‘เหลี่ยงฮุ่ย’ (两会) หรือการประชุมสองสภา สำหรับคนจีนและประเทศจีนคือสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (中国人民政治协商会议 หรือ Chinese People’s Political Consultative Conference – CPPCC) ซึ่งจะประชุมควบคู่ไปกับสภาประชาชนแห่งชาติจีน (中华人民共和国全国人民代表大会 หรือ National People’s Congress – NPC)
สำหรับกลไกการเมืองการปกครองของจีน เหลี่ยงฮุ่ยถือเป็นการประชุมที่มีความสำคัญมากที่สุด ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และการกำหนดทิศทางการเดินหน้าของจีนทั้งในมิติการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
โดยปกติการประชุมสองสภาจะจัดขึ้นทุกๆ ปีในช่วงเดือนมีนาคม แต่ปีนี้ได้เลื่อนออกมา เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดย CPPCC จะจัดขึ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม ส่วน NPC จะเริ่มในวันที่ 22 พฤษภาคม 2020 ซึ่งจะมีตัวแทนที่เทียบเท่ากับสมาชิกสภานิติบัญญัติของจีน (หรือ ส.ส.) จากทุกมณฑล ทุกเขตปกครองพิเศษ ร่วมกับสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ข้าราชการ และตัวแทนจากภาคเอกชนจีน รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากทั่วโลก มาเข้าร่วมประชุมมากกว่า 4,000 คน (เฉพาะสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีนก็เท่ากับ 2,980 คนแล้ว)
แน่นอนว่าตลอดช่วงก่อนและหลังการประชุมในย่านใจกลางเมืองกรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ถนนฉางอัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาศาลาประชาชนจีน (人民大会堂) ก็จะได้รับการตกแต่งประดับประดาอย่างเต็มที่ ถนนหลายๆ สายถูกปิดการจราจร แม้แต่รถแท็กซี่ที่ให้บริการยังต้องเป็นรถรุ่นใหม่คันใหม่เอี่ยมถอดด้ามมาให้บริการวิ่งรับส่งทุกคนที่จะมาร่วมประชุม โดยที่การประชุมจะมีการถ่ายทอดและมีบทวิเคราะห์ตลอดทั้งวัน
สำหรับความสำคัญและสิ่งที่เราคาดหวังจะได้เห็นจากการประชุมสองสภาในปีนี้มีดังนี้
- ครั้งนี้จะเป็นการประกาศว่าจีนได้ก้าวข้ามวิกฤตการระบาดของโควิด-19 แล้ว การประชุมสองสภาถูกเลื่อนมาจากเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม เพราะมีบุคคลระดับสำคัญจากทั่วประเทศเดินทางมาร่วมประชุมกันอย่างคับคั่ง ดังนั้นต้องให้มั่นใจที่สุดว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อเกิดขึ้นได้ การที่เปิดประชุมได้ รัฐบาลต้องมั่นใจแล้วว่ามีความปลอดภัยในเรื่องนี้
- การประชุม CPPCC เป็นเสมือนพิธีการที่สำคัญเชิงสัญลักษณ์มากกว่า เพราะ CPPCC หรือสภาที่ปรึกษาการเมืองฯ คือกลไกที่พรรคคอมมิวนิสต์จัดตั้งขึ้นเพื่อวางกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกกฎหมายต่างๆ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากสาธารณรัฐจีนสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีการเลือกตั้ง ยังไม่มีการสถาปนาสภาประชาชนแห่งชาติจีน หรือ NPC ซึ่งเทียบเท่ากับรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติ ดังนั้นเมื่อมี NPC ในปี 1954 CPPCC ก็มีบทบาทเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ภาครัฐของจีนใช้ส่งสัญญาณต่างๆ ให้ประชาชนจีนและประชาคมทราบถึงความสำเร็จของจีนในปีที่ผ่านมา ดังนั้นในวันที่ 21 พฤษภาคม ภาพที่เราจะเห็นคือตัวแทนประชาชนจีนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ใส่ชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเดินทางมาเข้าประชุมร่วมกันที่มหาศาลาประชาชนจีน ความสวยงาม ความหลากหลายในอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และการอยู่ร่วมกันเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนจะถูกนำเสนอผ่านทุกสื่อ
- CPPCC คงจะบอกเล่าประเด็นสำคัญๆ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) จีนสามารถเอาชนะโควิด-19 ได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวของคนทั้งชาติ และต่อไปจีนจะขยายความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จีนได้เรียนรู้จากการแพร่ระบาดของโรคให้กับประชาคมโลก 2) คงต้องมีการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปรองดองเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อนำพาประเทศให้ก้าวหน้า โดยเฉพาะในประเด็นการชุมนุมอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2019 ที่ฮ่องกง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของจีน และปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ และ 3) จีนต้องแสดงความสำเร็จและแผนการในการเดินหน้าไปสู่วาระครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1921 และจะครบวาระ 100 ปีในปีหน้า คือปี 2021
- ในขณะที่ NPC หรือการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนจะเป็นสิ่งที่นักวิชาการด้านจีนจับตามองมากกว่า เพราะ NPC คือสภานิติบัญญัติของจีน เป็นองค์กรสำคัญที่สุดของชาติในการสร้างดุลยภาพกับอีก 5 อำนาจ ตามทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจแบบจีน (ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยของมงแต็สกีเยอ (The Separation of Powers) แบบที่ไทยใช้ นั่นคือมี 3 เสาหลัก อันได้แก่ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่ในจีนจะมีเสาหลักที่ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันได้แก่ 1) ประธานาธิบดีที่เป็นประมุขของรัฐ 2) ฝ่ายบริหารและคณะมนตรีแห่งรัฐ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล 3) ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสภาประชาชนแห่งชาติจีน 4) ฝ่ายตุลาการ ศาลประชาชนสูงสุด และอัยการสูงสุด 5) กองทัพประชาชนและกองกำลังตำรวจติดอาวุธ และ 6) คณะกรรมาธิการกำกับดูแลด้านทุจริตคอร์รัปชันแห่งชาติ
- โดยสมาชิกสภา NPC ซึ่งถือเป็นสภานิติบัญญัติที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในโลก 2,980 คน มาจากทั้งการเลือกตั้งในรูปแบบที่แตกต่างจากที่เราคุ้นชิน เพราะที่เราใช้ในประเทศไทยเป็นแบบ Competitive Electoral System ที่แต่ละพรรคจะแข่งขันกันเพื่อให้ได้ตัวแทน แต่ในจีนจะเป็นการเลือกตั้งแบบ Consultative Electoral System นั่นคือสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนมาจากการเสนอชื่อจากหน่วยงานต่างๆ โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 10 คนสามารถเสนอชื่อผู้ลงสมัครผู้แทนได้ 1 ชื่อ จากนั้นจะใช้วิธีการเลือกขึ้นมาทีละระดับต่างๆ จากกลุ่มก้อนของวิชาชีพ กลุ่มตัวแทนอายุ กลุ่มตัวแทนผลประโยชน์ ฯลฯ จากระดับหมู่บ้าน เป็นอำเภอ เป็นจังหวัด เป็นมณฑล จนครบ 2,980 คน โดยสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนชุดที่ 13 ได้แก่ 73% (2,175 คน) มาจาก CPC 14.3% (426 คน) ไม่สังกัดพรรค 12.7% (379 คน) มาจาก 8 พรรคประชาธิปไตย เนื่องจากสภา NPC มีจำนวนสมาชิกเกือบ 3,000 คน ดังนั้นจึงมีการประชุมปีละ 1 ครั้งในเดือนมีนาคม (ปีนี้คือเดือนพฤษภาคม) เพื่อเลือกตั้ง Standing Committee จำนวน 150 คนมาทำหน้าที่นิติบัญญัติ โดยทั้ง 150 คนจะประชุมทุก 1-2 เดือน นั่นจึงทำให้เราต้องจับตามองว่าใครจะได้ขึ้นมาเป็น 150 คนนี้ ซึ่งในอนาคตทั้ง 150 คนนี้ก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนต่อไป
- ที่ผ่านมา NPC จะมีการผ่านกฎหมายสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ทั้ง 2,980 คนมาลงมติ ดังนั้นเราคงต้องจับตาดูว่ากฎหมายสำคัญๆ ของจีนที่จะเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปของมหาอำนาจอย่างจีนที่มีบทบาทในการกำหนดระเบียบโลกอย่างสูงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีประเด็นอะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าหลายๆ ประเด็น ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ประกาศไปแล้วในปาฐกถาออนไลน์ ณ ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ครั้งที่ 73 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา
- แล้วประธานาธิบดีจีนกล่าวอะไรต่อโลกบ้าง? สีจิ้นผิงประกาศความร่วมมือระหว่างจีนกับโลก 6 ด้าน ได้แก่ 1) จีนและประชาคมโลกต้องทำทุกอย่างเพื่อควบคุม หยุดยั้ง รักษาโรคโควิด-19 2) องค์การอนามัยโลกต้องเป็นผู้นำในเวทีโลกด้านสุขภาพสาธารณะ (สวนทางกับท่าทีของสหรัฐฯ ในลักษณะท้าชน) 3) จีนและประชาคมโลกต้องช่วยเหลือภูมิภาคที่เปราะบางมากที่สุด นั่นคือแอฟริกา 4) จีนและประชาคมโลกต้องสร้างหลักธรรมาภิบาลที่ดีในเรื่องสุขภาพสาธารณะ 5) จีนและประชาคมโลกต้องช่วยเหลือกันเพื่อฟื้นฟูและสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และ 6) จีนและประชาคมโลกต้องร่วมกันพัฒนาโครงสร้างและสถาบันระหว่างประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยจีนประกาศด้วยว่าสิ่งที่จีนจะทำ 5 เรื่องเพื่อเป็นผู้นำในระเบียบโลกใหม่ท่ามกลางโควิด-19 คือ 1) จีนจะมอบเงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 2 ปีเพื่อควบคุม หยุดยั้ง รักษาโรคโควิด-19 ในระดับนานาชาติ 2) จีนจะจัดตั้ง Global Humanitarian Response Depot and Hub เพื่อสร้าง รักษา และพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับนานาชาติให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น (แน่นอนว่าสอดคล้องกับนโยบาย Belt and Road Initiative ของจีน และมีการตั้งชื่อด้วยว่า Green Corridor 3) จีนจะจับคู่โรงพยาบาลในจีน 30 แห่งที่มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านโควิด-19 กับโรงพยาบาล 30 แห่งทั่วทวีปแอฟริกา และ African Central Disease Control 4) จีนสัญญาว่าวัคซีนป้องกันและรักษาโควิด-19 ที่จีนพัฒนาและผลิตจะเป็นสินค้าสาธารณะที่ให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ และ 5) จีนจะร่วมมือกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก 20 ประเทศ (G20) ในการผ่อนผันและพักการชำระหนี้ให้กับประเทศยากจนทั่วโลก
- ประเด็นต่อมาที่เราต้องจับตามองนอกเหนือจากนี้คือการกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมของจีน (宏观目标) ซึ่งจะเป็นนโยบายของจีนในระดับประเทศและระดับนานาชาติในอีก 12 เดือนต่อจากนี้
- จีนจะประกาศผลงานของรัฐบาลตลอดปีที่ผ่านมา รวมทั้งเปิดงบประมาณแผ่นดินทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เราเห็นว่าจีนเองจะตั้งงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกให้ก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างไร รวมทั้งทำให้เราได้เห็นด้วยว่าอภิมหาโครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ในเฟสต่อไปจะเป็นอย่างไร
- สุดท้าย ในวาระที่ปีหน้าคือปี 2021 จะเป็นวาระ 100 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนจะเดินหน้าอย่างไรเพื่อทำให้ประชาชนจีนและประชาคมโลกได้เห็นว่าตลอด 100 ปีที่ผ่านมาพรรคประสบความสำเร็จมากเพียงใดในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนจีนและพัฒนาประเทศจีนในทุกมิติ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องที่จีนจะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือเรื่องของการลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน รวมทั้งการสร้างจีนที่พัฒนาอย่างยั่งยืน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์