ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หลายชาติในประชาคมโลกต่างค่อยๆ ทยอยเปิดพื้นที่และโอบรับความแตกต่างหลากหลายในสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมิติของความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ ปัจจุบันมีอย่างน้อย 30 ชาติทั่วโลกที่ผ่านกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม แล้ว อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่นเดียวกับคู่รักชายหญิง
โดยเนเธอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2001 ก่อนที่จะตามมาอีกหลายๆ ชาติในยุโรปและลาตินอเมริกา ซึ่งขณะนี้มีเพียงไต้หวันเพียงชาติเดียวในเอเชียที่ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของสังคม LGBTQIA+ ในเอเชียที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2019
ขณะที่ชิลีเป็นชาติล่าสุดในลาตินอเมริกาที่ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมปรับปรุงแก้ไขนิยามของคำว่า ‘คู่สมรส’ และ ‘ผู้ปกครอง’ ในประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายฉบับใหม่นี้อีกด้วย โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา
ส่วนชาวสวิสเองก็ลงประชามติครั้งสำคัญ ‘สนับสนุน’ ให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยมติเกือบ 2 ใน 3 หรือ 64.1% ต่อเสียงคัดค้าน 35.9% เมื่อเดือนกันยายนปี 2021 ส่งผลให้สวิตเซอร์แลนด์เตรียมเป็นอีกหนึ่งประเทศจากยุโรปที่จะประกาศใช้กฎหมายนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคมปีนี้
ขณะที่ประเทศไทย ประเทศที่ดูเหมือนจะเป็นสวรรค์สำหรับ LGBTQIA+ ก็ยังคงจะต้องเดินหน้าผลักดันในประเด็นนี้กันต่อไป จนกว่าประเทศนี้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่โอบรับความหลากหลายอย่างแท้จริง ทั้งในมิติทางสังคมและมิติทางกฎหมาย
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา