×

มติสภาเอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการ 7 ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ดันกฎหมายช่วยแก้ฝุ่นพิษ

โดย THE STANDARD TEAM
17.01.2024
  • LOADING...

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ให้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดฯ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ พร้อมยังรับหลักการร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่ภาคประชาชนกว่า 22,000 รายชื่อ และพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์เสนอ รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ 

 

PM2.5 รุนแรงขึ้น ต้องจัดการเป็นระบบ

 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 จึงต้องมีการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ พร้อมกำหนดให้มีการพัฒนาและบูรณาการการบริหารจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ 

 

นอกจากนี้ต้องกำหนดให้มีระบบการวางแผนการดำเนินงานและกำกับดูแล เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อลดสาเหตุการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน และกลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบการเฝ้าระวัง ระบบการเตือนภัย และระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤตจากภาวะมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดอากาศสะอาด เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน

 

ภาคประชาชนชี้กฎหมายเดิมไม่ตอบโจทย์

 

ขณะที่คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ตัวแทนภาคประชาชนผู้เสนอกฎหมายชี้แจงว่า จากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันพิษและมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 เป็นสิ่งที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้คนที่มีโรคระบบทางหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรง เป็นภัยเงียบต่อสุขอนามัยของประชาชน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง 

 

คนึงนิจกล่าวว่า สาเหตุสำคัญต่อการป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันพิษในประเทศไทยคือความไม่เพียงพอของกฎหมายที่มีในปัจจุบัน ขาดการบูรณาการ ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและทันท่วงที รวมทั้งยังจำเป็นจะต้องมีการอำนวยการและกำกับดูแลการจัดการอากาศร่วมอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนเครื่องมือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อจูงใจผู้ประกอบการที่เป็นต้นเหตุสำคัญของการก่อมลพิษได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นจะต้องมีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อบังคับใช้

 

ต้องมีกฎหมายดูแลประชาชน

 

ด้าน อลงกต มณีกาศ สส. นครพนม พรรคภูมิใจไทย ชี้แจงร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทยว่า เนื่องจากฝุ่นควันซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน และแนวโน้มของสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ และยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศ สะท้อนความล้มเหลวในการจัดการของภาครัฐ ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นมีสาเหตุมาจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ภายในประเทศ รวมไปถึงฝุ่นควันที่ลอยมาจากแหล่งกำเนิดในต่างประเทศ จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพของประชาชน

 

ประชาชนต้องได้รับอากาศบริสุทธิ์อย่างเท่าเทียม

 

ด้านชัยมงคล ไชยรบ สส. สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายจากพรรคพลังประชารัฐว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพประชาชน ทั้งจากการเผาในที่โล่ง รถยนต์ หรือภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ซึ่งเกี่ยวโยงทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ค่ารักษาพยาบาลต่างๆ พรรคพลังประชารัฐจึงได้เสนอร่างกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์อย่างเท่าเทียม แม้หลายรัฐบาลพยายามแก้ไขแต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องเสนอร่างกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือลดมลภาวะให้กับประเทศ 

 

กฎหมายช่วยจัดการมลพิษข้ามแดนได้

      

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายจากพรรคเพื่อไทยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นควันซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศทั้งจากในประเทศและหมอกควันข้ามแดนส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจ โดยมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ประชาชนต่างได้รับผลกระทบและตกอยู่ในภาวะอันตราย และยังต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาล และยังส่งผลเสียหายต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องพัฒนาและปฏิรูปการบริหารจัดการความสะอาดให้มีประสิทธิภาพ จัดการมลพิษอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การมีอากาศสะอาด 

 

โดยจะมีระบบการบริหารราชการเชิงพื้นที่ การพัฒนามาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด การประเมินคุณภาพ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น พร้อมยืนยันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถจัดการปัญหามลพิษข้ามพรมแดนได้ผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการทางภาษีและการนำเข้า เพื่อลงโทษผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษ เหมือนประเทศสิงคโปร์ 

 

ประชาชนรออากาศสะอาด

 

นอกจากนั้น ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส. พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ว่า มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีกฎหมายใช้บังคับเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เพราะประชาชนเฝ้ารอมานานเพื่อมีอากาศสะอาดหายใจ โดยมั่นใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิที่จะหายใจสะอาด สามารถรับทราบข้อมูลคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ และแก้ปัญหาจากต้นตอแหล่งกำเนิดทั้งในและต่างประเทศ 

 

คุ้มครอง-เท่าเทียม

 

ด้าน ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ส่งผลกระทบภายในประเทศมานานกว่า 10 ปี โดยไม่มีการแก้ปัญหาในเชิงกฎหมายที่ชัดเจนและครอบคลุม การแก้ปัญหาโดยบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้ มีแหล่งกำเนิดจากหลายกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ รวมไปถึงการก่อมลพิษข้ามพรมแดน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนเพื่อให้ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ และมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อปรับผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อให้คนไทยได้รับอากาศสะอาดด้วยความเท่าเทียมกัน จึงมีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายฉบับนี้

 

สนับสนุนทุกร่าง เตรียมพิจารณาต่อวาระ 2 และ 3

 

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของ สส. ส่วนใหญ่ ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดฯ ทุกร่าง ทุกฉบับ ที่ถูกเสนอมาโดยคณะรัฐมนตรี ภาคประชาชน และพรรคการเมือง เพื่อคืนอากาศสะอาด และคืนสิทธิการหายใจในอากาศสะอาด ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน รวมถึงแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน 

 

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาชุดหนึ่ง จำนวน 39 คน เพื่อพิจารณาปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 ตามขั้นตอน โดยที่ประชุมมีมติให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดฯ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ 

 

ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ฉบับ ครม.

 

สำหรับเนื้อหาภายในร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดฯ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี กำหนดให้มีการกำหนดนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการจัดระบบสิ่งแวดล้อม เพื่ออากาศสะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพทุกคน โดยให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเหตุพื้นฐาน ที่มาจากแหล่งกำเนิด รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขภาวะมลพิษทางอากาศ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศและนานาชาติ ซึ่งหน่วยงานรัฐจะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหามลพิษ  

 

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาดที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จัดทำแผนแม่บทเพื่ออากาศสะอาดและปลอดภัย พิจารณากำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อบริหารจัดการอากาศสะอาด ทั้งมาตรการการเงิน การคลัง ภาษี การส่งเสริมการลงทุน และนโยบายอื่นๆ เพื่ออากาศสะอาด เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันยังกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ จะมีโทษปรับ 50,000 บาท, ผู้ที่เผาในที่โล่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 50,000 บาท, ผู้ที่ปล่อยทิ้งอากาศเสียโดยไม่มีการบำบัดให้มีคุณภาพตามมาตรฐานควบคุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนอกประเทศ ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท เป็นต้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising