×

วัคซีนโควิด-19 ประเด็นต้องรู้คู่กลยุทธ์การลงทุนปี 2021

23.12.2020
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19 ประเด็นต้องรู้คู่กลยุทธ์การลงทุนปี 2021

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังต่อสู้กับการระบาดระลอก 2 และ 3 ของโควิด-19 รวมถึงการเริ่มกลับมาล็อกดาวน์ในหลายประเทศ จากการที่อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำลงในช่วงฤดูหนาวและไวรัสแพร่กระจายเร็วขึ้น ประเทศไทยเองก็เผชิญกับข่าวร้ายต่อภาคเศรษฐกิจและการลงทุนจากความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งมีที่มาจากตลาดอาหารทะเลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

 

ในความคิดเห็นส่วนตัว ประเด็นแรกที่นักลงทุนต้องทราบคือ เราต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับปัจจัยด้านวัคซีนและการลงทุน เพื่อให้ทันต่อสภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนก ข่าวดีในช่วงที่ผ่านมาคือ วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท Pfizer / BioNtech และ Moderna ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization) แล้วในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร รวมถึงอีกหลายประเทศที่จะตามมา เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา ฯลฯ ซึ่งการอนุมัติให้เริ่มมีการฉีดวัคซีนได้เร็วหมายถึง โอกาสที่จะเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในประเทศต่างๆ ได้เร็วขึ้น หลังการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนในกระบวนการผลิต การแจกจ่าย และการฉีดวัคซีนอย่างเพียงพอให้กับประชากร เพื่อเข้าสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และการระบาดที่ควรถูกบรรเทาความรุนแรงลง 

 

จากข้อมูลที่รวบรวมจากหลายบริษัทที่เป็นผู้ผลิตวัคซีน สำหรับประเทศเศรษฐกิจหลักของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (DM) เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายและฉีดวัคซีนให้ประชากรของประเทศจนสามารถเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงประมาณกลางปี 2021 

 

ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา (EM) เช่น รัสเซีย บราซิล เม็กซิโก อินเดีย และจีน จะเริ่มการฉีดวัคซีนได้เต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 และเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงปลายปี 2021 จึงทำให้คาดได้ว่า ประชากรโลกราว 40-50% จะสามารถได้รับวัคซีนและเริ่มเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงต้นปี 2022 ดังนั้น ประเด็นที่นักลงทุนควรทราบเกี่ยวกับปัจจัยเรื่องวัคซีนที่มีผลต่อการกำหนดกลยุทธ์การลงทุน เพื่อเริ่มมองหาโอกาสและป้องกันความเสี่ยงมี 3 ด้านที่ต้องพิจารณา ได้แก่

 

  1. ความเพียงพอของวัคซีน จากข้อมูลของ Goldman Sachs ณ วันที่ 21 ธันวาคม วัคซีนของบริษัท Pfizer / BioNtech และ Moderna คาดว่าจะผลิตได้ภายในปีนี้ราว 50 และ 20 ล้านโดส ตามลำดับ ขณะที่ในปี 2021 จะมีการผลิตวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca / Oxford และ Novavax ปริมาณรวมกันมากถึง 5,000 ล้านโดส ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกกลุ่มประเทศ DM จะเข้าถึงวัคซีนได้ก่อน ในขณะที่กลุ่ม EM จะเข้าถึงวัคซีนได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ประเด็นที่ต้องจับตาคือ หลายสำนักวิจัยมีการประมาณการว่า วัคซีนจะไม่เพียงพอต่อความต้องการในกลุ่มประเทศ EM ในช่วงแรก ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงสำคัญ

 

  1. เงื่อนไขในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะขึ้นอยู่กับ ‘ประสิทธิภาพของวัคซีน’ และ ‘ความครอบคลุมของวัคซีน’ จากข้อมูลของ Mckinsey & Company หากประเมินข้อมูลจากอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประสิทธิภาพของวัคซีนและความครอบคลุมของวัคซีนจะส่งผลต่อความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และการยับยั้งการระบาดของโรคได้ ตัวอย่างเช่น การเกิด Herd Immunity ในกรณีของสหรัฐฯ จะมีเงื่อนไขดังตารางว่า หากใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง (เช่น วัคซีนของ Pfizer / BioNtech และ Moderna) จะทำให้ความครอบคลุมของวัคซีน (ความจำเป็นหรือสัดส่วนประชากรขั้นต่ำที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิด Herd Immunity) ก็จะน้อยลงด้วย เนื่องจากวัคซีนลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค ดังนั้นประเด็นที่ต้องจับตาคือ ประสิทธิภาพของวัคซีนของบริษัทอื่นในอนาคตว่าจะมีประสิทธิภาพสูงหรือไม่ และความครอบคลุมของวัคซีนในแต่ละประเทศเพื่อป้องกันการกลับมาระบาดหนักอีกในอนาคต การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่สัมฤทธิ์ผล และนัยต่อการลงทุนจึงต้องพิจารณา 2 แกนนี้ควบคู่กันเสมอ

 

วัคซีนโควิด-19 ประเด็นต้องรู้คู่กลยุทธ์การลงทุนปี 2021

 

  1. การขนส่งและแจกจ่ายวัคซีน การผลิตวัคซีนสำเร็จถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะความท้าทายที่แท้จริงคือ การสร้างและควบคุมห่วงโซ่การขนย้าย (Logistic Supply Chain) เพื่อส่งวัคซีนจากห้องทดลองไปให้ถึงประชากรทั่วโลก โดยการขนส่งวัคซีน เช่น ของบริษัท Pfizer / BioNtech และ Moderna ต้องอยู่ภายใต้อุณหภูมิที่เย็นจัดตลอดการขนย้าย ประเด็นที่ต้องติดตามคือ ความสามารถของแต่ละประเทศทั่วโลกในการรองรับการขนส่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง แต่อาจมีความยากลำบากในการขนส่ง 

 

ทั้งนี้ จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า ในแต่ละปีวัคซีนที่ถูกส่งออกไปทั่วโลกเกิดการเสื่อมสภาพมากถึง 25-50% ของจำนวนวัคซีนทั้งหมด จากการควบคุมอุณหภูมิที่ผิดพลาดระหว่างการขนส่ง

 

ประเด็นถัดมาที่นักลงทุนควรทราบคือ ความคืบหน้าวัคซีนมีผลต่อกลยุทธ์การลงทุนหุ้นอย่างไรบ้าง แม้ความกังวลการระบาดทั้งในไทยและหลายประเทศยังคงมีอยู่ แต่การระบาดจะส่งผลให้หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องโควิด-19 เช่น กลุ่ม Technology และ Communication Service และ Consumer Staple ยังสามารถปรับเพิ่มต่อได้ดังเช่นในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 

 

อย่างไรก็ดีสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และความเป็นไปได้ที่ประชากรโลกจะได้รับวัคซีนเร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มกระจายการลงทุนหรือเปลี่ยนกลุ่มหุ้น (Rotation) จากหุ้นกลุ่ม Growth / Defensive ไปกลุ่ม Cyclical / Value ที่ล้อไปกับวัฏจักรมากขึ้น รวมถึงหุ้นกลุ่ม Laggard ที่ฟื้นตัวช้ากว่า (เนื่องจากได้รับผลกระทบมากกว่า) ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากสัญญาณการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์สหรัฐฯ และเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (US Yield Curve) ที่ปรับเพิ่มความชันขึ้น ตลอดจนเงินดอลลาร์ สรอ. ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก 

 

ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยหนุนหุ้นกลุ่ม Cyclical / Value เช่น กลุ่ม Industrials, Materials, Financials, Energy ให้มีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อ ดังนั้นจากสมมติฐานเรื่องปัจจัยวัคซีนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงมีแนวโน้มที่ ช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ยังมีโอกาสเห็นหุ้นประเทศไทย ยุโรป และตลาดกำลังพัฒนา เช่น เอเชีย หรือดัชนีหุ้นที่ค่อนข้างมีความเป็น Cyclical หรือ Value เช่น Dow Jones Industrial Average จะเป็นดาวเด่นที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ 

 

ในขณะที่ ช่วงครึ่งหลังของปี 2021 เราอาจจะเริ่มเห็นโอกาสการพักฐานของตลาดหุ้นโลก จากการที่นักลงทุนเริ่มขายทำกำไรเนื่องจากเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นจากการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในหลายประเทศ และความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาจมีการส่งสัญญาณของผู้กำหนดนโยบายการเงินในการคุมสภาพคล่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่กลับมาดีขึ้นด้วย ซึ่งในช่วงนี้มีแนวโน้มเห็นการปรับขึ้นของหุ้นที่อาจจะช้าลง เนื่องจากตลาดและนักลงทุนรับรู้ข่าวดีเรื่องการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนไปหมดแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น หุ้นกลุ่มสายการบินนั้นจะปรับตัวขึ้นได้มากเมื่อผู้คนเริ่มฉีดวัคซีนไปในระยะแรก หรือมีการกระจายวัคซีนไปได้ในหลายภูมิภาคทั่วโลก แต่เมื่อวันที่เครื่องบินเริ่มบินและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับมาเป็นปกติ อาจจะไม่ใช่เวลาที่น่าลงทุนที่สุดแล้วสำหรับหุ้นกลุ่มการบิน เป็นต้น

 

ประเด็นสุดท้ายที่นักลงทุนควรทราบคือ กลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกเป็นอย่างไร เช่น ทองคำ น้ำมัน จากความคืบหน้าเรื่องวัคซีน ราคาทองคำยังมีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากนักลงทุนลดการถือสินทรัพย์ปลอดภัยและเพิ่มสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น มากขึ้น 

 

อย่างไรก็ดีการถือทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงในระยะยาวยังมีปัจจัยสนับสนุน 3 ประการ ได้แก่ 

 

  1. ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังคงมีอยู่

 

  1. ผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ยังอยู่ในระดับติดลบ รวมถึงสภาพคล่องจากมาตรการ QE ยังคงล้นเหลือ

 

  1. เงินดอลลาร์ สรอ. ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าในปี 2021 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

ในอีกด้าน ราคาน้ำมัน ความคืบหน้าวัคซีนจะทำให้อุปสงค์การใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าคาด และกลุ่มโอเปกพลัสที่มีมติปรับลดกำลังการผลิตอยู่ที่ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เดือนมกราคม 2021 เป็นต้นไป จะช่วยหนุนภาพการฟื้นตัวของราคาน้ำมันได้ โดยเฉพาะหากเริ่มมีการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศจะเป็นจุดสำคัญในการเข้าลงทุนน้ำมันได้ในบางจังหวะ แนวโน้มการแพร่ระบาดที่จะทยอยลดลง จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกในบางช่วงเวลาเช่นเดียวกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X