×

ปิดสภาแล้ว พ.ร.ก. เลื่อนใช้กฎหมายอุ้มหายบางมาตราค้างท่อ หลังวิปรัฐบาลยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ยังลงมติไม่ได้

โดย THE STANDARD TEAM
28.02.2023
  • LOADING...
กฎหมายอุ้มหาย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษวันนี้ (28 กุมภาพันธ์) วันสุดท้ายก่อนปิดสมัยการประชุมสามัญ เมื่อเวลา 13.20 น. ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในระหว่างที่สมาชิกอภิปรายอยู่นั้นสมาชิกส่วนหนึ่งได้เสนอเรื่องขึ้นมา โดย นิโรธ สุนทรเลขา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล พร้อมคณะ ได้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ 2566 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรค 1 ให้ประธานส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นเพื่อวินิจฉัยและให้รอการพิจารณาไว้ก่อนตามมาตรา 173 จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ได้ใช้เวลาตรวจสอบรายชื่อคำร้องทั้งหมดแล้ว ปรากฏว่ามีจำนวนสมาชิกลงลายมือชื่อ 100 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ จึงให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอจบการพิจารณาในวาระนี้เพียงเท่านี้

 

ด้าน วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีเอกสารให้ตนเซ็นชื่อ ดังนั้นถ้ามีรายชื่อตนที่เกี่ยวข้องกับการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ตนขอไม่รับรู้ และให้ถือว่านั่นไม่ใช่ลายเซ็นของตน

 

ขณะที่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นขออภิปรายในเนื้อหาที่ตนเองเตรียมไว้ว่า ตนไม่ได้ว่าอะไรในเรื่องของระบบฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ถ้าตนไม่พูดประเทศชาติจะล่มจมและเสียหายได้ โดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตนฝาก ผบ.ตร. ว่าให้ติดตาม พล.ต.ท. ‘จ.’ (จอจาน) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อวิทยุสื่อสารประมาณ 4,000 กว่าล้านบาททั่วประเทศ

 

จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่การพิจารณากฎหมายไม่แล้วเสร็จ ไม่สามารถลงมติได้ ซึ่งมีแนวโน้มจะไม่อนุมัติกฎหมายฉบับนี้ เพราะฟังจากสมาชิกในสภาส่วนใหญ่คัดค้านและไม่เห็นด้วย จึงตั้งข้อสังเกตการยื่นศาลรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลว่า รัฐบาลคาดการณ์ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้จะถูกสภาคว่ำจึงใช้กระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยื้อเวลา ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ชงโดย ครม. กินโดย ครม. และอุ้มหายโดย ครม. เอง ถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้ที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญควรจะเป็นเสียงที่ไม่อนุมัติ การยื่นครั้งนี้จึงแปลเจตนาอื่นไม่ได้นอกจากการใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญยื้อเวลา เพราะศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาในการวินิจฉัยอย่างน้อย 60 วัน ซึ่งทำให้ พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรืออาจยื้อไปถึงรัฐบาลหน้า พร้อมกันนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีปัญหาในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ทัน ตามที่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ออกมาแฉ ไม่ใช่การหาอุปกรณ์ไม่ทันตามที่กล่าวอ้าง

 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หากมีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิประชาชน บุคคลที่เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ต้องรับผิดชอบ และขอให้ประชาชนตัดสินในคูหาเลือกตั้ง

 

ขณะที่ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าผู้นำฝ่ายค้านได้พูดว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ โดยเฉพาะได้มีการอ้างอิงถึงสมาชิกของพรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมกระบวนการอุ้มหาย ซึ่งตนคิดว่าถ้าไม่ได้รับฟังเหตุผลอีกฝ่ายหนึ่งก็จะไม่เป็นหลักที่เรียกว่าตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ และไม่ตรงตามหลักที่เรียกว่าต้องเคารพสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย ฝ่ายของตนก็ยึดหลักนิติธรรมที่เห็นว่าเมื่อได้มีการลงชื่อเพราะเห็นว่า พ.ร.ก. ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขพระราชกำหนดตามมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญ พวกตนก็มีข้อสงสัยและในสภาแห่งนี้ก็มีการพูดว่าพระราชกำหนดฉบับนี้ไม่ชอบด้วยมาตรา 172 แต่การยื่นตนมีเหตุผลประกอบ เชื่อว่าเรื่องของการออกพระราชกำหนดที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 22, 23, 24, 25 นั้นไม่เพียงแต่เป็นเรื่องตามพระราชบัญญัติอุ้มหายแต่ยังมีพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ

 

ชินวรณ์กล่าวว่า ตนเป็น ส.ส. ก็มีจิตสำนึกเช่นกันในหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และหลักการที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นตนอยากให้ผู้นำฝ่ายค้านได้เคารพสิทธิของฝ่ายพวกตนที่ได้ดำเนินการในการเข้าลงชื่อกันเพื่อให้ดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญที่มีเหตุผลสำคัญ 3 ข้อ คือ

 

  1. การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 และปราศจากข้อสงสัย
  2. เป็นการร่นระยะเวลาที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าปล่อยไปให้ผ่านก็จะต้องชะลอ พ.ร.บ. นี้ออกไปอีก 6 เดือน แต่ถ้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 2 เดือนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมา และ
  3. ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมยื่นเสนอกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอ

 

หลังจากนั้นชวนกล่าวขอบคุณ ส.ส. และข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ที่ร่วมทำงานหนักตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ตนหวังว่าแม้ไม่มีโอกาสกลับมาทุกคน แต่ขอให้ ส.ส. ส่วนใหญ่กลับมาทำหน้าที่ของตนเองต่อไป การเมืองไม่มีแน่นอน ฝ่ายค้านวันนี้อาจเป็นรัฐบาล คนเป็นรัฐบาลขณะนี้อาจเป็นฝ่ายค้านในวันหน้า สิ่งสำคัญคือการพูดอะไรไปว่าไม่ดีวันนั้นต้องไม่ดี อะไรที่ดีวันนี้ วันนั้นต้องดี ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จ

 

จากนั้นสมาชิกสภาได้ยืนเพื่อรับฟังพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุม และปิดประชุมเวลา 13.41 น.

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising