×

รู้จักโควิด-19 คลัสเตอร์ใหม่ ‘ตลาดพรพัฒน์’ ปทุมธานี จุดเริ่มต้นเป็นอย่างไร น่ากังวลแค่ไหน

17.02.2021
  • LOADING...
รู้จักโควิด-19 คลัสเตอร์ใหม่ ‘ตลาดพรพัฒน์’ ปทุมธานี จุดเริ่มต้นเป็นอย่างไร น่ากังวลแค่ไหน

HIGHLIGHTS

  • จุดเริ่มต้นของการระบาดในตลาดพรพัฒน์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ ยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค แต่ผู้ป่วยรายแรกที่ทำให้ทราบว่ามีการระบาดเกิดขึ้น (Index Case) เป็นหญิงชาวเมียนมาอายุ 31 ปี ทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายมะนาวที่ตลาดพรพัฒน์
  • อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยผลการสอบสวนโรคเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คาดว่าสาเหตุของการระบาดคืออาคารหลังคาเตี้ย ทำให้อากาศไม่ถ่ายเท โดยเฉพาะกลางตลาด แม่ค้าและลูกค้าไม่สวมหน้ากาก เพราะอากาศร้อน และมีการรับประทานอาหารร่วมกัน
  • ด้วยความเชื่อมโยงที่สลับซับซ้อนในตลาดของแม่ค้า ลูกจ้าง และลูกค้าประจำ ทำให้ตลาดเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดเป็นวงกว้าง การปิดตลาดอาจช่วยชะลอการระบาดได้ในช่วงแรก แต่ต้องทำควบคู่กับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการสอบสวนโรคเพื่อติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดไม่ให้การแพร่ระบาดขยายวงออกไป 

การระบาดของโควิด-19 กลับมาอีกครั้งที่ จ.ปทุมธานี ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงสัปดาห์นี้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ของ จ.สมุทรสาคร ลดลงเหลือตัวเลข 2 หลัก ทำให้หลายฝ่ายเริ่มยิ้มออกกันได้บ้าง แต่ขณะเดียวกันสัดส่วนของผู้ป่วยรายใหม่ของไทยกลับเพิ่มขึ้นในส่วนของต่างจังหวัดที่นอกเหนือไปจากสมุทรสาคร และ กทม. โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับตลาดพรพัฒน์ และตลาดสุชาติ ต.ประชาธิปัตย์ จ.ปทุมธานี

 

ไทม์ไลน์การระบาดของ จ.ปทุมธานี

จุดเริ่มต้นของการระบาดในตลาดพรพัฒน์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ ยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค แต่ผู้ป่วยรายแรกที่ทำให้ทราบว่ามีการระบาดเกิดขึ้น (Index Case) เป็นหญิงชาวเมียนมาอายุ 31 ปี ทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายมะนาวที่ตลาดพรพัฒน์ ไทม์ไลน์ของ สสจ.ปทุมธานี ระบุว่าเธอเริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม และเข้ารับการรักษาที่ รพ. ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์

 

การตรวจพบผู้ป่วยรายนี้ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขออกค้นหาเชิงรุกตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และพบผู้ป่วยเพิ่มเติมรวม 134 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์) สัดส่วนคนไทยมากถึง 60% และกระจายไปหลายจังหวัด ได้แก่ นครนายก, อยุธยา, เพชรบุรี, อ่างทอง, สระบุรี, นครปฐม และ กทม. เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ภาพของการระบาดที่ตลาดกลางกุ้งเมื่อ 2 เดือนก่อนกลับมาอีกครั้ง

 

ตำแหน่งร้านค้าที่พบผู้ป่วย (สีแดง) ในตลาดพรพัฒน์

 

เมื่อย้อนกลับไปปลายปีที่แล้ว ตลาดแห่งนี้เคยพบผู้ป่วยมาตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ จ.สมุทรสาคร และนนทบุรี และได้รับการค้นหาเชิงรุกระหว่างวันที่ 4-13 มกราคม 2564 พบผู้ป่วย 45 ราย จากผู้เข้ารับการคัดกรอง 3,432 คน คิดเป็นอัตราป่วย 1.3% ก่อนจะเริ่มเปิดตลาดเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา 

 

อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยผลการสอบสวนโรคเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คาดว่าสาเหตุของการระบาดคืออาคารหลังคาเตี้ย ทำให้อากาศไม่ถ่ายเท โดยเฉพาะกลางตลาด (Index Case ทำงานบริเวณนี้ ส่วนผู้ที่เคยตรวจไม่พบเชื้อรอบก่อน แต่ตรวจพบเชื้อจากการตรวจรอบใหม่ก็ทำงานที่ร้านใกล้กัน) แม่ค้าและลูกค้าไม่สวมหน้ากาก เพราะอากาศร้อน และมีการรับประทานอาหารร่วมกัน

 

การระบาดของโควิด-19 ในตลาด

นับตั้งแต่การระบาดระลอกใหม่เป็นต้นมา มีตลาดอย่างน้อย 4 แห่งที่เป็นข่าวว่าพบผู้ป่วยจำนวนมาก คือ ตลาดกลางกุ้ง, ตลาดทะเลไทย (เมื่อปลายปีที่แล้ว), ตลาดรถไฟมหาชัย (ข่าวแม่ค้าขายหมูที่อัมพวา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์) และตลาดพรพัฒน์ในครั้งนี้ แต่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่า มีผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกับตลาดมากถึง 1,800 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ขายในตลาดสด ส่วนตลาดนัดเป็นส่วนน้อย (10%)

 

ปัจจัยเสี่ยงภายในตลาดคือ 

  • ไม่มีการดำเนินมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เช่น แผงขายแออัด ไม่มีระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยเป็นบางครั้ง แม่ค้าตะโกนพูดคุยเสียงดัง (เป็นธรรมชาติของตลาด) แม่ค้าไม่ค่อยล้างมือ
  • ขาดความสม่ำเสมอในการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น ประตูห้องน้ำ และทำความสะอาดไม่เหมาะสม เช่น ไม่ใช้น้ำยา/ผงซักฟอกทำความสะอาด ทำความสะอาดด้วยการฉีดพ่นทำให้เชื้อฟุ้งกระจาย

 

ปัจจัยเสี่ยงนอกตลาดคือ

  • สำหรับตลาดสด แม่ค้าเดินทางไปซื้อของจากหลายแหล่ง ส่วนตลาดนัดมีการหมุนเวียนของแม่ค้าไปหลายตลาด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายไปหลายตลาด และข้ามจังหวัด
  • นอกจากนี้ยังพบการพักอาศัยของลูกจ้างชาวเมียนมาที่ค่อนข้างแออัด ใช้ห้องน้ำรวมแต่ไม่มีการทำความสะอาด ทำให้ถึงแม้จะมีการแยกกันทำงานในตลาด แต่ก็กลับมาติดเชื้อกันภายในที่พัก

 

ซึ่งความจริงแล้ว มาตรการป้องกันโควิด-19 ก็เป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและสุขาภิบาลที่สามารถป้องกันโรคติดต่ออื่นได้ด้วย หากเจ้าของตลาดสามารถปรับปรุงตลาดให้อากาศถ่ายเท จัดการระบบระบายน้ำเสีย (หลังจากการทำความสะอาดก่อนปิดตลาดในแต่ละวัน) และทำความสะอาดห้องน้ำ รวมถึงจุดสัมผัสร่วมอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถป้องกันโรคได้ในระยะยาว

 

การระบาดที่ จ.ปทุมธานี น่ากังวลแค่ไหน

ทุกๆ ครั้งที่พบการระบาดของโควิด-19 มักจะมีการระบาดในพื้นที่หรือชุมชนนั้นมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่เว้นแม้แต่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่พบการระบาดเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปีที่แล้ว ผู้ป่วยบางส่วนไม่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดอาหารทะเลตามที่เป็นข่าว หรือที่ จ.สมุทรสาคร กว่าจะพบผู้ป่วยที่เป็นเจ้าของแพในตลาดกลางกุ้ง การระบาดก็แพร่ไปยังตลาดอื่นๆ และต่างจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ครั้งนี้ก็เช่นกัน สิ่งที่ทุกจังหวัดต้องทำคือการเฝ้าระวังผู้ที่มีประวัติเดินทางมาตลาดพรพัฒน์, ตลาดสุชาติ และตลาดอื่นๆ* ใน จ.ปทุมธานี ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา (ตั้งแต่ประมาณ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา) สสจ.ควรจัดทำระบบให้ประชาชนติดต่อ เพื่อประเมินความเสี่ยงและได้รับการตรวจหาเชื้อฟรี ส่วนประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง (ใกล้ชิดกับแม่ค้าหรือลูกจ้างในตลาด) ควรกักตัวที่บ้านจนครบ 14 วัน 

 

ประชาชนที่เดินทางจาก จ.ปทุมธานี ควรสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรรีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง 

 

*สำหรับสาเหตุที่ผมรวมตลาดอื่นๆ ไว้ในประวัติเสี่ยงด้วย เนื่องจากไทม์ไลน์ของนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ที่ ศบค. เพิ่งแถลงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ระบุว่าน่าจะได้รับเชื้อมาจากผู้ป่วยรายหนึ่งที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยรายนี้เป็นแม่ค้าที่ตลาดสี่มุมเมือง

 

ไทม์ไลน์นักศึกษาแพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ

 

ด้วยความเชื่อมโยงที่สลับซับซ้อนในตลาดของแม่ค้า ลูกจ้าง และลูกค้าประจำ ทำให้ตลาดเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดเป็นวงกว้าง การปิดตลาดอาจช่วยชะลอการระบาดได้ในช่วงแรก (อาจปิดเพียง 3 วันเพื่อทำความสะอาด) แต่ต้องทำควบคู่กับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการสอบสวนโรคเพื่อติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดไม่ให้การแพร่ระบาดขยายวงออกไป ในขณะเดียวกันต้องมีการเยียวยาแม่ค้าและลูกจ้าง เพื่อป้องกันการย้ายที่ทำงานหรือ ‘ผึ้งแตกรัง’ ด้วย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising