรงพยาบาลเอกชน จนถึงปัจจุบันประชาชนอายุ 12 ปีขึ้นไปในสิงคโปร์ 96% ได้รับวัคซีนครบอย่างน้อย 2 เข็ม

 

ถึงแม้งานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้าจะพบว่าวัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิผลสูงกว่าชนิดที่ไม่ใช่ mRNA แต่ยังมีงานวิจัยน้อยชิ้นที่เปรียบเทียบระหว่างชนิดวัคซีนที่หลากหลาย งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ และการป่วยรุนแรงของวัคซีน 2 ชนิด (4 ยี่ห้อที่ฉีดในสิงคโปร์) ในกลุ่มประชากรเดียวกัน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการป้องกันการติดเชื้อและลดภาระต่อระบบสาธารณสุข

 

‘ที่เป็น’ งานวิจัยของสิงคโปร์

 

คณะผู้วิจัยศึกษาอัตราการติดเชื้อและการป่วยรุนแรง (อุบัติการณ์) ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 21 พฤศจิกายน 2564 โดยคัดกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ/ได้รับเข็มกระตุ้น/เคยติดเชื้อมาก่อนออกจากการวิเคราะห์ รวมถึงกำหนดระยะเวลาว่าจะต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ระหว่าง 2 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงไม่เกิน 3 เดือน เพราะเป็นระยะที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อวัคซีน และเพื่อให้ไม่มีปัจจัยการลดลงของภูมิคุ้มกัน (Immunity Waning) เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

จากประชากรที่ศึกษา 2,709,899 คน แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีน Pfizer 74% วัคซีน Moderna 23% วัคซีน Sinovac 2% และ Sinopharm 1% และมีผู้ติดเชื้อ 107,220 ราย (4.0%) ซึ่งยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR และผู้ป่วยอาการรุนแรง 644 ราย (0.6% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด) เมื่อเปรียบเทียบอัตราการติดเชื้อกับผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer พบว่า

  • ผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac มีความเสี่ยงเป็น 2.4 เท่า
  • ผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinopharm มีความเสี่ยงเป็น 1.6 เท่า
  • ผู้ที่ฉีดวัคซีน Moderna มีความเสี่ยงเป็น 0.8 เท่า

 

หมายความว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer คิดเป็น 2.4 เท่าหรือมากกว่า 140% ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีน Moderna มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer คิดเป็น 0.8 เท่า หรือน้อยกว่า 20%

 

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการป่วยรุนแรงกับผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer พบว่า

  • ผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac มีความเสี่ยงเป็น 4.6 เท่า
  • ผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinopharm มีความเสี่ยงเป็น 1.6 เท่า
  • ผู้ที่ฉีดวัคซีน Moderna มีความเสี่ยงเป็น 0.4 เท่า

 

ผลการวิเคราะห์ทั้ง 6 ค่าข้างต้นมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งหมด แสดงว่างานวิจัยนี้มีความน่าเชื่อถือในทางสถิติ ยกเว้นความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงของผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinopharm (ช่วงความเชื่อมั่น 0.6-4.0) หมายความว่าไม่แตกต่างจากผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่น้อย (ช่วงความเชื่อมั่นกว้าง) จึงทำให้สรุปไม่ได้ ส่วนขนาดของความแตกต่างที่มากของวัคซีน Sinovac (ช่วงความเชื่อมั่น 3.3-6.5) ก็ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจริง

 

คณะผู้วิจัยยังสมมติให้วัคซีน Pfizer มีประสิทธิผลป้องกันการป่วยรุนแรง 90% โดยอ้างอิงการทบทวนงานวิจัยก่อนหน้านี้อย่างเป็นระบบ (Systematic Review) เพื่อนำมาคำนวณเป็นประสิทธิผลของวัคซีนยี่ห้ออื่น พบว่าวัคซีน Moderna, Sinovac และ Sinopharm มีประสิทธิผลเท่ากับ 96%, 54% และ 84% ตามลำดับ จึงอาจสรุปได้ว่าวัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตาสูงกว่าชนิดเชื้อตายชัดเจน และวัคซีน Moderna ยังมีประสิทธิผลสูงกว่าวัคซีน Pfizer

 

‘ที่ไป’ งานวิจัยของสิงคโปร์

 

งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดแข็ง 3 ข้อคือ 

 

  1. เป็นการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในสถานการณ์จริง (Real World) โดยใช้ฐานข้อมูลระดับชาติ ทำให้มีประชากรที่ศึกษาเกือบ 3 ล้านคน และถือเป็นการศึกษาแบบตามรุ่น (Cohort Study) 

 

  1. เป็นการเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนต่างยี่ห้อในบุคคล/สถานที่/เวลาเดียวกัน ทำให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ 

 

  1. มีการควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอื่น ได้แก่ เพศ กลุ่มอายุ เชื้อชาติ สถานะการพำนักอาศัย และประเภทที่พักซึ่งเป็นปัจจัยที่บ่งชี้สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้อภิปรายข้อจำกัดไว้ 4 ข้อคือ 

 

  1. งานวิจัยนี้อยู่บนสมมติฐานให้วัคซีนทุกยี่ห้อมีการลดลงของภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างกัน 

 

  1. ตัวแปรอื่นที่ไม่ได้ควบคุม เช่น โรคประจำตัว ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกวัคซีน และผู้ฉีดวัคซีนแต่ละยี่ห้ออาจมีพฤติกรรมการเข้ารับการตรวจรักษาที่แตกต่างกัน 

 

  1. อัตราการติดเชื้อที่ต่ำกว่าความจริง เนื่องจากไม่ได้ตรวจหาเชื้อในผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ 

 

  1. ไม่สามารถวิเคราะห์เทียบกับ ‘ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน’ ได้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

 

ผลการศึกษาเบื้องต้นในประเทศไทย

 

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 กรมควบคุมโรคเคยแถลงผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในประเทศไทยช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา โดยเป็นการศึกษาในกรุงเทพฯ เดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 พบว่าประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อเป็นดังนี้

 

  • วัคซีน 2 เข็ม
    • วัคซีน Sinovac 2 เข็ม 66%
    • วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม 75%
    • วัคซีนไขว้ Sinovac + AstraZeneca 75%

 

  • วัคซีนเข็มกระตุ้น ในผู้ที่ได้รับ Sinovac 2 เข็ม
    • กระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca 86%
    • กระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer 82%

 

และยังมีการศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เดือนธันวาคม 2564 พบว่าประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อเป็นดังนี้

  • วัคซีน 2 เข็ม
    • วัคซีน Sinovac 2 เข็ม 28%
    • วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม 93%
    • วัคซีนไขว้ Sinovac + AstraZeneca 93%
    • วัคซีน Pfizer เข็ม 92%

 

  • วัคซีนเข็มกระตุ้น ในผู้ที่ได้รับ Sinovac 2 เข็ม
    • กระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca 96%
    • กระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer 98%

 

ส่วนการป้องกันการป่วยรุนแรงมีการศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้รายงานแยกตามยี่ห้อวัคซีน พบว่า วัคซีนป้องกันการเสียชีวิต 97% และ 99% ในผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มและ 3 เข็ม จุดอ่อนของข้อมูลของกรมควบคุมโรคคือไม่มีรายละเอียดวิธีการศึกษาทำให้ไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือได้ และไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่สังเกตว่าวัคซีน Sinovac 2 เข็มป้องกันการติดเชื้อได้ต่ำกว่ายี่ห้ออื่น ซึ่งในภายหลังกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับเป็นสูตรไขว้และนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA เข้ามามากขึ้นแทน

 

โดยสรุปข่าวผู้ฉีดวัคซีน Sinovac มีความเสี่ยงต่อการป่วยโควิดรุนแรงมากกว่า Pfizer 5 เท่า เป็นข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นงานวิจัย โดยใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สิงคโปร์ และมีการควบคุมอิทธิพลของปัจจัยที่อาจส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกันและความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตามข้อมูลในปัจจุบันพบว่าภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนลดลงตามระยะเวลา และไวรัสมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเว้นระยะห่างตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising