×

ประธานศาลรัฐธรรมนูญย้ำบทบาทศาลทำหน้าที่ตามกฎหมาย ปัดเป็นนิติสงคราม ขอไม่พูดเรื่องคดีคลิปเสียงนายกฯ

โดย THE STANDARD TEAM
14.07.2025
  • LOADING...
ศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (14 กรกฎาคม) ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีมีรายงานว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีคลิปเสียงสนทนากับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาของกัมพูชา ที่ขอขยายเวลาชี้แจงไปอีก 15 วัน 

 

นครินทร์ระบุว่า ยังไม่เห็นคำร้องขอขยายเวลาดังกล่าว ซึ่งหากมีการขอขยายเวลาก็เป็นสิทธิของผู้ถูกร้องที่สามารถทำได้ ส่วนจะขยายเวลาได้กี่ครั้งนั้นจะหารือกันอีกครั้งในองค์คณะตุลาการ แต่อย่างน้อยขยายเวลา 1 รอบ สามารถทำได้อยู่แล้ว

 

เมื่อสื่อมวลชนถามต่อไปคดีคลิปเสียงดังกล่าว นครินทร์กล่าวว่า “ผมขออนุญาตไม่พูดเรื่องคดีความ ขอสื่อมวลชนให้ความเคารพซึ่งกันและกัน บางอย่างที่เกี่ยวกับคดีความ ผมขออนุญาตไม่พูด”

 

สื่อมวลชนพยายามถามอีกว่า สำหรับกรอบเวลาในการพิจารณาคดีพอจะเปิดเผยได้หรือไม่ ขอไม่พูด เดี๋ยวจะถูกมองว่า ไปเร่งหรือไปถ่วงคดีความ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการดีกว่า

 

คดีรัฐธรรมนูญมีหลายที่มา ไม่ใช่แค่ ‘คดีการเมือง’

 

นครินทร์ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงผลการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญตลอดปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า จะเรียกว่าเราเป็นศาลการเมืองก็ไม่ถูก เราเป็นศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับคดีรัฐธรรมนูญเท่านั้น อยากให้ผู้สื่อข่าวและประชาชนทำความเข้าใจว่า คดีรัฐธรรมนูญคือเรื่องข้อพิพาท ทะเลาะเบาะแว้ง ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ

 

ประธานศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่า คดีดังกล่าวมีที่มาจากหลายทาง กว่าครึ่งหนึ่งคดีที่มาจากศาลด้วยกันเองที่มองว่ามีข้อกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลปกครอง ศาลอาญา เป็นต้น ซึ่งมองว่า ผู้สื่อข่าวไม่ค่อยให้ความสนใจ และยังมีคดีอีกประเภทที่เพิ่มขึ้นมารัฐธรรมนูญ ปี 2560 คือคดีที่ประชาชนสามารถมาร้องทุกข์เองได้ ซึ่งนานทีจะมีมา สัปดาห์ละ 3-4 คดี

 

“อีกประเภทคือคดีที่มาจากองค์กรอิสระด้วยกัน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคดีที่มาจากสมาชิกรัฐสภา คือคดีที่ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องรับคดีที่ประชาชนทั่วไปจะเรียกว่า คดีการเมือง แต่ส่วนตัวขอเรียกว่า คดีรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” นครินทร์กล่าว

 

สำหรับข้อเสนอว่าควรมีโฆษกศาลรัฐธรรมนูญนั้น นครินทร์ระบุว่า ก็พยายามปรับตัว หน้าที่โฆษกก็ได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แต่เผอิญว่าช่วงนี้ล้มป่วย และมีรองเลขาธิการฯ รักษาการอยู่ อย่างไรก็ตาม เลขาธิการหรือรองเลขาธิการฯ อยู่ แต่ความสามารถด้านการสื่อสารกับสื่อมวลชนอาจจะยังน้อยไปสักนิดหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม นครินทร์ยืนยันว่า ตนเองในฐานะประธาน หรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็ไม่ควรเป็นโฆษกศาลด้วยตนเอง ที่มาแถลงข่าวนี้ก็เพราะเป็นภารกิจปีละครั้งที่ได้พบสื่อมวลชน แต่ต้องขอความระมัดระวัง ว่าประธานหรือตุลาการไม่ควรแถลงข่าวด้วยตนเอง ควรจะมีโฆษกแยกไปต่างหาก

 

ปฏิรูปศาลต้องเริ่มจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

 

ส่วนข้อเสนอให้มีการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญนั้น นครินทร์ชี้ว่า การปฏิรูปศาลที่สำคัญต้องทำจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ศาลเราปฏิรูปตัวเองไม่ได้ และอีกส่วนอาจจะเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยที่กระทำโดยองค์กรของศาลเอง ที่จะมอบหมายให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ ยกตัวอย่างเรื่องเอกสารข่าว หรือ Press Release ของศาล ถ้าติดตามจะเห็นว่า ปัจจุบันละเอียดขึ้นมาก มีการระบุว่าตุลาการเสียงข้างน้อยหรือเสียงข้างมากเป็นใคร ทุกอย่างชัดเจน เปิดเผย 

 

“เราจะพยายามทำให้ละเอียด แต่ต้องบอกก่อนว่า ในคณะตุลาการก็มีที่มาจากสายศาล เช่น ศาลฎีกา ศาลปกครอง หลายท่านก็บอกว่า การทำเอกสารข่าวขนาดยาวมากไม่ใช่ขนบธรรมเนียมของศาล ซึ่งก็เป็นข้อขัดข้อง ในขณะที่สายที่มาจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็คิดว่าเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ ก็จะให้ข้อมูลทางกฎหมายมากขึ้น” นครินทร์กล่าว

 

ประธานศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่า การเปิดเผยเสียงแต่ละฝ่ายของตุลาการนั้น เป็นดาบสองคม และทราบดีว่า การเปิดเผยชื่อไปก็เป็นดาบสองคม แต่ศาลของเราวางกติกามาแบบนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และฉบับปี 2560 ก็รับกติกานี้มา ที่ตุลาการทุกคนต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนและต้องเปิดเผย ซึ่งก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ได้ ดังนั้น ตุลาการแต่ละคนก็ต้องระมัดระวังความปลอดภัยของแต่ละบุคคล

 

ไม่ใช่นิติสงคราม ศาลทำตามอำนาจหน้าที่

 

สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่า เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง นครินทร์กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะผู้ร้องเข้ามาก็มีฝักฝ่าย คดีรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ 2 ฝ่ายขัดแย้งกันอยู่เสมอ ถ้าเห็นตรงกันก็จะไม่มีเรื่องร้องเข้ามาที่ศาลรัฐธรรมนูญ

 

ส่วนคำว่านิติสงคราม ประธานศาลรัฐธรรมนูญมองว่า เป็นคำที่พูดกันในสื่อมวลชน แต่เราไม่ได้คิดว่าเป็นนิติสงคราม เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจและหน้าที่พิจารณาคดีรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากหลายทาง และแต่ละคดีมีที่มาตามกฎหมายกำหนดไว้

 

“ศาลก็มีกระบวนการพิจารณา ต้องฟังความเห็นทุกฝ่าย มีขั้นตอนการชี้แจงต่างๆ อีกมากมาย เราก็ต้องทำงานตามขั้นตอน ไม่ใช่การตัดสินด้วยอารมณ์ เราก็ต้องว่ากันตามกฎกติกา” นครินทร์กล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising