Peterson Institute for International Economics (PIIE) สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจชื่อดังของสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนว่าปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้ออาจส่งผลให้โลกต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะธัญพืชและน้ำมันสกัดจากพืชที่ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากหลายประเทศได้จำกัดการส่งออกด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงทางอาหารของตัวเอง
ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากเกิดวิกฤตการสู้รบในยูเครน เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกในสัดส่วนรวมกันถึง 29%
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียถือเป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศแบนการส่งออกข้าวสาลีต่อจากรัสเซีย ยูเครน อียิปต์ คาซัคสถาน เซอร์เบีย และโคโซโว โดยการประกาศของอินเดียส่งผลให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอีก 6%
“การรุกรานยูเครนของรัสเซียเกิดขึ้นในจังหวะที่ไม่ดีนักสำหรับตลาดอาหารโลก เพราะก่อนหน้านั้นราคาอาหารในตลาดโลกก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาซัพพลายเชน ดิสรัปชันจากวิกฤตโควิด และความแห้งแล้งของสภาพอากาศอยู่ก่อนแล้ว” PIIE ระบุในรายงาน
PIIE ระบุอีกว่า นอกจากข้าวสาลีแล้วปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกยังมีการออกคำสั่งห้ามส่งออกสินค้าการเกษตรอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันปาล์ม ปุ๋ย และธัญพืช ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น
“หากสงครามยังยืดเยื้อต่อไป โอกาสที่ปัญหาการขาดแคลนอาหาร โดยกลุ่มเฉพาะธัญพืชและน้ำมันสกัดจากพืชจะรุนแรงขึ้นจะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่คำสั่งห้ามส่งออกสินค้าอาหารจากประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น” Joseph Glauber นักวิจัยของ PIIE กล่าว
สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศ G7 ได้ออกคำเตือนว่าโลกกำลังอยู่ในความเสี่ยงจะเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารหากรัสเซียยังควบคุมธัญพืชของยูเครนไว้ที่ท่าเรือ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลยูเครนได้กล่าวหารัสเซียว่าได้ขโมยธัญพืชของยูเครนจากโกดังแล้วนำไปขายต่อในตลาด
ก่อนหน้านั้นอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มราว 50% ของโลก ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่สั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม โดยอ้างเรื่องความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ซึ่งผลจากคำสั่งดังกล่าวก็ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกพุ่งขึ้นทำสถิติ
อ้างอิง: