×

สำรวจ ‘ความมั่นใจ’ ของนายกฯ กับแผนเปิดประเทศใน 120 วัน ที่ยังคง ‘น่ากังวล’

18.06.2021
  • LOADING...
แผนเปิดประเทศ

“ประเทศไทยจะต้องเปิดประเทศทั้งประเทศให้ได้ภายใน 120 วันนับจากวันนี้ ส่วนเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญๆ หากพร้อมได้เร็วกว่า ก็ควรทยอยเปิดให้ได้เร็วกว่านั้น” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 บางคนมองว่าการเปิดประเทศในเดือนตุลาคมนี้เป็นเป้าหมายที่สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่บางคนกลับมองว่าเป็นเป้าหมายที่อาจถูก ‘เลื่อน’ ไปอีกก็ได้

 

ความจริงแล้วก่อนหน้านี้ (ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดระลอกมี่ 3) ศบค. เคยประกาศ ‘แผนการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด-19’ ไว้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 โดยแบ่งระยะเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายนออกเป็นทุกๆ 3 เดือน เปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากลดวันกักตัวก่อน แล้วพัฒนาเป็นการคุมไว้สังเกต (Close Observation) และยกเลิกการกักตัวในบางพื้นที่หรือเมื่อได้รับวัคซีนครบแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

 

การแถลงครั้งนี้จึงเป็นการย้ำว่าแผนการเปิดประเทศยังคงเหมือนเดิม ถึงแม้จะไม่สามารถเปิดประเทศในระยะที่ 1 เมษายน-มิถุนายนได้ตามแผนเดิมก็ตาม ส่วนโมเดล ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าภูเก็ตโดยตรงและไม่ต้องกักตัวเริ่มเดือนกรกฎาคม 2564 ยังเหมือนเดิมเช่นกัน ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบรายงานผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจโควิด-19 (ศบศ.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม

 

#อะไรที่ทำให้นายกรัฐมนตรีมั่นใจ

 

1. วัคซีนที่จองมีจำนวนมากพอ 

นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีการลงนามในสัญญาจองหรือสัญญาซื้อวัคซีนไปแล้ว 105.5 ล้านโดส ทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับปีนี้ (เป้าหมายเมื่อมีนาคม 2564 คือ 63 ล้านโดส ครอบคลุม 50% แต่เป้าหมายล่าสุดคือ 100 ล้านโดส ครอบคลุม 70% ของประชากร) โดยเจรจากับผู้ผลิตทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ Pfizer, Johnson & Johnson, Moderna, AstraZeneca, Sinovac และ Sinopharm แต่ไม่ได้ระบุว่าแต่ละบริษัทจองเป็นจำนวนเท่าไร

 

อย่างไรก็ตาม จำนวน 105.5 ล้านโดสนี้เป็นยอดจองวัคซีนที่จะทยอยส่งมอบจนครบภายในปีนี้ ในขณะที่ขณะนี้ไทยได้รับวัคซีนจาก AstraZeneca แล้ว 2.757 ล้านโดส (รวมตั้งแต่ต้นปี) จากแผนเดิมจะต้องได้รับ 6 ล้านโดสภายในเดือนมิถุนายน และจะได้รับเดือนละ 10 ล้านโดสจนถึงเดือนพฤศจิกายน และในเดือนธันวาคมอีก 5 ล้านโดส ส่วนวัคซีน Sinovac ได้รับรวม 7 ล้านโดส จากแผนเดิม 2 ล้านโดส และจะทยอยส่งมอบอีกเดือนละ 2-3 โดสตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

 

“ผมจะพยายามทำทุกทาง เพื่อให้เราได้รับส่งมอบวัคซีนตามกำหนดการ แม้ในความเป็นจริงเราจะเห็นตัวอย่างได้จากในหลายประเทศว่า การส่งมอบวัคซีนจากผู้ผลิตรายต่างๆ อาจจะไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ทั้งเรื่องล่าช้า หรือไม่ครบจำนวนตามที่ตกลง แต่ประเทศไทยเราต้องบริหารจัดการตรงจุดนี้ให้ดี” โดยนายกฯ ระบุว่าแผนในระยะสั้นคือประชาชนทุกคนต้องได้รับ ‘วัคซีนเข็มแรก’ โดยเร็วที่สุด ส่วนแผนระยะยาวคือการมี ‘ฐานการผลิต’ วัคซีนภายในประเทศ

 

 

(อ้างอิง: เพจสถาบันวัคซีนแห่งชาติ)

 

2. วัคซีนเข็มแรกฉีดมากพอ 

หากพูดถึง ‘วัคซีนเข็มแรก’ จะต้องพูดถึงเฉพาะวัคซีน AstraZeneca เท่านั้น อย่างที่นายกฯ อธิบายว่า “เพราะการได้รับวัคซีนแม้แค่เพียงเข็มแรก ก็สามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้ในระดับที่มากพอสมควรแล้ว” โดยมีการศึกษาในต่างประเทศพบว่า หลังฉีดวัคซีนเข็มแรก 3 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 76.0% จึงแนะนำให้เว้นช่วงระหว่างเข็ม 8-12 สัปดาห์ 

 

ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ระบุว่า ให้ยืดออกไปได้ถึง 16 สัปดาห์ หรือ 112 วัน ใกล้เคียงกับการเปิดประเทศ 120 วัน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าวัคซีน AstraZeneca จะนำไปฉีดปูพรมให้ครอบคลุมมากที่สุดก่อน แต่ก็อาจมีการเปลี่ยนแผนอีกครั้งหากมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (จะพูดถึงในหัวข้อถัดไป) ส่วนวัคซีน Sinovac ต้องฉีดให้ครบ 2 เข็ม ถึงจะมีประสิทธิภาพ 67% (2 สัปดาห์ หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือประมาณ 4-5 สัปดาห์หลังฉีดเข็มแรก)

 

“การเดินหน้าตามแผนฉีดวัคซีนนี้ เราจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้โดยเฉลี่ยประมาณเดือนละกว่า 10 ล้านโดส หากวัคซีนส่งมาเพียงพอในแต่ละเดือน และประมาณต้นเดือนตุลาคมจะมีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกแล้ว จำนวน 50 ล้านคน” นายกฯ ตั้งเป้าถึงการฉีดวัคซีนเข็มแรก 70% ของประชากรภายในเดือนตุลาคม แสดงว่าต้องมั่นใจมากว่าบริษัท AstraZeneca จะส่งมอบได้ทันตามกำหนดในแต่ละเดือน และมีแผนสำรองเป็นวัคซีน Sinovac 

 

 

3. ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่พอจะรับได้ 

ความเสี่ยงที่นายกฯ พูดถึงคือจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยยอมรับว่า “การตัดสินใจของผมวันนี้มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะเมื่อเราเปิดประเทศ ไม่ว่าเราจะเตรียมการป้องกันขนาดไหนก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เมื่อเราประเมินสถานการณ์และคิดถึงความอยู่รอดในการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง”

 

ขอตัดประโยคสุดท้ายออกไปก่อน กรณีนี้จะเหมือนกับนโยบายควบคุมการระบาดในประเทศว่า จะควบคุมให้ผู้ป่วยรายใหม่เป็น 0 เหมือนการระบาดระลอกแรก หรือให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขเหมือนการระบาดระลอกสอง ซึ่งเอื้อต่อการดำเนินกิจกรรม/กิจการทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า แต่หลายคนสะดุดตรงที่จะต้อง ‘ยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง’ เพราะรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการความเสี่ยงนี้ให้น้อยที่สุด

 

“เราได้เห็นกันแล้วและต้องทำใจว่า ทั่วโลกยังจะต้องอยู่กับไวรัสนี้ต่อไปอีก ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถรอจนไวรัสนี้หมดไปจากโลก และเราก็ไม่สามารถรอจนทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสกันถ้วนหน้าก่อน แล้วจึงค่อยเปิดประเทศ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้เหมือนกับโรคภัยอื่นๆ จัดการโควิด-19 ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับออกมาทำมาหากินกันได้อีกครั้ง” นี่คือนโยบายและเป้าหมายของนายกฯ

 

#อะไรที่ยังน่ากังวลอีกบ้าง

 

การตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดประเทศในเดือนตุลาคม 2564 ถือเป็นความท้าทายของนายกฯ หรืออย่างน้อยคือเปิดเมืองให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ หากทำได้จริงอย่างที่นายกฯ แถลง ก็ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชม (อีก 4 เดือนข้างหน้า ผมจะกลับมาอ่านบทความนี้อีกครั้ง) แต่นายกฯ จะต้องมีแผนเป็นขั้นตอน มีแผนรองรับความเสี่ยงในอนาคต เช่น ไวรัสกลายพันธุ์ วัคซีนล่าช้า และเพิ่มศักยภาพการป้องกันและควบคุมโรคแบบปกติในระหว่างที่ยังรอวัคซีน

 

1. สายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) ระบาดมากขึ้น

ในวันเดียวกัน ก่อนที่นายกฯ จะแถลงตอนเย็น นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังและติดตามสายพันธุ์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 พบสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7) 89.6%, สายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) 9.8% สูงสุดในพื้นที่ กทม. แต่คาดว่าสายพันธุ์เดลตาจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟาภายในไม่เกิน 2-3 เดือน ส่วนสายพันธุ์เบตา (B.1.351) พบใน จ.นราธิวาสเท่านั้น

 

เปรียบเทียบกับสถานการณ์ในอังกฤษ เดิมมีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา แต่ขณะนี้ถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์เดลตาเป็นสัดส่วน 96% แล้ว เพราะมีความสามารถแพร่กระจายได้มากกว่าสายพันธุ์อัลฟาถึง 60% ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากลดต่ำลงไปในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม แสดงว่าสายพันธุ์นี้น่าจะทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น จนทางการต้องตัดสินใจเลื่อนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีก 1 เดือน

 

นอกจากนี้ยังพบว่ามีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน โดยวัคซีน AstraZeneca ซึ่งเป็นวัคซีนหลักในอังกฤษและไทย ‘เข็มแรก’ มีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์นี้ 33% แต่ถ้า ‘ฉีดครบ’ 2 เข็ม จะมีประสิทธิผลเพิ่มเป็น 60% (วัคซีน Pfizer มีประสิทธิผล 88%) ในขณะที่วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม สามารถป้องกันอาการรุนแรง 92% (ใกล้เคียงกับวัคซีน Pfizer 96%) จึงมีการเลื่อนนัดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงเร็วขึ้นที่ 8 สัปดาห์

 

 

2. การฉีดวัคซีนต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย

ความไม่แน่นอนของการได้รับวัคซีนจากผู้ผลิต ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องวางแผนกระจายวัคซีนเป็นรายสัปดาห์หรือ 2 สัปดาห์ หรือวัคซีนไม่เพียงพอกับยอดจองวัคซีน ดังนั้น การฉีดวัคซีนจะต้องตรงกับกลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1 (เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด) คือผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคก่อน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ซึ่งถ้าถามกลุ่มวัยทำงาน ก็น่าจะอยากให้ฉีดวัคซีนกับรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายก่อน

 

การเปิดเมืองให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศอาจเริ่มต้นจากการที่กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงได้รับวัคซีนครอบคลุม 50-70% ก่อนก็ได้ เพราะหากเกิดการระบาดก็อาจติดเชื้อ แต่จะมีอาการน้อย ทำให้จำนวนผู้ป่วยไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะห้อง ICU แต่ปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเข็มแรกเพียง 7.9% ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค 8.7% ใกล้เคียงกับประชาชนทั่วไป 7.9% ดังนั้น การกระจายวัคซีนใน กทม. จะต้องเคร่งครัดกับแผนระดับประเทศ

 

อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับวัคซีนคือ ประสิทธิภาพต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ กระทรวงสาธารณสุขอาจคาดหวังแค่ ‘กันติด’ ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ หรือ ‘กันตาย’ ป้องกันอาการรุนแรงเท่านั้น แต่ประชาชนกลับมีความคาดหวังต่อวัคซีนมากกว่านั้นว่า จะสามารถ ‘กันหมู่’ ป้องกันการแพร่เชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ด้วย เพราะโอกาสที่จะกลับมาเปิดเมืองแบบปกติมีมากกว่า ปัจจุบันมีข่าวต่างประเทศมากมายที่เสนอเกี่ยวกับการเปิดเมืองโดยไม่ต้องสวมหน้ากากเลยด้วยซ้ำ

 

3. การตรวจหาเชื้อ การสอบสวนโรค และการแยกกัก/กักกันโรค (Test, Trace, Isolation: TTI) 

ในระยะที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด นายกฯ จะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมโรคตามปกติ แต่กระบวนการเหล่านี้ยังต้องได้รับการพัฒนาและติดตามอย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่าง การตรวจหาเชื้อเพียงพอหรือไม่ อาจพิจารณาจากอัตราการตรวจพบเชื้อ (Positive Rate) ใน กทม. และเขตสุขภาพที่ 12 (ภาคใต้ตอนล่าง) ระหว่างวันที่ 6-12 มิถุนายน 2564 ประมาณ 6% 

 

 

(อ้างอิง: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)

 

อัตราการตรวจพบคือ ‘จำนวนการตรวจพบเชื้อ’ หารด้วย ‘จำนวนการตรวจทั้งหมด’ เปรียบเทียบได้กับหากมีค่าสูงแสดงว่าตัวตั้งมาก เช่น พบผู้ติดเชื้อใน กทม. มาก หรือตัวหารน้อย เช่น ตรวจหาเชื้อน้อย ซึ่งอาจเป็นการตรวจเชิงรับที่โรงพยาบาล การตรวจเชิงรุกในชุมชน หรือการสุ่มตรวจตามสถานที่เฉพาะ เช่น แคมป์คนงาน โรงงาน ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ต่อว่าควรเพิ่มการตรวจหาเชื้อในลักษณะใด เช่น ผู้มีอาการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลได้หรือไม่

 

การสอบสวนโรคจะมีเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะใน กทม. เพราะในพื้นที่ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะไม่สามารถสอบสวนโรคได้ทัน หรือติดตามผู้สัมผัสฯ ในชุมชนไม่ได้ ผมขอเสนอให้มีโปรแกรมติดตามผู้สัมผัสฯ สำหรับเจ้าหน้าที่ให้ประสานงานระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขง่ายขึ้น (บางครั้งต้องติดต่อข้ามจังหวัด) รวมถึงแอปพลิเคชันไทยชนะด้วย เป็นต้น

 

โดยสรุป แผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันอาจมีความเป็นไปได้ยาก เพราะมีความเสี่ยงจากไวรัสกลายพันธุ์ วัคซีนล่าช้า และยังควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ไม่ได้ แต่ถือเป็นเป้าหมายที่มีกรอบระยะเวลาชัดเจน นายกฯ จะต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้รับผิดชอบในการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้แล้ว ประชาชนถึงจะมั่นใจและ ‘ยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง’ โดยให้ความสำคัญครบทั้ง ‘TTI + V’ โดยเฉพาะ V (วัคซีน) เข็มเดียวที่เอาสายพันธุ์เดลตาไม่อยู่ 

 

หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดภายในประเทศได้ ก็ยากที่จะพูดถึงความเสี่ยงจากการรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X