คุณคิดว่าจริงหรือไม่ที่หากใครสักคนจะอยากฆ่าตัวตาย ไม่ว่าเราจะป้องกันอย่างไร จนแล้วจนรอดเขาก็จะหาวิธีอื่นเพื่อจบชีวิตตัวเองให้สำเร็จจนได้อยู่ดี
หลายคนอาจมีความเชื่อเช่นนั้นนะครับ เรามักคิดว่าคนที่หมดหวังในชีวิตแล้ว ไม่ว่าเราจะห้ามปรามเขาอย่างไร ถ้าเขาตั้งใจจะปลิดชีพตัวเองจริงๆ ไม่ว่าใครจะห้าม เขาก็คงไม่ฟังอยู่ดี
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีทฤษฎีหนึ่งที่สามารถอธิบายพฤติกรรมการฆ่าตัวตายของคนจำนวนมากได้ดีเลยทีเดียว ซึ่งทฤษฎีที่ว่านี้ก็คือ Coupling หรือแปลเป็นไทยก็คือทฤษฎี ‘จับคู่’ นั่นเอง
ส่วนตัวผมเองเคยได้ยินเรื่องทฤษฎี Coupling ครั้งแรกตอนที่อ่านหนังสือเล่มใหม่ของ มัลคอล์ม แกลดเวล ที่มีชื่อว่า Talking to Strangers ซึ่งในตอนท้ายๆ ของเล่ม แกลดเวลเขียนถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ ริชาร์ด ไซเดน ศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านสถิติการฆ่าตัวตายของคนที่มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์
โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ ไซเดนได้ทำการสัมภาษณ์คนที่คิดจะฆ่าตัวตายโดยการกระโดดสะพานโกลเดนเกตในเมืองซานฟรานซิสโก แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะมีคนมาห้ามไว้ก่อน โดยการสัมภาษณ์ของเขาเป็นลักษณะ Follow-up (การสัมภาษณ์หลังจากเกิดเหตุการณ์ไปแล้วหลายเดือน) และเป็นการสัมภาษณ์เพื่อพิสูจน์ว่าคนที่เคยฆ่าตัวตายแต่ทำไม่สำเร็จ วันนี้เขายังพยายามจะฆ่าตัวตายด้วยวิธีการอื่นอยู่หรือไม่
งานวิจัยของไซเดนพบว่าจาก 515 คนที่เคยจะฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดสะพาน กว่า 90% บอกว่าพวกเขาไม่ได้พยายามฆ่าตัวตายด้วยวิธีอื่นอีกเลย
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ทฤษฎี Coupling มีคำตอบ…
โดยทั่วไปการฆ่าตัวตายที่สำเร็จส่วนใหญ่จะมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1.ความต้องการที่จะฆ่าตัวตาย (Suicidal Intention) และ 2.วิธีการฆ่าตัวตายที่สามารถทำได้ง่าย (Suicidal Means) ซึ่งทฤษฎี Coupling บอกว่าถ้าเราสามารถกำจัดปัจจัย 1 ใน 2 นี้ออกไปได้ เราจะทำให้คนส่วนใหญ่ล้มเลิกความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้
งานวิจัยของไซเดนถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกๆ ที่พิสูจน์ทฤษฎี Coupling นี้ เพราะมันพิสูจน์ให้เราเห็นว่าความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่อยากจะฆ่าตัวตายมักมาจากอารมณ์ชั่ววูบ ถ้าในระหว่างที่เกิดอารมณ์ชั่ววูบนั้นเขามีลู่ทางหรือวิธีการในการปลิดชีวิตตัวเองง่ายๆ โอกาสที่เขาจะลงมือฆ่าตัวตายและทำได้สำเร็จนั้นก็จะสูงมาก
แต่ถ้าในอารมณ์ชั่ววูบนั้นเขาไม่มีลู่ทางหรือวิธีง่ายๆ ในการปลิดชีพตัวเองให้สำเร็จ โอกาสที่เขาจะไม่ฆ่าตัวตายในเวลานั้นและในอนาคตก็จะสูงกว่า
นอกจากงานวิจัยของไซเดนแล้วก็ยังมีงานอื่นๆ เช่น งานของ โรนัลด์ คลาร์ก และแพต เมย์ฮิว ที่พบว่าหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษได้ทำการขจัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่มีอยู่ในเตาอบของบ้านเกือบทุกหลังในประเทศออกระหว่างปี 1963-1975 สถิติของคนที่ฆ่าตัวตายในประเทศก็ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อจาก 5,714 รายเหลือเพียงแค่ 3,000 กว่าราย ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการฆ่าตัวตายในบ้านด้วยการเอาศีรษะเข้าไปในเตาอบเพื่อสูดดมสารพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้อีกแล้ว
สรุปก็คือถ้าเราสามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราให้การฆ่าตัวตายเป็นอะไรที่ทำได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น การติดตั้ง Safety Net ข้างสะพานโกลเดนเกต หรือการขจัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกจากเตาอบ หรือการทำให้การเปิดขวดยายากขึ้น เรียกอีกอย่างว่าวิธี ‘De-coupling’ หรือแยกคู่วิธีการฆ่าตัวตายจากความต้องการฆ่าตัวตาย เราก็จะสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายของคนส่วนใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในวันนี้และในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม:
- Clarke, R.V. and Mayhew, P., 1988. The British gas suicide story and its criminological implications. Crime and justice, 10, pp.79-116.
- Gladwell, M., 2019. Talking to strangers: What we should know about the people we don’t know. Penguin UK.
- Seiden, R.H., 1978. Where are they now? A follow‐up study of suicide attempters from the Golden Gate Bridge. Suicide and Life‐Threatening Behavior, 8(4), pp.203-216.
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์