สำหรับแฟนบอลที่ติดตามเกมลูกหนังมาสักระยะอาจไม่รู้สึกแปลกหูเมื่อเอ่ยชื่อของโคเวนทรี ซิตี้ หรือลูตัน ทาวน์
แต่สำหรับแฟนบอลรุ่นเก่าที่ติดตามมายาวนานเกินกว่า 30 ปี ชื่อของสองสโมสรนี้ทำให้พวกเขายิ้มที่มุมปาก
ในอดีต โคเวนทรีและลูตันเคยเป็นทีมในระดับลีกสูงสุดของอังกฤษมาก่อน และในยุค 80 พวกเขาเคยอยู่ในช่วงเวลาที่ดีในระดับที่ต่างผลัดกันเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยที่เวมบลีย์คนละปีเลยทีเดียว
โดย The Sky Blues (สมญาของโคเวนทรี) เคยเข้าชิงและคว้าแชมป์เอฟเอคัพในปี 1987 ส่วนลูตัน หรือ ‘The Hatters’ คว้าแชมป์ลีกคัพได้ด้วยการล้มอาร์เซนอลแบบสุดมัน 3-2!
เพียงแต่ช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่ของพวกเขามันผ่านไปนานแล้ว ทั้งสองสโมสรห่างหายจากฟุตบอลในระดับสูงสุดมายาวนาน นานมากพอที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีความทรงจำใดๆ ของพวกเขาหลงเหลืออยู่ จนมีคำถามจากเด็กน้อยในกอง THE STANDARD ถึงสมญาภาษาไทยของโคเวนทรีว่า ‘ช้างกระทืบโรง’ (ซึ่งเป็นสมญาที่นักข่าวรุ่นก่อนตั้งให้จริงๆ!)
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งโคเวนทรีและลูตันไม่มีเรื่องราวใดๆ ในทางตรงกันข้าม ช่วงชีวิตที่ผ่านมาของทั้งสองทีมต้องผ่านเรื่องราวที่โหดร้ายมาอย่างหนักหน่วง จนเหมือนรันทดกันเลยทีเดียว
และนั่นทำให้เกมเพลย์ออฟเดอะแชมเปียนชิป เพื่อชิงตั๋วใบสุดท้ายที่จะได้กลับคืนสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งในค่ำคืนนี้เป็นเกมที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับทั้งสองสโมสร
เกมเพลย์ออฟที่ว่ากันว่า ‘โรแมนติกที่สุด’ และในเวลาเดียวกันก็มีมูลค่ามากมายที่สุดด้วย เพราะใครเป็นผู้ชนะหมายถึงการจะได้รับเงินมหาศาลอย่างน้อย 170 ล้านปอนด์ในอีกช่วง 3 ฤดูกาลข้างหน้า
แต่ก่อนจะไปไกล การที่ทั้งสองทีมเดินมาถึงจุดนี้ได้นั้น หากมองย้อนกลับไปในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาลที่ผ่านมาแล้วก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายอย่างมาก
โคเวนทรีในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาลด้วยการเป็นทีมบ๊วยของลีก พวกเขาต้องเลื่อนการแข่งออกไป 4 นัด เพราะสภาพสนามไม่พร้อมสำหรับการแข่งขัน
ในขณะที่ลูตันนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทีม เมื่อ นาธาน โจนส์ ผู้จัดการทีมตัดสินใจอำลาทีมเป็นคำรบที่ 2 ทำให้ต้องไปคว้าเอา ร็อบ เอ็ดเวิร์ดส์ อดีตผู้จัดการทีมคู่แข่งอย่างวัตฟอร์ด ที่โดนปลดตั้งแต่ 10 นัดแรกของฤดูกาลมาแทน
แต่หากจะย้อนเรื่องราวไปให้ไกลกว่านั้น ลูตันคือทีมที่ไม่เคยสัมผัสกับพรีเมียร์ลีกเลยสักครั้ง
