×

‘คณิศ’ ยอมรับพิษโควิด-19 ทำ ศก. พื้นที่ EEC ปี ‘63 ส่อติดลบ 8.4% ย้ำเดินหน้าลงทุนปกติ ลั่นไม่กลัวเวียดนาม แต่ห่วงเสียเปรียบบางเรื่อง

15.02.2021
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เลขาธิการ EEC ประเมินการระบาดของโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจพื้นที่ EEC หดตัวหนักถึง -8.4% กลุ่มยานยนต์และท่องเที่ยวอ่วมสุด
  • ยืนยันโครงการลงทุนต่างๆ ในพื้นที่ EEC ยังเดินหน้าตามปกติ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ทั้งรถไฟความเร็วสูงและสนามบิน คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2567
  • แผนดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่ EEC ยังมุ่งไปที่ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมี 3 แกนหลักที่ซัพพอร์ต คือระบบ 5G โลจิสติกส์ และเวลเนส รวมไปถึงเฮลท์แคร์
  • แนะเอกชนเร่งลงทุน และปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ย้ำในอนาคตจะเป็นตัวหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หากปรับตัวช้าจะวิ่งตามคนอื่นไม่ทัน

กระแสข่าวการลงทุนใน EEC หรือโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ดูเหมือนจะเริ่มเงียบหายไปนับตั้งแต่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดจากโควิด-19 

 

แม้เราจะไม่ได้ยินข่าวคราวการลงทุนใน EEC มากเท่ากับในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ แต่ คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ยืนยันกับ THE STANDARD ว่า รัฐบาลยังขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นโครงการแห่งความหวัง ที่จะช่วยยกระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

 

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 คณิศยอมรับว่า ส่งผลกระทบต่อ EEC ค่อนข้างมาก ซึ่งมีการประเมินกันภายในว่า โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมาหดตัวราว 6.4% แต่เศรษฐกิจในเขตพื้นที่ EEC หดตัวมากกว่านั้น คาดกันว่าจะหดตัวลึกถึงประมาณ 8.4% 

 

“สาเหตุที่เราโดนหนัก เพราะเรามีพัทยาและระยองที่โดนผลกระทบพอสมควร” คณิศกล่าวพร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า พื้นที่ EEC ประกอบด้วย 3 ภาคอุตสาหกรรมหลักคือ ปิโตรเคมี ซึ่งกลุ่มนี้แทบไม่โดนผลกระทบเลย ยังเดินหน้าต่อได้เหมือนเดิม 

 

ส่วนด้านที่สองคือ ภาคเกษตร ซึ่งก็ยังพอไปได้ เพราะราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่กลุ่มที่โดนหนักคือ กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ และการท่องเที่ยว

 

คณิศบอกว่า อุตสาหกรรมรถยนต์โดนผลกระทบราว 40-50% เพราะการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่ลดลง ขณะที่ความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศก็ลดลงด้วย ส่วนภาคการท่องเที่ยวถือว่าหนักสุดโดนผลกระทบราว 80% และทำให้รายได้ของพื้นที่ EEC หายไปมากกว่า 2 แสนล้านบาท  

 

“เราเรียกสถานการณ์นี้ว่า Uneven คือบางอุตสาหกรรมโดน บางอุตสาหกรรมไม่โดน และอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบก็ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นเครื่องมือที่เข้าไปแก้ปัญหาก็ต้องมีการวางระบบที่ดีด้วย”

 

คณิศกล่าวย้ำว่า โครงการ EEC ทุกอย่างยังเดินหน้าตามปกติ ไม่ได้หยุด โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงหรือสนามบิน เพราะกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567 

 

 

สาเหตุที่โครงการต่างๆ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะรัฐบาลได้ขับเคลื่อนโครงการลงทุนเหล่านี้มาในช่วงหลายปีก่อนหน้าแล้ว โดยคำขอลงทุนในช่วงปี 2561-2562 เฉลี่ยอยู่ที่ปีละประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ขณะที่ของปี 2563 อาจลดลงมาบ้างจากสถานการณ์โควิด-19

 

“ในปี 2564 เราประเมินว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และจะมีอุตสาหกรรมที่เราส่งเสริมลงทุนเพิ่มอีกราว 3 แสนล้านบาท ดังนั้นตัวเลขการลงทุนโดยรวมๆ ของปี 2564 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท”

 

สำหรับในแง่ความน่าสนใจลงทุนจากผู้ลงทุนต่างชาตินั้น คณิศยืนยันว่า ประเทศไทยยังมีความน่าสนใจ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ

 

เขาบอกด้วยว่า หลายคนมักหยิบไทยเทียบกับเวียดนาม ซึ่งต้องบอกว่าเราไม่ได้กลัวเวียดนาม เพราะวันนี้อุตสาหกรรมที่ไปลงทุนในเวียดนามส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก เช่น กลุ่มทุนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม เพราะค่าแรงที่นั่นไม่สูง ในขณะที่ของไทยจะเน้นไปทางด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก

 

“ถ้าใครจะมาลงทุนเพื่อประกอบมือถือ เราคิดว่าอย่ามาเราเลย เพราะกลุ่มนี้ต้องใช้แรงงานเป็นแสนคน ซึ่งเรามีไม่เพียงพอ ดังนั้นเราจึงพยายามดึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานทักษะสูงเป็นหลักให้เข้ามาลงทุนในบ้านเรา”

 

อย่างไรก็ตาม คณิศยอมรับว่า ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศอื่นๆ รวมทั้งเวียดนามค่อนข้างมาก คือเราทำข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่นๆ ช้ากว่าคู่แข่งประเทศรอบๆ บ้านของเรา เช่น กรณีของเวียดนาม ย้ำว่าเราไม่ได้กลัวเขา แต่เวียดนามทำข้อตกลงการค้ากับหลายๆ ภูมิภาค ครอบคลุมกว่าของไทยเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงที่ทำกับอียู หรืออังกฤษ และยังเข้าไปอยู่ใน CPTPP (ความตกลงที่ครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ซึ่งถ้าดูยุทธศาสตร์ด้านนี้ในระยะยาว เราจึงเสียเปรียบเวียดนามอยู่มาก 

 

“เราไม่ได้กลัวเขา (เวียดนาม) แต่หากเราปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ วันข้างหน้าเราอาจจะตามเขาไม่ทัน เพราะการทำสนธิสัญญาการค้าใช้เวลาค่อนข้างนาน หากเรายังไม่เร่งก็อาจจะเสียเปรียบได้”

 

 

สำหรับแผนการดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน EEC นั้น ยังคงมุ่งเป้าไปที่ 12 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลยังเดินหน้าต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันภายใน EEC เองจะต้องมีอีก 3 แกนหลัก ที่คอยซัพพอร์ตการลงทุนของทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ โดย 3 แกนหลักที่ว่าคือ การพัฒนาระบบ 5G การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการผลักดันเรื่องเวลเนส รวมไปถึงเฮลท์แคร์

 

คณิศบอกว่า เรื่อง 5G ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เพราะอนาคตการใช้รถยนต์​ EV จะต้องมีระบบ AI เข้ามาด้วย ดังนั้นระบบ 5G จึงมีความสำคัญอย่างมาก

 

“ภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ พื้นที่ EEC จะมีสัญญาณ 5G ใช้ได้ไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งตอนนี้เรามีท่อสายสัญญาณแล้ว และปกติการลงทุนในท่อเสาสายสัญญาณทุกๆ 1 บาท จะมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีก 5 บาท ที่ผ่านมาเราลงทุนในท่อสายสัญญาณไปราว 4 แสนล้านบาท เราเชื่อว่าจะทำให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องอีกประมาณ 1-2 ล้านล้านบาท”

 

ส่วนเรื่องโลจิสติกส์ หลังจากที่เราวางโครงสร้างระบบ 5G ตามจุดต่างๆ เช่น ในท่าเรือแหลมฉบัง ก็จะทำให้ท่าเรือดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงจุดขนสินค้าเฉยๆ แต่เราจะทำเรื่อง Dry Port เชื่อมการขนส่งสินค้าตั้งแต่ จีน ลาว เวียดนาม เมียนมา มายังท่าเรือแหลมฉบัง

 

สำหรับเรื่องเวลเนสและเฮลท์แคร์จะนำไปสู่เมดิคัลฮับ ซึ่งเรื่องนี้คณิศบอกว่า ได้วางโครงสร้างสาธารณสุขใน EEC ไว้แล้ว โดยทำเป็นภาพใหญ่ ด้วยการนำสถานพยาบาลของทั้งภาครัฐและเอกชนมาทำงานร่วมกันเพื่อบริการประชาชน ซึ่งเราได้ตกลงกับสถานพยาบาลเหล่านี้เอาไว้ว่า ควรจะมีโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยไม่ต้องมาแข่งกันเอง เพราะจะทำให้เกิดการประหยัด เช่น โรงพยาบาลนี้ทำเรื่องโรคหัวใจโดยเฉพาะ เป็นต้น 

 

“เราจะเอาเทคโนโลยีมาวางในเมดิคัลฮับด้วย โดยมีสองเรื่องหลักคือ เรื่องจีโนมิกส์ เป็นการนำระบบดิจิทัลมาช่วยรักษาพยาบาลทีละคน ไม่ได้รักษาเป็นกลุ่มๆ เช่น ไม่ใช่ใครเป็นอะไรก็ให้ยาแก้ปวด แต่อันนี้เราจะทำข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมของคนไทยทั้งหมด ตอนนี้มีทำกลุ่มตัวอย่างแล้ว 5 หมื่นราย ข้อมูลจีโนมิกส์ของกลุ่มนี้จะถูกเก็บเอาไว้ โดยที่ผู้ทำงานวิจัยต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้”

 

คณิศกล่าวทิ้งท้ายว่า ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่เกิดกับเศรษฐกิจไทยนับว่าค่อนข้างแรง แต่ก็เป็นเรื่องที่ทั่วโลกเผชิญเหมือนกันหมด เราเชื่อว่ากว่าโควิด-19 จะสงบลงก็คงในอีก 10 เดือนข้างหน้า สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ในเวลานี้ คือผลักดันการลงทุนของภาคเอกชน ดังนั้นหากที่ผ่านมาภาครัฐไม่ตัดสินใจออกกฎหมาย EEC อย่างเป็นเรื่องราว เราก็คงยังไม่เห็นการลงทุนเกิดขึ้นในปีนี้ และปีหน้าอย่างแน่นอน 

 

คำถามคือ เวลานี้นักธุรกิจต่างๆ เริ่มเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC กันบ้างแล้ว แต่สิ่งที่ภาครัฐอยากเห็นคือ การร่วมมือกันในการหา หรือลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งภาครัฐพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ ในอนาคตธุรกิจไทยจำเป็นต้องมีความสามารถที่จะรองรับ และปรับเปลี่ยนเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา เพราะท้ายที่สุดแล้ว ในอนาคตเทคโนโลยีจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าเราช้าก็จะวิ่งตามเขาไม่ทัน จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising