×

รู้จักไวรัสโควิด-19 ที่ถูกเรียกว่า ‘สายพันธุ์ไทย’ ในขณะนี้

28.05.2021
  • LOADING...
โควิด-19 สายพันธุ์ไทย
  • ไวรัสโควิด-19 ที่ถูกเรียกว่า ‘สายพันธุ์ไทย’ ในขณะนี้มีชื่อเรียกในระบบ Pango ว่า C.36.3 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) จัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘สายพันธุ์ภายใต้การสอบสวน’ (Variant Under Investigation: VUI) เนื่องจากคุณสมบัติในการกลายพันธุ์ และมีการระบาดในหลายประเทศ
  • สายพันธุ์นี้มีรายงานครั้งแรกในไทย แต่พบในผู้ที่เดินทางมาจากอียิปต์ ในเอกสารของ PHE ระบุว่าเป็น ‘Thailand ex Egypt’ และมีรายงานในประเทศไทยจำนวน 1 ตัวอย่าง ในขณะที่ปัจจุบันมีรายงานการพบสายพันธุ์นี้ใน 34 ประเทศ เช่น เยอรมนี (148 ตัวอย่าง) สหรัฐฯ (144) อังกฤษ (109) สวิตเซอร์แลนด์ (62) อียิปต์ (33)
  • เมื่อตรวจสอบกับฐานข้อมูล Nextstrain ของเชื้อที่ระบาดในประเทศไทยของกลุ่ม CONI น่าจะตรงกับตัวอย่าง Thailand/CU-SI2104740-NT/2021 จัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ GR รายงานโดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการเก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 
  • ซึ่งในแผนผังสายพันธุ์ไม่พบความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์อื่นภายในประเทศ แสดงว่า ‘สายพันธุ์ไทย’ นี้น่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ตรวจพบในสถานกักกันโรค (Quarantine) มากกว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในชุมชน สำหรับรายละเอียดของสายพันธุ์นี้ในประเทศไทยคงต้องรอแถลงจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยอีกครั้งหนึ่ง
  • ส่วนการกลายพันธุ์ ไวรัสมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งบนส่วนหนาม (Spike) แต่ตำแหน่งที่สำคัญคือ L452R และ R346S โดยตำแหน่ง L452R สัมพันธ์กับการเพิ่มความสามารถในการแพร่กระจาย และการหลบหลีกหรือ ‘ดื้อ’ ภูมิคุ้มกัน ซึ่งยังพบได้ในสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) และสายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย (B.1.427 และ B.1.429) 
  • ข่าวไวรัส ‘สายพันธุ์ไทย’ นี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งตรวจวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่และรายงานต่อสาธารณะเป็นประจำทุกสัปดาห์ ในขณะที่การเรียกชื่อสายพันธุ์ตามชื่อเมือง/ประเทศอาจทำให้เกิดการตีตรากับประชาชนในเมือง/ประเทศนั้นๆ
  • ล่าสุด นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่าสายพันธุ์ C.36.3 ที่ PHE รายงานในตารางว่า ‘Thailand ex Egypt’ โดยหลักคือ หากต้นตอมาจากอียิปต์ไม่ควรเรียกสายพันธุ์ไทย ก็เหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่นพบสายพันธุ์บราซิล (P.1) ซึ่งในตารางเขียนว่า Japan ex Brazil ก็เรียกว่าสายพันธุ์บราซิล เบื้องต้นควรจะเรียกว่า ‘สายพันธุ์อียิปต์’

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising