จากที่วางไว้ว่าปี 2563 จะเป็นปีทองของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เพราะรายได้ในช่วงที่ผ่านมาต่างเติบโตทุกปี สะท้อนจากยอดขายตั๋วชมภาพยนตร์ ปี 2560 ขายได้ 29.5 ล้านใบ, ปี 2561 ขายได้ 33 ล้านใบ และปี 2562 ขายได้ 36.5 ล้านใบ ดังนั้นปีนี้คิดคาดว่าจะสามารถทำได้ 40 ล้านใบได้ไม่ยาก แต่กลับไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะเกิดวิกฤตที่ชื่อว่าโควิด-19 เสียก่อน
“เดือนมกราคมไปได้สวย เดือนกุมภาพันธ์เริ่มเข่าทรุด เดือนมีนาคมสลบไปเลย เดือนเมษายนนั่งงงอยู่เพราะต้องทำงานจากที่บ้าน” วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
วิชายกให้ปี 2563 เป็น The Dark Year เพราะธุรกิจโรงภาพยนตร์จอมืด ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก และวิกฤตที่เกิดขึ้นยังทำให้เมเจอร์ขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี โดยจากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ช่วง 9 เดือน ปี 2563 เมเจอร์มีรายได้รวม 2,879.67 ล้านบาท และขาดทุน 855.02 ล้านบาทด้วยกัน
“ซีอีโอทุกคนก็มึน ไม่รู้จะทำอะไร ต้องตั้งสติพอสมควร แต่ละอุตสาหกรรมเจอเอฟเฟกต์ที่ไม่เหมือนกัน ตอนแรกคิดว่าไม่กระทบเยอะ แต่ไปๆ มาๆ กลับเจอหนัก เพราะเราไม่มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้ามาฉาย ปกติไม่มี 1 เดือนว่าหนักแล้ว แต่นี้ไม่มีถึง 10 เดือนเต็มๆ”
วิกฤตที่ชื่อว่าโควิด-19 ยังทำให้วิชาค้นพบสัจธรรม ที่ผ่านมาวิชามองว่าตัวเองนั้นเป็นโรงภาพยนตร์มาตลอด แต่โควิด-19 ทำให้วิชาต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ด้วยหลายคนอาจมองว่า โรคระบาดอาจทำให้คนไม่อยากดูภาพยนตร์ในโรง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะคนยังมาดูภาพยนตร์ แต่ไม่มีภาพยนตร์ให้ดู
ดังนั้นในปี 2564 นี้เมเจอร์ต้องปรับทัพใหม่เพื่อสู้กับวิกฤตที่เกิดขึ้น วิชามองโรคโควิด-19 จะมาแล้วก็ไป ไม่ใช่ดิสรัปชัน (Disruption) ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม โดยเมเจอร์นั้นต้องปรับตัวให้เร็วและยืดหยุ่น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้อยู่รอด โดยเฉพาะการปรับตัวเองจากโรงภาพยนตร์ไปสู่คอนเทนต์โปรไวเดอร์ ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
การเป็นคอนเทนต์โปรไวเดอร์จะมาพร้อมกับ T ตัวแรกในกลยุทธ์ 3T ที่เมเจอร์วางไว้ในปี 2564 ซึ่งนั้นคือ Thai Movie โดยที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 ภาพยนตร์ไทยกลายเป็นคอนเทนต์หลักที่ช่วยให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์สามารถผ่านจุดวิกฤต โดยมีภาพยนตร์ไทย 3 เรื่องที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งนั่นคือ ภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักดอกผักบุ้ง, เลิกคุยทั้งอำเภอ ที่สามารถตอบโจทย์คนดูทางภาคใต้ ทำรายได้ไปถึง 43 ล้านบาท ตามมาด้วย อีเรียมซิ่ง ซึ่งขณะนี้กวาดรายได้ไปแล้ว 200 ล้านบาท
โดยหากคอนเทนต์ทำได้น่าสนใจและโดนใจคนดู คนก็จะออกมาดูภาพยนตร์ ดังนั้นเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จึง Rethink ด้วยการให้ความสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้บริษัทผลิตภาพยนตร์ผลิตภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เนื่องจาก “เมื่อตลาดโรงภาพยนตร์โลกขาดสินค้าหรือคอนเทนต์ที่เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้าฉาย แต่หากเรามีภาพยนตร์ Local Film ที่สร้างเอง ก็จะทำให้มีคอนเทนต์ป้อนตลาด โดยไม่ต้องรอภาพยนตร์ฮอลลีวูด”
ปีหน้าเมเจอร์จะใช้เงิน 350-400 ล้านบาท สำหรับการลงทุนสร้างภาพยนตร์ไทยประมาณ 20-25 เรื่อง จากบริษัทผลิตภาพยนตร์ไทยในเครือเมเจอร์ 6 ค่าย ได้แก่ M Pictures, M39, Transformation Film, CJ MAJOR Entertainment, TAI MAJOR และรฤก โปรดั๊กชั่น ซึ่งเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากที่เคยผลิตเพียงปีละ 10-12 เรื่อง
“แม้ปีนี้อาจเป็นปีที่ไม่ค่อยดีนักของโรงภาพยนตร์ แต่ปีหน้า ปี 2564 จะเป็นปีที่ Movie is back, No Time to Die จะมีภาพยนตร์เข้าฉายให้ลูกค้าได้ชมกันมากถึง 260 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดประมาณ 210 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ไทยประมาณ 50 เรื่อง”
โดยนอกจากค่ายในเครือเมเจอร์แล้ว ค่ายอื่นๆ ก็ยังมีการสร้างอยู่ เช่น GDH 4 เรื่อง, สหมงคลฟิล์ม 7 เรื่อง, ไฟว์สตาร์ 3 เรื่อง ส่วนภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่เข้าฉายมีประมาณ 210 เรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เลื่อนฉายจากปี 2563 ในช่วงโควิด-19 เป็นภาพยนตร์ที่หลายคนรอคอยการกลับมาฉาย ซึ่งเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด บ็อกซ์บัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ที่คาดว่าจะทำเงิน อาทิ Black Widow, Godzilla vs. Kong, Fast & Furious 9, Mission: Impossible 7, Spider-Man Sequel และ The Matrix 4 เป็นต้น
ขณะเดียวกันการเป็นคอนเทนต์โปรไวเดอร์ของเมเจอร์คือการทำรายได้จากภาพยนตร์ที่ตัวเองสร้างขึ้น โดยการขายภาพยนตร์ไทยทุกเรื่องหลังจากออกโรงแล้ว 3 เดือนให้กับสตรีมมิงที่กำลังเติบโต ซึ่งวิชามองสตรีมมิงเป็นอีกหนึ่งรายได้ใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนส่วนอื่นๆ ที่น้อยลงไป โดยเฉพาะในส่วนของ DVD และ VCD
การขายของเมเจอร์นั้นวิชาย้ำว่า จะไม่มีการผูกปิ่นโตไว้กับค่ายใดค่ายหนึ่ง แต่จะขายให้กับค่ายที่เสนอราคาสูงที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีขายไปแล้วทั้ง โปรเม อัจฉริยะ | ต้อง | สร้าง ให้กับ Netflix ในราคา 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ และ แสงกระสือ ให้กับ Netflix เช่นเดียวกันในราคา 5.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น
ส่วน T ตัวที่ 2 คือ Technology โดยเมเจอร์ได้วางงบ 200 ล้านบาทสำหรับลงทุนเรื่องนี้ โดยมีเป้าหมายในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาเติมเต็มในการให้บริการมากขึ้น
T สุดท้ายคือ Trading ซึ่งถือเป็น New Business ซึ่งเกิดจากการขายป๊อปคอร์นทางออนไลน์ในช่วงที่โรงภาพยนตร์ต้องปิด แล้วประสบความสำเร็จค่อนข้างดี เมเจอร์จึงได้ต่อยอดยายไลน์สินค้าป๊อปคอร์นด้วยการเปิดตัวป๊อปคอร์นพรีเมียม POPSTAR ซึ่งมีทั้ง ป๊อปคอร์นแบบซอง, สำหรับอบเองที่บ้าน และบรรจุกระป๋องสำหรับซื้อเป็นของฝาก
เบื้องต้นยังวางขายอยู่ในโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ แต่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาสำหรับไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเมเจอร์ตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจ Trading คิดเป็นสัดส่วนราว 10% จากรายได้ของป๊อปคอร์นที่ขายได้ราว 2,000 ล้านบาท
สำหรับแผนการขยายสาขาในปี 2564 เมเจอร์จะลงทุนขยายสาขาในต่างจังหวัด 8 สาขา 24 โรง และสาขาในกัมพูชาอีก 2 สาขา 6 โรง ด้วยงบประลงทุนรวม 200 ล้านบาท ปัจจุบันเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีสาขาที่เปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 172 สาขา 817 โรง 185,874 ที่นั่ง แยกเป็น
– สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 47 สาขา 357 โรง 81,388 ที่นั่ง
– สาขาในต่างจังหวัด 117 สาขา 421 โรง 96,037 ที่นั่ง
– สาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล