วันนี้ (27 มิถุนายน) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ประกาศข้อกำหนด ฉบับที่ 25 ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษานั้น
ประกาศข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน สถานประกอบการ ที่พบว่ามีการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้ ‘ล็อกดาวน์’
สำหรับมาตรการตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ให้มีการปฏิบัติเริ่มวันที่ 28 มิถุนายน อย่างน้อย 30 วัน ดังนี้
- ปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราว สําหรับคนงานทั้งภายในและภายนอก สถานที่ก่อสร้าง รวมท้ังให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นการชั่วคราว อย่างน้อย 30 วัน
- ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เฉพาะนำกลับไปบริโภคที่บ้าน
- ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดําเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. งดการจัดกิจกรรมในพื้นที่ โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ํา งดนั่งรับประทานในศูนย์อาหาร
- งดกิจกรรมรวมกลุ่มที่เกิน 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
- ตั้งจุดตรวจเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสงขลา รวมถึงกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล คือ นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
“ข้อกำหนดที่เข้มข้น เป็นการยกระดับมาตรการเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยมีผลในพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงสูง สำหรับพี่น้องประชาชนทั่วไปยังสามารถเดินทางและดำเนินกิจกรรมประจำวันตามปกติ และขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงนี้” อนุชากล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์