×

อัลฟาพลัสและเดลตาพลัสน่ากังวลแค่ไหน สรุปสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย

29.10.2021
  • LOADING...

สัปดาห์นี้มีข่าวโควิดสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ทั้งอัลฟาพลัสและเดลตาพลัส โดยอัลฟาพลัสถูกพูดถึงว่าเป็น Alpha+(E484K) ส่วนเดลตาพลัสก็มีข่าวทั้งสายพันธุ์ AY.1 และ AY.4.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของเดลตา (B.1.617.2) ยิ่งอ่านข่าวยิ่งงงกับชื่อและรหัสต่างๆ สายพันธุ์เหล่านี้น่ากังวลแค่ไหน และตอนนี้สายพันธุ์หลักในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์อะไร บทความนี้จะสรุปให้เข้าใจกันมากขึ้น

 

ชื่อและรหัสต่างๆ หมายถึงอะไร

 

เริ่มจากชื่อเรียกสายพันธุ์ก่อน ที่หลายคนได้ยินจากข่าวจะมี 2 รูปแบบด้วยกัน คือ 

 

  1. ชื่ออักษรกรีก

องค์การอนามัยโลกใช้เรียกสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) และสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variants of Interest: VOI) ซึ่งมีการกลายพันธุ์จนทำให้มีคุณสมบัติของไวรัสเปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้มีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟา, เบตา, แกมมา, เดลตา, แลมบ์ดา และมิว 

 

จุดเริ่มต้นของการตั้งชื่อเป็นอักษรกรีกคือเพื่อลดการเชื่อมโยงกับชื่อเมืองหรือประเทศที่มีการระบาดหรือตรวจพบสายพันธุ์นั้นๆ เป็นครั้งแรก เช่น ‘อัลฟา’ เดิมเรียกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ‘เดลตา’ เดิมเรียกว่าสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งจนถึงปัจจุบันสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดไปทั่วโลก หากยังเรียกเป็นชื่อประเทศอยู่ก็จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับอินเดียขึ้นมา ทั้งที่การระบาดนั้นไม่เกี่ยวข้องกับอินเดียแต่อย่างใด

 

  1. รหัสอักษรและตัวเลข 

เช่น B.1.1.7 คือสายพันธุ์อัลฟา ส่วน B.1.617.2 คือสายพันธุ์เดลตา เป็นการตั้งชื่อในระบบ Pango ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตกลงเกณฑ์ในการตั้งชื่อให้เหมือนกันทั่วโลก โดยใช้ความเหมือน-ความแตกต่างของรหัสพันธุกรรม ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรในภาษาอังฤษ A, B, C, … และแตกแขนงเป็นตัวเลขต่อท้ายคล้ายกับตัวเลขเวอร์ชันของแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ

 

สังเกตว่าตัวเลขต่อท้ายจะมีเพียง 3 ลำดับย่อยเท่านั้น เช่น A.1.1.1 หากเกินกว่านั้นจะถูกตัดเป็นสายตัวอักษรตัวใหม่ เช่น A.1.1.1.1 จะกลายเป็น C.1 และ  A.1.1.1.2 จะกลายเป็น C.2 อันที่จริงรหัส AY ที่ได้ยินจากข่าวยังเป็นสายพันธุ์ย่อยของเดลตา (B.1.617.2) แต่ถ้าจุดต่อจะยาวเกินข้อตกลง จึงตั้งต้นใหม่เป็น AY เช่น ‘AY.1’ คือ ‘B.1.617.2.1’ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีถึง AY.95 แล้ว 

 

ส่วนรหัสที่ขึ้นต้นและปิดท้ายด้วยตัวอักษร เช่น E484K, N501Y ไม่ใช่รหัสสายพันธุ์ แต่เป็นชื่อตำแหน่งที่มีการกลายพันธุ์ ส่วนใหญ่ที่ได้ยินจากข่าวจะหมายถึงการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม เพราะเป็นส่วนที่ไวรัสใช้จับกับผิวเซลล์ของมนุษย์ (เปรียบเทียบเป็น ‘ลูกกุญแจ’ เสียบกับแม่กุญแจ) โดยตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นตัวย่อของชื่อกรดอะมิโน ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานที่จะประกอบเป็นโปรตีน 

 

ยกตัวอย่าง E484K หมายถึง ตำแหน่งที่ 484 เดิมเป็นกลูตามิก (Glutamic/E) ถูกแทนที่ด้วยไลซีน (Lysine/K) การกลายพันธุ์ตรงตำแหน่งนี้มีความสำคัญเพราะพบในสายพันธุ์เบตาและแกมมา ทำให้ไวรัสมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันและดื้อวัคซีน แต่ข้อเสียกลับเป็นข้อดีตรงที่ E484K อาจทำให้ไวรัสจับกับเซลล์ได้แย่ลง จึงระบาดได้ช้ากว่าเดลตา

 

ส่วน ‘พลัส’ ที่เติมท้ายชื่อสายพันธุ์น่าจะเป็นชื่อเรียกสายพันธุ์ย่อยให้เข้าใจง่าย เช่น สายพันธุ์เดลตาพลัส เดิมในเดือนมิถุนายน 2564 จะหมายถึงสายพันธุ์เดลตาที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง K417N แต่ต่อมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อังกฤษประกาศให้สายพันธุ์ AY.4.2 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องสอบสวน (Variants under Investigation: VUI) สื่อต่างประเทศก็เรียกสายพันธุ์นี้ว่าเดลตาพลัสเช่นกัน

 

สายพันธุ์ ‘พลัส’ น่ากังวลแค่ไหน

เวลาองค์การอนามัยโลกจะประกาศให้สายพันธุ์ใดเป็น ‘สายพันธุ์ที่น่ากังวล’ (ขอเรียกว่า ‘บัญชีสีแดง’) จะพิจารณาจากคุณสมบัติของไวรัส 3 ข้อ ได้แก่ 1. ความสามารถในการแพร่ระบาด 2. ความรุนแรงหรือทำให้มีอาการต่างไปจากเดิม และ 3. ผลกระทบต่อมาตรการป้องกันและควบคุมโรค เช่น ความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน (ดื้อวัคซีน) ดื้อยา หรือไม่สามารถตรวจพบด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อปกติ

 

อัลฟาพลัส หรือ Alpha+ (E484K) มีรายงานในประเทศไทย 18 ราย พบครั้งแรกในผู้ต้องขัง 2 รายที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 และต่อมาพบที่ล้งลำไยในจังหวัดจันทบุรีและตราด เป็นชาวไทย 4 ราย และกัมพูชา 12 ราย แต่สายพันธุ์นี้พบครั้งแรกในอังกฤษเมื่อปลายปี 2563 และพบการแพร่ระบาดในกัมพูชา จึงน่าจะเป็นสายพันธุ์นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน 

 

ถึงแม้การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง E484K จะทำให้ไวรัสดื้อต่อวัคซีน แต่ประวัติศาสตร์ (พูดเหมือนนาน) การต่อสู้ระหว่างสายพันธุ์อัลฟา ‘ปกติ’ กับ ‘พลัส’ ที่อังกฤษกลับพบว่าสายพันธุ์ปกติแพร่ระบาดได้เร็วกว่าจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในช่วงต้นปี 2564 ส่วนสายพันธุ์เบตาก็สู้สายพันธุ์อัลฟาไม่ได้เช่นกัน ทว่าสุดท้ายแล้วทั้งหมดนี้ก็ไม่สามารถต้านทานสายพันธุ์เดลตาในช่วงครึ่งปีหลังได้

 

เดลตาพลัสจึงน่าจับตามองมากกว่า อย่างที่เกริ่นไปว่าปัจจุบันสายพันธุ์เดลตาแตกแขนงเป็น AY.1 ถึง AY.95 แล้วสายพันธุ์ไหนที่น่ากังวล ถ้าตอบตามองค์การอนามัยโลกคือ ‘ยังไม่มี’ เพราะยังไม่มีการขึ้นบัญชีสายพันธุ์ย่อยใด โดยล่าสุดคือเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ประกาศให้สายพันธุ์มิว (B.1.621) ซึ่งพบครั้งแรกที่โคลอมเบียเป็น ‘สายพันธุ์ที่น่าสนใจ’ (ขอเรียกว่า ‘บัญชีสีเหลือง’)

 

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอังกฤษประกาศให้ AY.4.2 เป็น ‘สายพันธุ์ที่ต้องสอบสวน’ (เทียบเท่า ‘บัญชีสีเหลือง’) เพราะมีแนวโน้มที่จะระบาดเพิ่มขึ้น และผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ความสามารถในการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีอัตราการแพร่เชื้อในครอบครัว 12.4% (เทียบกับสายพันธุ์เดิม 11.1%) และความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีอัตราป่วยตาย 0.72% (เทียบกับสายพันธุ์เดิม 0.54%)

 

สายพันธุ์นี้พบการกลายพันธุ์ที่สำคัญคือ Y145H และ A222V แต่เนื่องจากทั้ง 2 ตำแหน่งนี้อยู่บริเวณปลายสาย ไม่ใช่บริเวณที่ไวรัสใช้จับกับตัวรับบนผิวเซลล์มนุษย์ (Receptor-Binding Domain) เปรียบเทียบเป็น ‘ลูกกุญแจ’ เหมือนเดิม แต่ไม่ใช่ส่วนที่เสียบเข้าไปในแม่กุญแจ นักไวรัสวิทยาบางท่านจึงคาดว่าอาจไม่มีผลมากนักต่อความสามารถในการแพร่ระบาดหรือการหลบภูมิคุ้มกัน

 

สำหรับประเทศไทยยังไม่พบสายพันธุ์นี้ แต่ ‘เดลตาพลัส’ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังอยู่คือสายพันธุ์ AY.1 เพราะมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง K417N เหมือนกับสายพันธุ์เบตา พบ 1 รายที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีประวัติทำงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค แต่สายพันธุ์นี้มีรายงานพบในต่างประเทศมาก่อน โดยเฉพาะในเนปาล จึงอาจเป็นสายพันธุ์นำเข้าเหมือนอัลฟาพลัส

 

ถ้าแต่หากสอบสวนโรคแล้วไม่พบความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อรายอื่น ก็อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลตาในประเทศที่มีการระบาดนานจนพบการกลายพันธุ์ตรงตำแหน่งดังกล่าว หากย้อนกลับไปที่อังกฤษ ซึ่งพบสายพันธุ์ AY.1 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 แต่ไม่มีการระบาดเพิ่มขึ้น โดยสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในขณะนี้คือ AY.4 (72%) รองลงมาเป็นสายพันธุ์เดลตาเดิม (11%)

 

สายพันธุ์หลักในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์อะไร

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา การระบาดในประเทศไทยแต่ละระลอกมีสายพันธุ์หลักแตกต่างกัน โดย

  • ระลอกแรก ที่สนามมวยและสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ เป็นสายพันธุ์ A.6 
  • ระลอกที่ 2 ที่ตลาดกลางกุ้งและโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นสายพันธุ์ B.1.36.16 
  • ระลอกที่ 3 ที่สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ เป็นสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7) 
  • ระลอกที่ 4 ที่แคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ เป็นสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2)

 

แล้วตอนนี้สายพันธุ์หลักในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์อะไร คำตอบขึ้นกับว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของไวรัสนำเสนอข้อมูลอย่างไร โดยข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 แบ่งสายพันธุ์ออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก คือ เดลตามีสัดส่วนมากที่สุด 98.7% รองลงมาเป็นเบตา 0.7% และอัลฟา 0.6% ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ดังนั้นสายพันธุ์เดลตาจึงยังคงเป็นสายพันธุ์หลัก แต่จากการแถลงข่าวของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 จะมีการจำแนกสายพันธุ์เดลตาออกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีก ซึ่งในประเทศไทยพบแล้ว 18 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ AY.30 พบมากที่สุด สอดคล้องกับข้อมูลในฐานข้อมูล GISAID ที่รายงานสัดส่วนของสายพันธุ์ในรอบ 60 วันที่ผ่านมาดังภาพที่ 1

 

ภาพที่ 1 สัดส่วนของสายพันธุ์ในช่วง 60 วันที่ผ่านมา และแนวโน้มรายเดือน

สายพันธุ์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือ AY.30 (สีน้ำเงินเข้ม 41%) 

รองลงมาเป็น B.1.617.2 (สีฟ้า 40%) และ AY.39 (สีส้ม 8%)

 

การกลายพันธุ์ของไวรัสอาจมองว่าเป็นการปรับตัวตามธรรมชาติ และเมื่อสายพันธุ์ใหม่สามารถปรับตัวได้ดีกว่า ก็จะสามารถชนะสายพันธุ์เดิมได้ เหมือนกับที่สายพันธุ์อัลฟาถูกแทนที่ด้วยเดลตา สำหรับสายพันธุ์ย่อย AY.30 และ AY.39 ยังคล้ายเดลตาเดิม เพราะไม่พบการกลายพันธุ์ที่เหมือนกับสายพันธุ์ที่น่าสนใจ/กังวลขององค์การอนามัยโลก เช่น K417N, L452R, E484K, N501Y, P681H 

 

ในขณะที่สายพันธุ์เบตา (B.1.351) เข้ามาในประเทศไทยหลังการระบาดระลอกที่ 3 ไล่เลี่ยกับสายพันธุ์เดลตา แต่การระบาดส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดน และปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มลดลงโดยในช่วง 3 สัปดาห์ย้อนหลังพบเป็นสัดส่วน 14.3%, 5.9% และ 2.3% หลังจากมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตามากขึ้น (เป็นสาเหตุให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงนี้)

 

โดยสรุปการเรียกชื่อไวรัสที่ได้ยินจากข่าวมี 2 ระบบคือ ชื่ออักษรกรีกขององค์การอนามัยโลก กับรหัสตามระบบ Pango ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการจำแนกสายพันธุ์ ‘เดลตาพลัส’ เป็นสายพันธุ์ย่อยของเดลตา (B.1.617.2) ซึ่งแตกแขนงเป็น AY.1 ถึง AY.95 ในประเทศไทยมีรายงาน 18 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่พบเป็นสัดส่วนมากที่สุดคือ AY.30 ซึ่งยังไม่มีตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่น่ากังวล

 

ส่วนสายพันธุ์ AY.1 ที่จังหวัดกำแพงเพชร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ความสนใจเพราะมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง K417N เหมือนกับสายพันธุ์เบตา แต่ยังพบแค่ 1 ราย (ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค) ในขณะที่สายพันธุ์ AY.4.2 ที่อังกฤษขึ้นบัญชีสายพันธุ์ที่ต้องสอบสวน เพราะมีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น มีการกลายพันธุ์ที่สำคัญ 2 ตำแหน่ง ยังไม่มีรายงานในประเทศไทย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X