นั่นเพราะพวกเขาตกชั้นในฤดูกาล 1991/92 ซึ่งเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่ใช้ชื่อว่าดิวิชัน 1 ก่อนที่จะมีการแยกตัวพรีเมียร์ลีกออกมาเป็นลีกสูงสุดของฤดูกาลในปี 1992 โดยที่หลังจากนั้นเป็นต้นมาเส้นทางของพวกเขาก็มีแต่จะตกต่ำลง
จุดต่ำสุดของลูตันนั้นลงไปได้ถึงการตกชั้นจากระดับฟุตบอลลีก (EFL) หรือลีกฟุตบอลอาชีพ ต้องไปเล่นในระดับสมัครเล่นอย่างเนชันนัลลีกแทนในปี 2009 โดยในฤดูกาลนั้นพวกเขาถูกลงโทษจากการทำผิดกฎของฟุตบอลลีก ทำให้ต้องโดนตัดแต้มถึง 30 แต้ม และทำให้ไม่รอดจากการตกชั้น
พวกเขาต้องใช้เวลาถึง 5 ปีเพื่อที่จะไต่เต้ากลับมาสู่ระดับฟุตบอลลีกอีกครั้ง โดยได้ จอห์น สติลล์ ผู้จัดการทีมในช่วงเวลานั้น ช่วยกอบกู้ทีมกลับมาได้ และทำให้ยังคงเป็นที่รักของแฟนฟุตบอล The Hatters อยู่จนถึงทุกวันนี้
อีกคนที่เป็นที่รักของแฟนบอลเช่นกันก็คือ นาธาน โจนส์ ที่เคยนำทีมเลื่อนชั้นติดต่อกัน 2 ครั้งในปี 2018 และ 2019 จนทำให้ทีมกลับมาสู่ระดับแชมเปียนชิป ก่อนจะย้ายไปสโต๊ก ซิตี้ ในเวลาต่อมา และเมื่อกลับมาเป็นรอบที่ 2 ก็สร้างลูตันให้เป็นทีมที่พอมีลุ้นจะเลื่อนชั้นได้อีกครั้ง เขาก็เลือกย้ายไปเซาแธมป์ตันในระดับพรีเมียร์ลีกแทนในช่วงต้นฤดูกาล
ก่อนที่เอ็ดเวิร์ดส์จะเข้ามารับตำแหน่ง และพาลูตันบินสูงได้ด้วยการคว้าชัยชนะถึง 16 นัด แพ้แค่เกมเดียวจาก 31 นัดที่ทำหน้าที่ จบฤดูกาลด้วยการเป็นทีมอันดับ 3 ของแชมเปียนชิป และล้มซันเดอร์แลนด์ได้อย่างสุดสะใจในเกมเพลย์ออฟ รอบรองชนะเลิศ ที่เวมบลีย์
เพียงแต่คนที่สมควรได้รับเครดิตมากที่สุดในวันนี้ของลูตันอาจเป็น แกรี สวีต ผู้อำนวยการสโมสร และ มิค ฮาร์ฟอร์ด ผู้เป็นทุกอย่างของลูตัน ตั้งแต่เป็นแฟนบอล เป็นอดีตศูนย์หน้าขวัญใจของทีม เป็นโค้ช เป็นผู้จัดการทีม เป็นรักษาการผู้จัดการทีม และจนถึงตอนนี้ก็ยังทำงานในทีมแผนกจัดหาผู้เล่น
แน่นอน แฟนฟุตบอลของลูตันที่ไม่เคยทิ้งทีมไปไหน ไม่ว่าจะตกทุกข์ได้ยากอย่างไรก็มีส่วนด้วยเช่นกันในวันนี้ของสโมสร ที่นอกจากจะตกไปอยู่นอกลีกแล้ว ยังเคยประสบปัญหาทางการเงินถึงขั้นใกล้ล้มละลายเลยทีเดียว
โดยที่หากได้กลับขึ้นสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง เม็ดเงินที่ได้จะถูกนำมาใช้เพื่อการปรับปรุงสโมสร โดยเฉพาะการปรับปรุงสนามเคนิลเวิร์ธโรด รังเหย้าของพวกเขาที่เก่าแก่และทรุดโทรม ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินปรับปรุงอย่างน้อย 10 ล้านปอนด์ เพื่อให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกับพรีเมียร์ลีก
แต่จะเท่าไรก็เถอะ ขอให้ได้ขึ้นชั้นก่อน จ่ายแน่นอน! คือสิ่งที่ลูตัน ทาวน์ คิด
ส่วนโคเวนทรี ซิตี้ พวกเขาก็ผ่านชีวิตและช่วงเวลาที่เลวร้ายเช่นกัน โดยหลังจากที่อยู่ในพรีเมียร์ลีกมาได้ยาวนานพอสมควร แต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้องตกชั้นในปี 2001 หยุดสถิติการอยู่ในลีกสูงสุดที่ยาวนานไว้ได้แค่ 34 ปี
22 ปีหลังจากนั้น Sky Blues ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากอยู่ไม่น้อยในลีกระดับรองลงมา
เริ่มตั้งแต่การต้องไปจากรังเหย้าอันเป็นที่รักที่อยู่มานานกว่า 106 ปีอย่างไฮฟิลด์โรดเกือบล้มละลาย ไปไกลถึงการตกอยู่ในระดับลีกทู หรือดิวิชัน 4 เดิมของอังกฤษ เป็นครั้งแรกในรอบ 58 ปี ซึ่งก็มาจากเหตุผลเดียวกันกับที่ลูตันเจอคือ การทำผิดกฎของฟุตบอลลีกในเรื่องของการเงิน ซึ่งไม่มีใครอยากทำผิด เพียงแต่ช่วงเวลานั้นแทบทุกสโมสรประสบปัญหาทางการเงินทั้งสิ้น
และเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โคเวนทรีก็ยังอยู่ในลีกระดับที่ 6 ของฟุตบอลอังกฤษอยู่เลย ซึ่งสำหรับทีมที่เคยมีนักเตะดาวดังอย่าง กอร์ดอน สตรัคคัน, ดิออน ดับลิน, ฟิล บาบบ์, จอห์น ซาลาโก และเคยมีผู้จัดการทีมดังอย่าง รอน แอตกินสัน จึงเป็นเรื่องที่ทำใจยอมรับลำบากอยู่เหมือนกัน
แต่ทุกอย่างมาเริ่มดีขึ้นภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของใหม่ โดยที่สโมสรวางแผนระยะยาว 5 ปีเพื่อที่จะกลับมาสู่จุดที่เคยอยู่อีกครั้ง ซึ่งทุกฝ่ายของสโมสรรวมถึงแฟนบอลเอง ก็ร่วมแรงร่วมใจที่จะพาโคเวนทรีกลับมาให้ได้
มาร์ก โรบินส์ อดีตนักเตะของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุค 90 ซึ่งรับงานคุมทีมโคเวนทรีมาตั้งแต่ปี 2017 บอกถึงเกมนี้ว่า “ผู้คนพูดถึงเรื่องราวการเดินทางของพวกเราทั้งสองสโมสรว่ามาจากจุดไหน เกมนี้จึงเป็นหนึ่งในเกมที่โรแมนติกที่สุด”
แต่เหนือกว่าความโรแมนติกคือเรื่องของธุรกิจ ที่หากใครก็ตามที่เป็นผู้ชนะในเกมที่เวมบลีย์ ซึ่งจะลงสนามในเวลา 22.45 น. คืนนี้ ทีมนั้นมีโอกาสที่จะได้รับเงินมากถึง 170 ล้านปอนด์ในช่วงเวลา 3 ฤดูกาลข้างหน้า ตามการคำนวณของ Deloitte
ถ้าหากอยู่รอดปลอดภัยได้อีก ก็มีโอกาสที่จะได้เงินถึง 265 ล้านปอนด์ในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
ดังนั้นในเกมที่โรแมนติกที่สุดนัดนี้ จะมีเพียงฝ่ายเดียวที่ได้สมหวังกับ ‘เทพนิยาย’ ของพวกเขา ส่วนอีกฝ่ายจะไม่ได้อะไรเลย
นี่คืออีกด้านของความโรแมนติกในเกมฟุตบอล แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังรักเรื่องราวของมันอยู่ดี
อ้างอิง:
- https://www.abc.net.au/news/2023-05-26/luton-town-coventry-city-championship-playoff-final-kenilworth/102371380
- https://www.bbc.com/sport/football/65654937