×

ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำ ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร

โดย THE STANDARD TEAM
15.02.2021
  • LOADING...
ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำ ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคำร้องที่ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยในคดี อ.286/2564 พร้อมด้วย พงษ์สิทธิ์ นาเมืองรักษ์ ทนายความของพริษฐ์, อานนท์ นำภา, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร จำเลยในคดี อ.287/2564 เดินทางมายื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของศาลอาญาในคดีที่กลุ่มจำเลยถูกพนักงานอัยการส่งฟ้องข้อหาตามความผิดมาตรา 112, มาตรา 116, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ป.อาญา มาตรา 215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน, กีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันกีดขวางการจราจร, ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย, ทำลายโบราณสถาน, ทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันโฆษณาเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวม 11 ข้อหา จากคดีการชุมนุมวันที่ 19-20 กันยายน  2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง

 

โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งในคำร้องทั้ง 3 สำนวน ประกอบด้วยสำนวน อ.286/2564 ที่มีพริษฐ์เป็นจำเลย สำนวนนี้ศาลให้เหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคล อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย 

 

นอกจากนี้ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยว่า ถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันในคดีอื่นอีก เมื่อพิจารณาประกอบคำคัดค้านของพนักงานอัยการโจทก์แล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้ว จำเลยอาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง

 

ส่วนสำนวนที่ 2 คือ สำนวนที่ 287/2564 ที่มี 2 คำสั่งในส่วน พริษฐ์, อานนท์ และสมยศ และสำนวนของปติวัฒน์ โดยทั้ง 3 สำนวน ศาลให้เหตุผลในทำนองเดียวกันสรุปว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยทั้งหมดปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน 

 

นอกจากนี้ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และ 2 ว่าถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในคดีอื่นอีก ส่วนจำเลยที่ 4 เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน อีกทั้งคดีนี้จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ถูกจับกุมตามหมายจับ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้ว จำเลยที่ 1, 2 และ 4 อาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1, 2 และ 4 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ในระหว่างพิจารณาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง  

 

ส่วนจำเลยที่ 3 คือ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน อีกทั้งคดีนี้จำเลยที่ 3 ถูกจับกุมตามหมายจับ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้ว จำเลยที่ 3 อาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 3 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 3 ในระหว่างพิจารณาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X