×

ศาลอาญาฯ รับพิจารณาคดี สมาชิกก้าวไกลฟ้อง กกต.-เลขาฯ กกต. 2 มาตรฐาน มีพิรุธ-รีบเร่งยุบพรรค แต่ไม่ยุบภูมิใจไทย

โดย THE STANDARD TEAM
28.03.2024
  • LOADING...
ก้าวไกล

วานนี้ (27 มีนาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำสั่งในคดีที่ เรือเอก ย. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 6 คน และเลขาธิการ กกต. รวม 7 คน เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 58/2567 

 

ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83, พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560, มาตรา 69 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560, พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ. 2561 มาตรา 149, พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

 

โดยโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลคนหนึ่ง จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจำเลยทั้ง 6 ที่เป็น กกต. และจำเลยที่ 7 เป็นเลขาธิการ กกต. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ระหว่างวันที่ 17 มกราคม – 18 มีนาคม 2567 โดยร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน 

 

สืบเนื่องมาจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 1/2567 ในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่

 

และจำเลยทั้งหมดทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ไม่ดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคภูมิใจไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 

 

โดยโจทก์ได้ทำหนังสือและส่งหนังสือฉบับหนึ่งส่งถึงเลขาธิการ กกต. และ กกต. ขอให้พิจารณายื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคภูมิใจไทย และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคตามกฎหมายดังกล่าว แต่จำเลยทั้งหมดซึ่งได้ทราบความประสงค์ของโจทก์แล้วกลับเพิกเฉย

 

การกระทำของจำเลยทั้งหมดจึงมีเจตนาร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ดำเนินการกับพรรคภูมิใจไทยตามหน้าที่และอำนาจของตน พฤติการณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประวิงคดีให้เนิ่นช้าเกินสมควร ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามอำนาจและหน้าที่ของพวกตนตามกฎหมายที่จะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคภูมิใจไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 2

 

แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือเพิกเฉย ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีของศักดิ์สยาม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2567 

 

ก่อนกรณีของ นาย พ. และ พรรค ก. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 จึงเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด

 

นอกจากนี้ การกระทำกรรมที่สอง เมื่อระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2567 ต่อเนื่องถึงประมาณวันที่ 18 มีนาคม 2567 จำเลยทั้งหมดซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ และกระทำการในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ มีเจตนาร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

 

เนื่องจากวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 กรณีของนาย ธ. ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญว่า การกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง สส. เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 ของพรรคก้าวไกล ว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ 

 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยแล้วว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

 

ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นาย ร. ในฐานะประชาชน และสมาชิกพรรค พ. ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานของจำเลย มีเจตนาให้จำเลยส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค เหตุเพราะกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)

 

และต่อมาในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 นาย ธ. ได้ไปยื่นคำร้องที่สำนักงานตัวแทนของจำเลย โดยมีเจตนาเดียวกันกับนาย ร. ซึ่งในวันที่ 12 มีนาคม 2567 จำเลยที่ 1-6 มีเจตนาร่วมกันโดยลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค และได้มอบหมายให้จำเลยที่ 7 ในฐานะเลขาฯ กกต. โดยไม่โต้แย้งหรือคัดค้าน 

 

จึงถือว่ามีเจตนาร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1-6 และเป็นผู้ไปยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ การดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของจำเลยทั้ง 7 เป็นไปอย่างเร่งรีบขาดความรอบคอบและเป็นพิรุธ ทำให้จนถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำสั่งหรือมติรับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาแต่อย่างใด

 

การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงไม่มีความสุจริตและโปร่งใสเที่ยงธรรม เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดคือโจทก์ หรือสมาชิกพรรคก้าวไกลคนอื่นๆ ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมาย 

 

ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้เพื่อตรวจคำฟ้อง และให้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 9 เมษายน เวลา 09.30 น.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising