×

ศาลฯ สั่งกักขัง ‘อั๋ว จุฑาทิพย์’ 2 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ปมชุมนุม REDEM กักขังผู้ถูกกล่าวหาที่เหลืออีก 4 คน

โดย THE STANDARD TEAM
22.12.2021
  • LOADING...
อั๋ว จุฑาทิพย์

วันนี้ (22 ธันวาคม) ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดฟังคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาล ที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาตั้งเรื่องกล่าวหา ศุภกิจ บุญมหิทานนท์, วีรภาพ วงษ์สมาน, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ แนวร่วมกลุ่มเยาวชนปลดแอก (REDEM) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-5 ในความผิดฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31(1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 15

 

คำร้องระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ REDEM ได้ประกาศเชิญชวนมวลชนให้ไปทำกิจกรรมจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปศาลอาญา โดยนัดหมายเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเวลา 15.00 น. ถึงศาลอาญาเวลา 16.55 น. ซึ่งมีมวลชนประมาณ 300-350 คน

 

เมื่อมาถึง ผู้ชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงเปิดเสียงมีข้อความที่บันทึกไว้ก่อนแล้ว ด่าทอรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาอย่างต่อเนื่อง และมีการนำสิ่งของ เช่น มะเขือเทศ ไข่ไก่ และของเหลวสีแดง มาแจกจ่ายและชักชวนผู้ร่วมชุมนุมขว้างปาสิ่งของดังกล่าวใส่ป้ายศาลอาญาและบริเวณพื้นในศาลอาญา ทำให้ป้ายศาลอาญาและบริเวณพื้นในศาลอาญาสกปรกเปรอะเปื้อน ได้รับความเสียหาย

 

ต่อมาช่วงเวลาประมาณ 17.35 น. พ.ต.ท. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล (สน.) พหลโยธิน ได้ประกาศคำสั่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง การแพร่ระบาดของโรคโควิด แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมยังคงขว้างปาสิ่งของอย่างต่อเนื่อง 

 

ต่อมาเวลาประมาณ 17.40 น. พ.ต.อ. ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ประกาศให้ผู้ชุมนุมหยุดการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่กลับไม่หยุด จนกระทั่งเวลา 18.36 น. แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกกิจกรรมและยุติการชุมนุม ผู้ชุมนุมจึงทยอยออกจากพื้นที่บริเวณหน้าศาลอาญา แต่มีผู้ชุมนุมบางส่วนยังรวมกลุ่มกันที่บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 32 และขว้างปาประทัด ยิงพลุไฟ และยิงหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน 

 

ภายหลังตำรวจชุดสืบสวนได้สืบสวนทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-5 ได้ร่วมกระทำการอันไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณและรอบบริเวณศาลอาญา โดยนำสิ่งของประกอบด้วย มะเขือเทศ ไข่ไก่ ขวดน้ำบรรจุของเหลวสีแดง ขว้างปาข้ามรั้วเข้าไปในบริเวณศาลอาญา โดยสิ่งของดังกล่าวตกหล่นบนพื้นบริเวณลานจอดรถด้านในศาลอาญา ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวได้รับความสกปรกและมีกลิ่นคาวคละคลุ้งไปทั่วบริเวณพื้นที่หน้าศาลอาญา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-5 เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญาและกระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล พ.ศ. 2564 ฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564

 

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-5 ให้การปฏิเสธ โดยวันนี้ ศุภกิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, จุฑาทิพย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 กับพวกรวม 5 คน เดินทางมาฟังคำสั่งศาลพร้อมกับเพื่อนประมาณ 3-4 ราย ที่มาให้กำลังใจ

 

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-5 ฟังไม่ขึ้น จึงมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

 

ขณะกระทำความผิดผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อายุ 19 ปีเศษ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ 3 อายุ 18 ปีเศษ เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คงจำคุกคนละ 2 เดือน และให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และที่ 5 คนละ 3 เดือน ปรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จำนวน 480 บาท ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 นำสืบรับข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 คนละ 40 วัน คงจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และ 5 คนละ 2 เดือน ปรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จำนวน 320 บาท

 

พิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดีแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ร่วมกระทำผิดเฉพาะในส่วนการเข้าไปช่วยยกสิ่งของที่มีผู้นำมาให้ผู้ร่วมชุมนุมใช้ขว้างปา และช่วยคนสีในถังเป็นช่วงเวลาสั้นๆ โดยทางไต่สวนไม่พอฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เป็นแกนนำจัดให้มีการชุมนุม ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าขณะร่วมชุมนุม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 กระทำการใดอันเป็นการก่อความวุ่นวายอื่นอีก และไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

 

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, 2, 3 และ 5 มีพฤติการณ์เข้าร่วมชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง อันเป็นการไม่นำพาต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ แต่เพื่อมิให้มีประวัติต้องโทษจำคุก จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, 2, 3 และ 5 เป็นโทษกักขัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 โดยให้กักขังผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, 2, 3 มีกำหนด 40 วัน และกักขังผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีกำหนด 2 เดือน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising