การประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ดำเนินไปต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23-24 กันยายน รวม 2 วัน ท่ามกลางการจับตาจากหลายฝ่ายว่าทิศทางของรัฐสภาจะออกมาอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอญัตติจากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยตัวแปรสำคัญคือ ส.ว. ที่ต้องออกเสียงเพื่อลงมติด้วย ขณะเดียวกันนอกอาคารรัฐสภา กลุ่มผู้ชุมนุมที่ยื่นข้อเสนอและเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มาปักหลักเพื่อรอฟังคำตอบเช่นเดียวกัน
การอภิปรายในวันที่ 24 กันยายน รวมถึงท่าทีของ ส.ส. และการจับตาการอภิปรายและท่าทีของ ส.ว. ดูจะถูกโฟกัสมากเป็นพิเศษ THE STANDARD ขอประมวลภาพบรรยากาศก่อนที่จะมีการลงมติในญัตติที่เสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน 1 เดือน และกลับมาโหวตในวาระแรกขั้นรับหลักการ หลังการเปิดสมัยประชุมสภา โดยเสียงข้างมากมีมติให้เลื่อนการโหวตออกไปก่อนเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา ทำให้ปฏิกิริยาของผลลัพธ์สร้างความไม่พอใจให้ผู้ชุมนุม และหลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาร้อนแรงขึ้นกว่าเดิม
ตั้งแต่เวลา 16.55 น. เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายย้ำว่าสมาชิกทุกคนมีความคิดและความร่วมมือเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต้องทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบว่าสิ่งที่ตัดสินใจไปจะเป็นประโยชน์จริงๆ ดังนั้น 2 ญัตติแรกในการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เราก็ตระหนัก แต่เมื่อคิดถึงผลที่ออกมา เมื่อมี สสร. แล้วจะทำหน้าที่ได้สมประโยชน์ตามเจตนาที่มีการเสนอญัตติหรือไม่ และจะทำหน้าที่แทนประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ แต่ยังมีข้อกังวลใจว่าการทำหน้าที่จะทำด้วยความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงหรือไม่ เพราะสิ่งที่คาดหวังว่าต้องการให้มีคนนอกมาทำเพื่อประโยชน์อย่างแท้จริง และสิ่งที่ต้องระวังคือข้อเสนอต่างๆ จะมีผลกระทบต่อประเทศชาติหรือไม่
“เมื่อฟังสมาชิกบางท่านอภิปรายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้วุฒิสภามีความกังวลใจว่ากรอบแนวทางที่คิดจะไปแค่นั้นหรือไม่ หรือถ้ามีคนไม่เห็นด้วย หรือ สสร. ที่ตั้งมาไม่เห็นด้วย จะถูกกดดันหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่กังวลใจว่าจะไปไกลกว่าที่เราคิด แต่ก็ยังดีว่าสิ่งที่สมาชิกอภิปรายไปก่อนหน้านี้ (รังสิมันต์ โรม) ก็ทำให้ ส.ว. ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น” เสรีกล่าว
ส่วนญัตติอีก 4 ร่าง ถ้าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่เสนอมาถือว่ายังน้อยเกินไปกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพราะการลงทุนที่จะเกิดขึ้นเป็นหมื่นล้านบาท แต่มีแค่ไม่กี่ประเด็น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่ และควรดูประเด็นให้กว้างขวาง สิ่งที่ ส.ส. อยากเห็นคือมีรัฐธรรมนูญและทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ส.ส. ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มีการตรวจสอบ มีความมั่นคง มีการเมืองที่แข็งแรง เศรษฐกิจดี มีเสถียรภาพ ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญทั้งทีก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้
ต่อมา 17.00 น. ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย มองว่ารัฐธรรมนูญของไทย 20 ฉบับ ถูกใช้งานเฉลี่ยฉบับละ 4 ปี 4 เดือน ซึ่งจากการที่เข้ามาสู่การเมืองปี 2551 ก็พบเหตุการณ์วุ่นวายต่างๆ นานา จึงกลับมามองว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นแก้เพื่ออะไร โดยเฉพาะกติกาบัตรเลือกตั้งที่แต่ละคนต้องการบัตรใบเดียว บัตร 2 ใบนั้นเป็นนักกีฬาที่เลือกกติกา ถ้าไม่พอใจกติกาก็อย่ามาเล่น
หลายปีพูดกันแต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และกลายเป็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นขี้แพ้ชวนตี เพราะเป็นการแก้ตามความต้องการ จึงอยากให้รัฐสภากลับมาช่วยกันคิดหาทางออกให้เหมาะสมกับทั้งสองฝ่าย แม้ว่าจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ต้องมาคุยกัน และอย่าแก้อย่างศรีธนญชัย เอาความต้องการตัวเองเป็นตัวตั้ง ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นฝั่งว่าบ้านเมืองจะไปทางไหน ดังนั้นจุดที่ลงตัวคือต้องมานั่งล้อมวงคุยกันด้วยเหตุด้วยผลเพื่อให้ได้จุดที่เหมาะสม
ชาดาแนะให้หันมามองตัวเอง แก้ไขความคิดเรา ถ้าไม่ต้องเอา 100% เอา 50% บ้าง ก็จะเดินหน้าไปได้ อย่าเอาทิฐิ มานะ ตัวตนมาคุยกัน ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะวุ่นวายไม่จบไม่สิ้น แก้นิสัยตัวเอง รัฐธรรมนูญจะได้ไม่ต้องแก้บ่อย
“นั่งจับเข่าคุยกันไม่ได้หรือ อย่างเป็นวิปฝ่ายค้าน วิปรัฐบาล วิปวุฒิสภา มานั่งจับเข่าคุยกันดีกว่า” ชาดากล่าว
17.10 น. สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทั้งมาตรา 256 ทั้งสองร่าง รวมถึง 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายประเด็น โดยมองว่ายังไม่ได้ฟังเสียงประชาชนและจัดทำร่างอย่างรอบคอบเพียงพอ พร้อมมองว่าอยากให้ ส.ส. และ ส.ว. มาหารือร่วมกันก่อนแก้ไขในแต่ละประเด็นเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และหากวันนี้จะไม่ผ่านก็สามารถที่จะเสนอและมาพูดคุยกันใหม่ได้ในสมัยหน้าหรือปีถัดไป
ส่วนสิ่งที่กังวลว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง สมชายระบุว่าทุกคนผ่านมาหมด และผ่านการเป็นแกนนำ เป็นผู้สนับสนุนผู้ชุมนุมเบื้องหน้าเบื้องหลังเยอะแยะ อาจรวมไปถึงกลุ่มประชาชนปลดแอกที่กำลังจะมา แต่เรื่องนี้เราพูดในสภา และอย่าเอาแรงกดดันมวลชนมาใช้ ซึ่งผมก็ไม่เคยกลัว เพราะเจอมามาก ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเจอมากก็จะให้ทนายดำเนินคดีเช่นเดียวกัน และคิดว่าสุดท้าย ส.ส. และ ส.ว. ควรร่วมมือกัน และวันนี้ยังไม่ถึงทางตัน ยืนยันว่า ส.ว. ไม่กลัวคำขู่ แต่ก็ต้องหาทางประนีประนอมอำนาจ หาทางออก เพราะหากแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 1 โดยไม่ผ่านประชามติก็จะมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นปัญหาอีก
18.05 น. วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แถลงสรุปว่าตลอดระยะเวลา 2 วัน บางครั้งที่มีการอภิปรายจะเห็นความรู้สึกว่าก่อนไม่มีร่างรัฐธรรมนูญเข้ามา ส.ส. มีสภาพความปรองดอง แต่วันนี้มีคำแปลกๆ คำเสียดสีมาตอกย้ำ ซึ่งเกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และวันนี้เมื่อเราไปไหนมาไหนก็เกิดคำถามตลอดว่าแก้รัฐธรรมนูญไหม ใช้ร่างไหน ประชาชนได้อะไรบ้าง ผมจะไม่พูดถึง 16.8 ล้านเสียงที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ และเมื่อผมอภิปรายเสร็จก็จะเป็นทางที่จะเลือกว่าจะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ หรือจะเดินหน้าไปแล้วหยุดเพื่อพูดคุยกัน
“ผมเห็นด้วยกับ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ว่าทำอย่างไรที่เราจะนั่งโต๊ะพูดคุยกันบ้าง เพราะเราไม่ได้มีคณะกรรมาธิการร่วมที่เจอกันบ่อยๆ ผมสงสัยข้อบังคับมาตรา 121 วรรค 3 มีไว้เพื่ออะไร ก็เห็นแล้วว่าเขียนไว้เพื่อให้โอกาสที่จะให้คนแก้รัฐธรรมนูญมาคุยกันก่อนรับหลักการ แต่ถ้าวันนี้ปล่อยให้มีการลงมติ ผมไม่ยอมให้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีคนลงนาม 200 กว่าชีวิตตกไป ดังนั้นถ้าจะล่าช้าไป 1 เดือน ผมก็คิดว่าคุ้มค่า เพื่อให้มีเวลาไปรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน” วิรัชกล่าว
วิรัชกล่าวต่อไปว่าถ้ามีโอกาสคุยกันบ้าง จากนี้ไม่เกิน 30 วัน ร่างรัฐธรรมนูญก็จะกลับเข้ามาใหม่ในสมัยหน้า บางคนบอกว่าประวิงเวลาหรือเปล่า ในรายละเอียดทั้งหมด ถ้ามีโอกาสคุยกัน สิ่งที่เสนอในร่างอาจไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ตนก็จะพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ครบถ้วน และ 2 วันที่ผ่านมาทำให้รู้ว่ายังไม่ครบ ก็อยากถาม ส.ว. ว่าจะทำให้สมบูรณ์ได้อย่างไร ถ้าเดินหน้าวันนี้ตัน แต่ถ้าตั้งกรรมาธิการตามมาตรา 121 วรรค 3 ก็เชื่อว่าเดือนพฤศจิกายนจะผ่านทั้ง 6 ร่าง และมีการโหวตตามที่ท่านต้องการ
18.20 น. ภายหลัง วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกล่าวสรุปเสร็จ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 121 วรรค 3 ที่ระบุว่า เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมรัฐสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการก็ได้ เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้ศึกษาเพิ่มเติมและหารือให้รอบคอบก่อนที่จะรับหลักการหรือไม่รับหลักการอีกครั้ง
18.28 น. สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่าเดิมทีเมื่อครบถ้วนกระบวนการจะเริ่มลงมติรับหรือไม่รับหลักการ แต่เมื่อฟังวิรัชเสนอแล้ว คือจะตั้งกรรมาธิการก่อนที่จะรับหลักการหรือไม่รับหลักการในสมัยหน้า แต่ฝ่ายค้านที่ผ่านมาหวังในผลสัมฤทธิ์และมีเจตนาให้สำเร็จภายในเวลาที่เหมาะสมเพื่อที่จะแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองได้ และข้อเสนอที่ออกมาก็คิดวิเคราะห์ว่าไม่ใช่ทางที่ประสบความสำเร็จ และนำไปสู่ความล้มเหลวในการแก้รัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าที่ผ่านมาเราได้คุยกันทั้ง 3 ฝ่าย มีทั้ง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งก็ทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตรงตามเวลา และคิดว่าจะได้ลงมติ
พร้อมระบุว่าในวันที่พูดคุยกัน 3 ฝ่ายไม่มีใครพูดถึงข้อเสนอดังกล่าว และมองว่าการที่จะตั้งกรรมาธิการมาศึกษารายละเอียดถือว่าไม่ใช่ เพราะการพูดคุยที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการพูดถึงหลักการว่าจะรับหรือไม่รับ รายละเอียดควรนำไปหารือในวาระที่ 2 และจากการอภิปรายก็ไม่มีสมาชิก ส.ส. คนใดพูดว่ารายละเอียดไม่เพียงพอ แม้กระทั่ง ส.ว. ที่มีท่าทีว่ารู้ดีกว่า ส.ส. ด้วยซ้ำ
“เราตั้งกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานศึกษารับฟังความคิดเห็นครบถ้วน ถ้าจะศึกษาอีกยังไม่จำเป็น และคิดว่าเสียเวลาเปล่า” สุทินกล่าว
สุทินยังแสดงความกังวลว่าตนถูกหลอกให้ออกจากโรงเรียนหรือไม่ เพราะรัฐบาลเห็นพ้องกันมา แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง และไปศึกษา 30 วันว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ตกวันนี้หรือตกวันหน้า อย่างไรก็ตก ดังนั้นให้ร่างทั้ง 6 ฉบับตกวันนี้ไปเลยดีหรือไม่ เพราะเมื่อไปถึงสมัยหน้าแล้วก็จะไม่สามารถยื่นญัตติในสมัยนั้นได้
“ถ้าวันนี้ผิดหวังก็ยังมีก๊อก 2 คือร่างของ iLaw ที่รออยู่ แต่ถ้าไปถึงสมัยหน้า ฉบับ iLaw ก็จะไม่ได้รับการพิจารณาอีก ถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น และจะทำให้ประชาชนมองว่ารัฐสภาเตะถ่วง รัฐสภาไม่จริงใจ ทำให้เกิดความเสียหายทั้งสภา” สุทินกล่าว
18.45 น. วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ยอมรับว่าคิดเช่นเดียวกับสุทินว่าตกวันนี้ดีกว่าตกวันหน้า แต่ก็คงไม่มีใครอยากให้ร่างของตัวเองถูกตีตก แต่เมื่อฟังแล้วเห็นจุดต่างก็อยากให้เอามาลองคุยกันดูก่อน ส่วนจะมีหลักประกันอะไร ก็มีหลักประกันคือร่างของรัฐบาล และต้องบอก ส.ว. ให้ช่วยตนด้วย เพราะก็พูดเองว่าร่างของพรรคร่วมรัฐบาลก็พอไปได้ อยากให้หยุดรอสัก 1 เดือนแล้วค่อยมาว่ากัน ถ้าจะเอาร่างของ iLaw เข้ามาก็ยินดี อันไหนเหมือนกันมาวาง อันไหนที่ว่าควรแก้ก็ทำเถอะ ตนไม่อยากให้ตกวันนี้ อยากให้หยุดสัก 1 เดือนและเดินต่อ
18.49 น. สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่าวุฒิสภามีหน้าที่ไม่ต่างจาก ส.ส. กฎหมายหลายฉบับที่ผ่านมาไม่ได้รวดเร็ว หลายฉบับอย่าใจร้อน ยิ่งรัฐธรรมนูญสำคัญมาก วุฒิสภาเห็นเอกสารของพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วจริง การประชุม 2 ฝ่ายก็พูดถึงการจัดเวลา วิธีการลงมติ และหากร่างผ่านจะตั้งกรรมาธิการกี่คน พร้อมย้ำความกังวลว่าการตั้ง สสร. มายกร่างใหม่ทั้งฉบับจะขัดรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ พร้อมมองว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ฉบับที่เสนอเข้ามา ใช้ขั้นตอนเพียง 8 วันจะเร็วไปหรือไม่ ส่วนที่ระบุว่ารายงานกรรมาธิการชุดพีระพันธุ์ทำมาแล้วได้ศึกษาหรือยัง เป็นรายงานฝ่ายเดียว และ ส.ว. ยังไม่ได้เห็นพ้องด้วย ขออย่ามัดมือชก ยืนยันว่าทุกอย่างมีทางออก และถ้าจะศึกษาตามมาตรา 121 วรรค 3 ก็จะมีร่าง 6 ฉบับและร่างของประชาชนที่เข้าชื่อกันมา หรือแม้แต่ร่างของวุฒิสภา หรือร่างของคณะรัฐมนตรีที่สามารถเข้าไปร่วมพิจารณาได้ในสมัยหน้า
18.58 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย มองว่าทางออกที่อ้างมาคือทางออกให้ใคร ถ้าเป็นทางออกเพื่อพวกเราเอง ไม่ใช่ทางออกประเทศ ท่านชอบหรือ ท่านมีทางออกในสภา แต่ไม่มีทางออกไปถนน ท่านอย่าเอาทางออกผู้สั่งการเป็นที่ตั้ง การตั้งกรรมาธิการรับไปพิจารณา เมื่อเปิดสมัยประชุมวันที่ 1 พฤศจิกายน ร่างของ iLaw บรรจุ เมื่อดู 11 ข้อ หลักการทับซ้อนกับ 6 ร่างที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือจะทำให้ร่างของ iLaw นั้นตกไป ดังนั้นรัฐสภาที่บอกว่าจะทำเพื่อประชาชนจะทำให้ 1 แสนกว่ารายชื่อตกไปหรือไม่ ดังนั้นการดึงเวลาออกไปจะกลายเป็นการสร้างปัญหา และหากวันนี้ที่ประชุมมีมติตั้งกรรมาธิการ มันเป็นภาพของรัฐสภา ทุกคนก็จะต่อว่า วันนี้เราเป็นรัฐสภา เป็นที่หวังของประชาชน ทำอะไรก็ขอให้ดูหลักการเป็นหลัก ไม่ใช่มาเติมปัญหาเช่นนี้ และถ้าจะยืดไปอีก 1 เดือน คิดว่าก็ควรยุบสภาและไปเลือกตั้งใหม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าถ้าเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจะอายุสั้นมากกว่าเดิม
19.09 น. ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่าตั้งตัวไม่ทันกับเรื่องที่เกิดขึ้น และจำเป็นต้องขึ้นมาหารือ เพราะถือเป็นจุดยืนที่สำคัญ เพราะถือเป็นคนหนึ่งที่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล 200 กว่าคน ซึ่งมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ร่วมด้วย ซึ่งตนเป็นคนหนึ่งเรียกร้องกับเพื่อนสมาชิกตั้งแต่วันแรกว่าวันนี้เราทำหน้าที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้กฎหมายปกครองสูงสุดของประเทศ และรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าแก้ไขยาก เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกตนเพิ่งได้รับข่าวก่อนหน้านี้ไม่ถึงชั่วโมงว่าจะมีการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ จึงอยากบอกว่าด้วยความตั้งใจ ด้วยความอยากเห็นแนวทางในการผ่อนคลายสถานการณ์ นำไปสู่การแก้ปัญหาประเทศ และทำให้ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีดุลยภาพ ตนก็ตั้งตัวไม่ทัน เพราะ 2 วันที่ผ่านมาเราอภิปราย มีหัวหน้าพรรคนำอภิปราย และมี บัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในพรรค ร่วมกันนำสนับสนุนให้รับหลักการ
เหตุผลที่สอดคล้องต้องกันในนามพรรคร่วมรัฐบาล เราสนับสนุนญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประชาชนที่ติดตามก็รับรู้ว่าทุกคนต้องแก้ไข และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะต้องแก้มาตรา 256 เพื่อกำจัดจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่วางกลไกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำยาก และยังใช้เสียงข้างน้อยมามีอิทธิพลเหนือเสียงข้างมาก และยิ่งแก้ก็ยิ่งมัดปมไปเรื่อยๆ ดังนั้นโดยหลักการเห็นด้วยเหมือนกันว่าจะต้องมี สสร. ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเมื่อฟังคำอภิปรายแล้ว ทุกคนต้องการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน
“การพิจารณาในวันนี้เป็นการรับหลักการในการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มี สสร. ยกร่าง ซึ่งเราสามารถที่จะรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการในวาระที่ 2 มาศึกษา ซึ่งที่พูดในที่นี้เพราะต้องการแสดงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ และสิ่งที่มีการแสดงความเห็นอภิปรายถือว่าเพียงพอ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งกรรมาธิการมาศึกษาก่อนรับหลักการ ตนไม่อยากอยู่ในกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าไปถ่วงเวลา” ชินวรณ์กล่าว
19.24 น. วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ขอให้ที่ประชุมพักการประชุม 10 นาทีเพื่อหารือ
หลังจากพักการประชุมไป 15 นาทียังคงมีการถกเถียงกันต่อ โดยทางฝ่ายค้านเห็นว่าหากยังดึงดันที่จะไม่รับร่างหรือให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ขอที่จะร่วมโหวตในครั้งนี้
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ แจ้งผลการหารือว่าจะเดินตามญัตติตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาก่อนลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรก
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าไม่สามารถร่วมสังฆกรรมการประวิงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญไปอีก 8-9 เดือนได้ เพราะการเลื่อนไป 1 เดือน หากเวลาผ่านไปแล้วตีตกญัตติก็ต้องรอหลังวันที่ 22 พฤษภาคม เพราะในหลักการกฎหมายไม่สามารถเสนอซ้ำในสมัยประชุมเดียวกันได้
ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่ายินดีหากจะต้องใช้เวลาทบทวนกันของทั้งสองสภา และภูมิใจไทยขอสนับสนุนญัตติตั้งกรรมาธิการศึกษารัฐธรรมนูญ
ที่สุดแล้วที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อนรับหลักการ 432 เสียง ไม่เห็นชอบ 255 งดออกเสียง 28 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
พร้อมเสนอตั้งกรรมาธิการ 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน ส.ส. 30 คน ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1 คน โดยใช้เวลาศึกษา 30 วัน
อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอไม่ตั้งกรรมาธิการในนามพรรคเพื่อไทย และขอไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย
เช่นเดียวกับ รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ไม่ขอร่วมสังฆกรรม และจะเดินหน้าขับเคลื่อนแก้รัฐธรรมนูญต่อไป
เช่นเดียวกับพรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ก็ไม่ขอร่วมตั้งกรรมาธิการในครั้งนี้ด้วย