×

เปิดคำพิพากษา ‘CAS’ ปล่อย ‘แมนฯ ซิตี้’ ให้ลอยนวลไปเพราะอะไร?

29.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • สิ่งที่ค้างคาใจคนในวงการฟุตบอลอย่างมากในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือการที่อนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) ตัดสินยกโทษให้แมนฯ ซิตี้ หลังยูฟ่าสั่งแบนห้ามแข่งฟุตบอลยุโรป 2 ปี
  • จุดบอดจริงๆ ของการดำเนินคดีครั้งนี้คือเรื่องของหลักฐานประกอบของยูฟ่าที่ยังไม่แน่นหนาพอจะมัดตัวผู้กระทำผิดได้​ ซึ่งการที่ไม่สามารถหาหลักฐานเพิ่มได้มาจากการปฏิเสธจะให้ความร่วมมือในการสอบสวนของแมนฯ ซิตี้
  • จุดที่น่าสังเกตคือในคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งมีทั้งสิ้น 3 ท่านนั้น ปกติแล้ว CAS จะเป็นฝ่ายเลือกประธานของคณะเอง แต่ในกรณีนี้ปรากฏว่าประธานในคณะเป็นชื่อที่ทางแมนฯ ซิตี้ เสนอ

หลังจากที่อนุญาโตตุลาการกีฬา (Court of Arbitration หรือ CAS) ได้ตัดสิน ‘ยกโทษ’ ให้แก่ทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยการไม่ต้องถูกลงโทษห้ามเข้าร่วมการแข่งขันในรายการฟุตบอลสโมสรยุโรปของยูฟ่าเป็นเวลา 2 ปี โดยเหลือบทลงโทษแค่การปรับเงินจำนวน 10 ล้านยูโรฐานไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน การตัดสินครั้งนี้ได้นำไปสู่การถกเถียงอย่างมากถึงอนาคตของวงการฟุตบอลว่าจะอยู่กันอย่างไรหลังจากนี้

 

ในเมื่อ ‘ความหวัง’ ที่จะใช้เพื่อควบคุมพลังของสโมสรที่มีอำนาจทางการเงินมากมายมหาศาลอย่างกฎ Financial Fair Play (FFP) ที่สุดแล้วไม่สามารถจะช่วยปกป้องโลกฟุตบอลได้อย่างที่ควรจะเป็น และการตัดสินของ CAS กำลังจะเปิดทางให้สโมสรเหล่านั้น – ซึ่งความจริงบนโลกใบนี้สโมสรที่เข้าข่ายจริงๆ เหลือแค่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และปารีส แซงต์ แชร์กแมง – ทำตามอำเภอใจหรือไม่

 

แล้วสโมสรที่พยายามอย่างมากในการทำตามกฎ FFP เพื่อจะเล่นตามเกมและกติกาที่ควรจะเป็นไป พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร

 

คำถามเหล่านี้ค้างคาใจมาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 สัปดาห์นับตั้งแต่ที่ CAS ประกาศคำตัดสินออกมา จนกระทั่งเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา (28 กรกฎาคม) สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้ารออย่างคำแถลงฉบับเต็มเกี่ยวกับคดีนี้ก็ได้ถูกเผยแพร่ออกมา

 

เอกสารความยาว 93 หน้าที่ทางด้าน CAS ได้เผยแพร่ออกมาได้เฉลยสิ่งที่หลายคนสงสัยให้กระจ่างแจ้ง 

 

ว่าตกลงแล้วแมนฯ ซิตี้ ถูกปล่อยให้ลอยนวลได้อย่างไร

 

แต่ก่อนอื่นต้องบิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ยูฟ่าได้ประกาศบทลงโทษต่อสโมสรดังจากแมนเชสเตอร์สถานหนักที่สุดด้วยการลงโทษแบนห้ามเข้าร่วมการแข่งในรายการของยูฟ่า (ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และยูฟ่ายูโรปาลีก) เป็นระยะเวลา 2 ปีด้วยกัน

 

ทางด้านยูฟ่าโดยคณะกรรมการควบคุมการเงินสโมสรฟุตบอล (Club Financial Control Body (CFCB) ตัดสินลงโทษหลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนพบหลักฐานว่าแมนฯ ซิตี้ ในนามดิ อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป (Abu Dhabi United Group หรือ ADUG) มีการปลอมแปลงหลักฐานทางการเงินในเรื่องของรายรับของสโมสรที่ได้รับผ่านสายการบินเอทิฮัด (Etihad) และเอติซาลัท (Etisalat) บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในกาตาร์ในช่วงปี 2012 และ 2013 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 15 ล้านปอนด์ต่อปี

 

กล่าวให้เข้าใจง่ายคือมีการ ‘อัดฉีด’ เงินเข้าระบบแบบไม่ปกติ ถ่ายเทจากกระเป๋าซ้ายสู่กระเป๋าขวา เพื่อให้รอดตัวไม่ผิดต่อกฎ FFP

 

เพียงแต่หลักฐานที่ทางด้าน CFCB ได้นั้นมาจากอีเมลที่ รุย ปินโต แฮกเกอร์ที่ต่อมากลายเป็นตำนานของวงการฟุตบอลในนาม Football Leaks ที่เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลมากมายที่เกิดขึ้นในโลกลูกหนัง 

 

เรื่องนี้ทางด้านแมนฯ ซิตี้โต้แย้งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

 

มากกว่านั้นคือการโจมตีประธานคณะกรรมการในการสอบสวนอย่าง อีฟส์ เลอแตร์ม ด้วยอย่างรุนแรงว่ามีอคติในการทำหน้าที่ มีธงนำหน้าในการต้องการจะเอาผิดกับพวกเขาให้ได้ ก่อนที่แมนฯ ซิตี้ได้เดินหน้าในการยื่นอุทธรณ์ต่อทาง CAS เพื่อต่อสู้ในคดีนี้ และยืนยันอย่างหนักแน่นว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดในเรื่องนี้แม้แต่น้อย

 


 

Timeline กรณีการทำผิดกฎ FFP ของแมนฯ ซิตี้

 

พ.ค. 2014: แมนฯ ซิตี้ ถูกปรับ 49 ล้านปอนด์จากยูฟ่าฐานกระทำผิดกฎ FFP และถูกลดจำนวนผู้เล่นที่เล่นในแชมเปียนส์​ลีกเหลือ 21 คนในฤดูกาล 2014-15

พ.ย. 2018: Der Spiegel เผยแพร่เอกสารและอีเมลจาก Football Leaks ที่เปิดเผยว่าแมนฯ ซิตี้ได้ทำการมิชอบเกี่ยวกับหลักฐานทางการเงินเพื่อให้ผ่านกฎ FFP

7 มี.ค. 2019: ยูฟ่าประกาศว่าจะทำการสอบสวนในเรื่องนี้ หลังสื่อมีการเผยแพร่อย่างหนัก

8 มี.ค. 2019: พรีเมียร์ลีกยืนยันว่าจะทำการสอบสวนเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

16 พ.ค. 2019: คณะกรรมการควบคุมการเงินสโมสร (CFCB) ตั้งคณะสอบสวนอิสระเพื่อพิจารณาคดีนี้

6 มิ.ย. 2019: แมนฯ ซิตี้ร้องขอต่อ CAS ให้ยกเลิกการดำเนินคดีจากยูฟ่าที่มีต่อพวกเขา

16 พ.ย. 2019: คำร้องของแมนฯ ซิตี้ไม่ได้รับการตอบสนองจาก CAS ยูฟ่าดำเนินคดีต่อ

14 ก.พ. 2020: ยูฟ่าแบนแมนฯ ซิตี้ไม่ให้ลงแข่งในรายการยุโรป 2 ปี พร้อมปรับเงิน 30 ล้านยูโรฐานกระทำผิดอย่างร้ายแรงต่อกฎ FFP และใบอนุญาตสโมสรของยูฟ่า ทางด้านแมนฯ ซิตี้ประกาศจะยื่นอุทธรณ์ต่อ CAS

8-10 มิ.ย.: แมนฯ ซิตี้ให้การต่อ CAS

13 ก.ค.: CAS ยกเลิกโทษแบนของแมนฯ ซิตี้ และลดค่าปรับจาก 30 ล้านยูโรเหลือ 10 ล้านยูโร โดยระบุว่าแมนฯ ซิตี้ไม่ได้ปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับเงินสปอนเซอร์ แต่ผิดฐานไม่ให้ความร่วมมือกับ CFCB ในการสอบสวนคดี


 

อย่างไรก็ดีจากคำแถลงฉบับเต็มของ CAS นั้นดูเหมือนพวกเขาจะห่างไกลจากคำกล่าวอ้างและความเชื่อที่พวกเขายืนยันว่าฝ่ายตน ‘บริสุทธิ์’ 

 

ในการตัดสินคำอุทธรณ์โดยคณะอนุญาโตตุลาการกีฬาซึ่งมีทั้งหมด 3 ท่าน ผลคือ 2 ต่อ 1 ให้แมนฯ ซิตี้เป็นฝ่ายชนะในการอุทธรณ์

 

เพียงแต่สิ่งที่ทำให้พวกเขารอดตัวได้นั้นไม่ได้เกิดจากการยื่นหลักฐานไปโต้แย้งในสิ่งที่คณะกรรมการ CFCB ใช้ประกอบอ้างพิจารณาบทลงโทษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์แต่อย่างใด

 

สิ่งที่ซิตี้ชนะอุทธรณ์เกิดจากการที่ CFCB กล่าวโทษในประเด็นสำคัญคือเรื่องของการจ่ายเงินสนับสนุนจากเอติซาลัท ซึ่ง ‘ไม่ได้จ่ายเงินในปี 2012 และ 2013’ แต่ในปี 2014 กลับมีการแจงตัวเลขว่าได้รับเงินเพื่อให้ผ่านเงื่อนไขในกฎ FFP ซึ่ง CAS มองว่า ‘การกระทำผิด’ ใดๆ ก็ตามนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2014 ซึ่งทางคณะกรรมการสอบสวนตัดสินว่ากระทำผิด

 

CAS มองว่าการกระทำผิดนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2012 และ 2013 และยึดตามกฎที่ทางด้าน CFCB เขียนเอาไว้ว่าการกระทำผิดใดๆ จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 5 ปี

 

ดังนั้น แม้หลักฐานต่างๆ ที่ Football Leaks เผยแพร่ผ่านเครือข่ายสื่อ – ซึ่งในกรณีของแมนฯ ซิตี้ เผยแพร่ผ่านนิตยสาร Der Spiegel ในประเทศเยอรมนี – จะเกิดขึ้นในปี 2018 และนำไปสู่การสอบสวนของทางด้าน CFCB แต่ด้วยกรอบระยะเวลาแล้ว การที่ CFCB ตัดสินใจดำเนินคดีและมีบทลงโทษในปี 2019 นั้นเกินระยะเวลาตามกฎ

 

กล่าวง่ายๆ แบบที่มีคนคิดก่อนหน้านี้คือ CAS มองว่าคดีนี้ ‘หมดอายุความ’

 

อย่างไรก็ดี ในคำชี้แจงฉบับเต็มทางด้าน CAS ระบุชัดว่าเรื่องนี้ยังมีผลบังคับทางกฎหมายอยู่ และแมนฯ ซิตี้มีโอกาสที่จะหลุดพ้นคดีได้เร็วกว่านี้โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าปรับด้วยหากให้ความร่วมมือกับทางด้านยูฟ่า

 

สิ่งที่เป็นจุดบอดจริงๆ ของการดำเนินคดีครั้งนี้คือเรื่องของหลักฐานที่ยังไม่แน่นหนาพอจะมัดตัวได้

 

ประกอบกับการที่แมนฯ ซิตี้ ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือในการสอบสวนด้วยการไม่มอบหลักฐานอีเมลหรือเอกสารต่างๆ ที่ทางด้าน CFCB ร้องขอ รวมถึงการปฏิเสธที่จะให้ผู้บริหารของสโมสรให้การในฐานะพยาน เพราะเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากยูฟ่า ทำให้ยูฟ่าไม่สามารถหาหลักฐานที่แน่นหนาขึ้นได้

 

เรื่องการปฏิเสธให้ความร่วมมือนี้ CAS ชี้ว่าเป็นความผิดอย่างยิ่งที่มองข้ามและไม่ให้ความสำคัญอย่างรุนแรง และควร ‘ละอาย’ จากการที่ไม่ให้ความร่วมมือกับยูฟ่าในการสอบสวน

 

แม้ในภายหลังทางสโมสรอังกฤษจะให้ความร่วมมือกับทาง CAS มากขึ้นโดยได้หลักฐานเพิ่มเติมจาก ไซมอน เพียร์ซ ผู้อำนวยการสโมสร, เจมส์ โฮแกน อดีตซีดีโอสายการบินเอทิฮัด และคนอื่นๆ แต่เมื่อสิ่งที่กล่าวหาในเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินของเอติซาลัทนั้นเลยระยะเวลาที่กำหนดทางด้าน CAS จึงพิจารณาว่าหลักฐานต่างๆ ที่ CFCB นำมาใช้ประกอบนั้น ‘ไม่มีน้ำหนักมากพอ’

 

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แมนฯ ซิตี้รอดตัวไปในครั้งนี้ โดย CAS ยังลดโทษปรับจาก 30 ล้านยูโรเหลือ 10 ล้านยูโรอีกด้วย

 

อย่างไรก็ดี มีจุดที่น่าสังเกตคือในคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งมีทั้งสิ้น 3 ท่านนั้น ตามกฎในการอุทธรณ์ของ CAS จะให้คู่กรณีเสนอชื่ออนุญาโตตุลาการได้ฝ่ายละ 1 ท่าน ‘ซึ่งจะต้องไม่มีความเกี่ยวพันกับคู่กรณี’ และทางด้าน CAS จะเป็นฝ่ายเลือกประธานของคณะเอง

 

แต่ในกรณีนี้ปรากฏว่าประธานในคณะคือ รุย โบติกา ซานโต นักกฎหมายชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นชื่อที่ทางแมนฯ ซิตี้เสนอ

 

เรื่องนี้ CAS ไม่ได้ชี้แจงว่าทำไมคู่กรณีจึงเป็นฝ่ายเสนอชื่อประธานคณะ และน่าสนใจว่าทางด้านยูฟ่าเองก็ไม่ได้คัดค้านในเรื่องนี้ด้วยแต่อย่างใด

 

อีกจุดที่น่าสนใจที่เหล่านักกฎหมายกีฬาตั้งข้อสงสัยคือ อีกหนึ่งในคณะที่ทำการตัดสินของ CAS ปรากฏชื่อ แอนดรูว์ แมคดูกัลล์ ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของบริษัทกฎหมาย White and Case ที่ประกอบการในตะวันออกกลางและแอฟริกาในช่วงปี 2016-2018 และยังมีออฟฟิศอยู่ในอาบูดาบี ซึ่งหนึ่งในลูกค้าคือเอติซาลัทและสายการบินเอทิฮัด ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้

 

แม้แมนฯ ซิตี้ จะให้เหตุผลในการเสนอชื่อแมคดูกัลล์ ว่าเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง แต่จากปูมหลังแล้วนั่นเป็นการผิดต่อหลักการที่ห้ามอนุญาโตตุลาการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่กรณีหรือไม่

 

และนั่นหมายถึงการที่แมนฯ ซิตี้ กุมเสียง 2 ใน 3 ของคณะอนุญาโตตุลาการหรือเปล่า

 

ขณะที่สิ่งที่น่าสนใจสุดท้ายคือการที่ CAS เปิดเผยชื่อของสโมสรที่มีการร่วมกันยื่นคำร้องคัดค้านการอุทธรณ์ของแมนฯ ซิตี้ ที่อย่างน้อยที่สุดต้องการชะลอการตัดสินคดีออกไปเพื่อให้คงสิทธิ์ในการลงเล่นในรายการสโมสรยุโรป – ซึ่งทีมเศรษฐีน้ำมันไม่ได้ทำการร้องขอเรื่องนี้แต่อย่างใด

 

เรื่องนี้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา เคยออกมาเหน็บว่ามีสโมสร 8 แห่งที่กระทำการอย่างลับๆ เพื่อขัดขวางพวกเขา แต่ในความจริงแล้วมีทั้งหมด 9 สโมสรด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วยอาร์เซนอล, เบิร์นลีย์, เชลซี, เลสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส

 

อย่างไรก็ดี แม้คราวนี้แมนฯ ซิตี้ รอดตัวได้ แต่นั่นก็อาจไม่ได้หมายความว่าพวกเขา ‘บริสุทธิ์ผุดผ่อง’ อย่างที่พยายามบอกกับทุกคน

 

เพราะจากการกระทำตลอดมาแล้ว ยากที่จะทำให้คนอื่นเชื่อหรือคล้อยตามเช่นนั้นได้จริงๆ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising