“Clothes make a statement, costumes tell a story.”
เป็นประโยคที่กล่าวโดย เมสัน คูลีย์ นักภาษาศาสตร์และอดีตอาจารย์พิเศษด้านภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะและความสำคัญของเครื่องแต่งกายในฐานะเครื่องมือที่มนุษย์ใช้เพื่อแสดงตัวตน รวมไปถึงการบ่งบอกความคิดและรสนิยมของผู้สวมใส่
แต่ในขณะเดียวกัน หากมันถูกใช้ผ่านรูปแบบของคอสตูมหรือเครื่องแต่งกายสำหรับการแสดง เสื้อผ้าก็มีความจำเป็นที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตัวละครและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วย
ในโอกาสที่งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 92 กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องน่าสนุกที่จะลองพิจารณา ‘สัญญะ’ ที่ปรากฏผ่านเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมทั้ง 5 เรื่องที่มีองค์ประกอบร่วมน่าสนใจและน่าแปลกใจ
ทั้งประเด็นที่การดำรงอยู่ของพ่อและเพศชายที่สมบูรณ์แบบล้วนขาดหายไปจากครอบครัว รวมถึงการพยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของความเป็นชายผ่านการนำเสนอสภาวะอ่อนแอของมนุษย์เพศผู้ที่คัดค้านกับภาพของมายาคติแห่งความเป็นชายในสังคมปัจจุบัน ฯลฯ
เมื่อเป็นเช่นนี้ การลองพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านการแกะรหัสทางคอสตูม โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าด้วยการใช้สีปฐมภูมิอันปรากฏอย่างเด่นชัดในภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่อง ไปจนถึงการเลือกหยิบเอาไอเท็มบางชิ้นของเครื่องแต่งกายมาอธิบายโดยไล่ไปตามลำดับความซับซ้อนของการแทนค่า
จึงเป็นเรื่องน่าสนุกและน่าชักชวนให้ทดลอง ‘อ่านหนัง’ ผ่านคอสตูมไปพร้อมๆ กัน
1. The Irishman บนสังเวียนของสีแดงและน้ำเงิน
ออกแบบเครื่องแต่งกาย: แซนดี้ เพาเวลล์, คริสโตเฟอร์ ปีเตอร์สัน
กำกับภาพยนตร์: มาร์ติน สกอร์เซซี
ภาพยนตร์ Netflix เรื่องแรกของสกอร์เซซีที่เล่าชีวิตตลอดหลายทศวรรษของ แฟรงก์ ชีแรน มือปืนชาวไอริชที่อ้างว่าเป็นผู้ลงมือสังหาร จิมมี่ ฮอฟฟา อดีตผู้นำสหภาพแรงงานอเมริกันในช่วงปี 1958-1971
ในมุมของคอสตูม นอกเหนือจากชุดสูท สูท และสูทจำนวนมากที่ตัวละครต้องสวมใส่อย่างจำเป็นเพื่อแสดงการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยและแฟชั่น พร้อมกับเน้นย้ำช่วงเวลาเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้คนซึ่งเคยมีชีวิตอยู่จริงในวงการมาเฟียอเมริกัน
เรายังพบการเล่าเรื่องผ่านองค์ประกอบของการจับคู่ความสัมพันธ์แบบขั้วตรงกันข้าม (Binary Opposition) ที่ถูกจัดกระทำด้วยสีแดงและสีน้ำเงินใน 3 ตัวละครหลัก อันได้แก่ แฟรงก์ ชีแรน (โรเบิร์ต เดอ นีโร), รัสเซล บัฟฟาลิโน (โจ เปสซี) และจิมมี่ ฮอฟฟา (อัล ปาชิโน) ที่ต้องต่อสู้กันบนสังเวียนของความสัมพันธ์ อำนาจ และความไว้วางใจไม่ต่างจากนักมวยบนเวที
แม้ว่าในทางประวัติศาสตร์จะไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าการแข่งขันหรือการกีฬาที่แบ่งขั้วเป็นฝ่ายแดงและฝ่ายน้ำเงินนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร แต่ก็เชื่อกันว่าน่าจะมีที่มาจากการต่อสู้แบบแกลดิเอเตอร์หรือการประลองยุทธแบบตัวต่อตัวของนักสู้ในสมัยอาณาจักรโรมันโบราณ ที่สีน้ำเงินนั้นถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของนักรบที่มาจากตัวแทนของชนชั้นศักดินา ขณะที่สีแดงสื่อความหมายถึงทาสและชนชั้นต่ำ
เมื่อเป็นเช่นนี้ สีแดงที่ถูกใช้บ่อยครั้งบนเครื่องแต่งกายจึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในคอสตูมของตัวละครชีแรน เพื่อย้ำให้เห็นถึงการมีที่มาจากชนชั้นล่าง ไม่ว่าจะในรายละเอียดที่ปรากฏบนเนกไท รวมไปถึงลวดลายของเสื้อสูทที่เชื่อมความสัมพันธ์เข้ากับสีในเครื่องแต่งกายของบัฟฟาลิโน ที่ในช่วงต้นเรื่องมักจะปรากฏในกลุ่มสีโทนเดียวกันราวกับจะสื่อให้เห็นถึงการที่ชีแรนต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจและการอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อมาเฟียผู้ชักนำเขาเข้าสู่วงการ
จนกระทั่งชีแรนได้รู้จักกับฮอฟฟา ประธานสหภาพแรงงานที่มาพร้อมกับสัญลักษณ์สีแดงที่ปรากฏเพียงแค่เครื่องตกแต่งในหมวกและรายละเอียดของเนกไท ก่อนที่ภาพยนตร์จะเผยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วฮอฟฟาเป็นตัวละครที่มีสีน้ำเงินเป็นองค์ประกอบหลัก
โดยเฉพาะในฉากที่ชีแรนต้องนอนค้างกับฮอฟฟาในโรงแรม และทั้งคู่อยู่ในชุดนอนแบบเดียวกัน ทว่าแตกต่างเพียงแค่ความเข้มของโทนสีฟ้า ที่นับจากนี้ภาพยนตร์จะค่อยๆ แสดงให้เห็นการส่งถ่ายสีน้ำเงินจากคอสตูมของฮอฟฟาไปสู่ชีแรนอย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างความสัมพันธ์ของสีแดงของชีแรนกับบัฟฟาลิโนเปลี่ยนไปจนนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจและแผนสั่งเก็บ
สภาวะการต่อสู้กันระหว่างอำนาจและความเชื่อใจที่ถูกจัดกระทำผ่านสีแดงและน้ำเงินนี้จะค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้นในเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะเมื่อภาพยนตร์ดำเนินไปจนถึงจุดสำคัญ เมื่อชีแรนถูกวางตัวให้เป็นผู้สังหารฮอฟฟา
เราจึงได้เห็นการสลับขั้วของสีที่ถ่ายโยงเข้าหากันของตัวละครผ่านเครื่องแต่งกายด้วยการจงใจให้ชีแรนสวมเสื้อสีน้ำเงินที่เป็นตัวแทนของฮอฟฟา ขณะที่ตัวละครฮอฟฟากลับสวมเสื้อสีแดง สัญลักษณ์ประจำของชีแรน
กระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างแยบยลนี้มีส่วนช่วยกระตุกให้ผู้ชมที่ไม่ทันระวังตัวเกิดความตึงเครียด (Dramatic Tension) พร้อมกับเกิดความเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของตัวละครทั้งคู่ เพราะเมื่อเสียงปืนลั่น ทุกอย่างก็สายเกินไป
2. Little Women หมวกเดอร์บีกับผ้าผูกคอของ โจ มาร์ช
ออกแบบเครื่องแต่งกาย: แจ็คเกอลีน ดูร์แรน
กำกับภาพยนตร์: เกรตา เกอร์วิก
ภาพยนตร์ดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิกของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ที่เล่าเรื่องราวของสี่สาวพี่น้องในช่วงเหตุการณ์สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือและใต้ในอเมริกา
แนวคิดแบบขั้วตรงกันข้ามถูกนำมาใช้อีกครั้งผ่านคู่สีแดงและน้ำเงินในคอสตูม เพื่อเล่าความสัมพันธ์ที่ต้องขับเคี่ยวกันทั้งในเรื่องความรักและจุดมุ่งหมายของชีวิตระหว่าง โจ มาร์ช (เซียร์ชา โรแนน) และเอมี่ มาร์ช (ฟลอเรนซ์ พิวจ์)
ในขณะที่เครื่องแต่งกายของเอมี่นับตั้งแต่เปิดเรื่องถูกจัดให้อยู่ในโทนสีฟ้าไปจนถึงเขียว (ในทางประวัติศาสตร์นั้น บางครั้งสีฟ้าและสีเขียวก็ถูกจัดให้เป็นสีเดียวกัน) เสื้อผ้าของโจกลับถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสีแดงและน้ำตาลเสียเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งหากเราจะลองแทนค่าความหมายที่มองเห็นนี้ผ่านกระบวนการแบบสัญวิทยา (Semiotics) ก็จะพบว่าสีแดงของเครื่องแต่งกายในฐานะของรูปสัญญะ (Signifier) กำลังถูกใช้เพื่อสะท้อนถึงความหมายสัญญะ (Signified) ที่ปรากฏในคาแรกเตอร์ของโจ อันเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากข้อกำหนดของความเป็นผู้หญิงตามกรอบคิดของสังคมช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
จนชวนให้นึกถึงแนวคิดการเปรียบเทียบเรื่องสีกับชีวิตในวรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่อง Le Rouge et le Noir หรือ The Red and the Black ของสต็องดาล ที่เล่าเรื่องความทะเยอทะยานของตัวละครหนุ่มที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ระหว่างสีแดงแห่งความฝันและจิตวิญญาณของตนเองกับความเป็นจริงอันโหดร้ายของสีดำในสังคม
ในช่วงเวลาที่ชายและหญิงจำเป็นจะต้องแต่งกายให้ถูกต้องตามเพศกายภาพของตน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนช่วยทำให้ไลฟ์สไตล์รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้คนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เริ่มเปลี่ยนแปลง
ผู้หญิงเริ่มหยิบยืมเอาเครื่องแต่งกายบางอย่างของผู้ชายมาประยุกต์ดัดแปลงให้เข้ากับเสื้อผ้า เพื่อเอื้อต่อการเคลื่อนไหวและเพิ่มความทะมัดทะแมงในการเดินทาง รวมถึงการเล่นกีฬา
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่เราจะได้เห็นภาพหญิงสาวแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าผู้ชายทั้งชุดก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ การสร้างภาพแบบทอมบอยของโจให้เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่องด้วยการจงใจให้เธอสวมเสื้อกั๊กตัวโคร่งแบบผู้ชายไปไหนมาไหนจึงทำให้คอสตูมในภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นเครื่องมือของการขยายให้เห็นถึงความพยายามที่นักออกแบบต้องการจะไฮไลต์ไอเดียที่ว่าด้วยสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะในฉากช่วงท้ายที่โจพยายามเรียกร้องสิทธิ์ในการตีพิมพ์นิยายที่เธอเป็นคนเขียนด้วยการสวมชุดแบบผู้ชายในแบบที่ผู้หญิงยุคนั้นน้อยคนจะกล้าใส่ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อกั๊กสีดำ เสื้อสูททรงหลวมสีน้ำเงินแบบที่เรียกว่า Sack Suit และหมวกทรงกลมแบบเดอร์บี (Derby Hat) พร้อมกับสวมผ้าผูกคอสีแดงแทนเนกไทที่โยงเราให้นึกถึงการใช้สีเพื่อเป็นตัวแทนของความฝันและความมุ่งมั่นตามความหมายที่ปรากฏในนวนิยายของสต็องดาล
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นความกล้าของ แจ็คเกอลีน ดูร์แรน นักออกแบบเครื่องแต่งกายที่ยอมบิดความเป็นจริงในประวัติศาสตร์เพื่อสร้างนัยความหมายใหม่ให้เกิดขึ้นกับเครื่องแต่งกายของตัวละคร
การผลักรูปลักษณ์ของโจให้อยู่ภายในเครื่องแต่งกายแบบชายหนุ่มขณะกำลังต่อรองเรื่องสิทธิที่เธอพึงมีและสมควรจะได้รับจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับบุคลิกลักษณะของตัวละครเพียงเท่านั้น หากแต่กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว
3. Jojo Rabbit รองเท้าของแม่กับสีแดงที่หายไป
ออกแบบเครื่องแต่งกาย: เมย์ ซี. รูบีโอ
กำกับภาพยนตร์: ไทกา ไวติติ
เรื่องเล่าของเหตุการณ์ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง และวีรกรรมตามล่าหายิวของเด็กชายชื่อ โจโจ้ (โรมัน กริฟฟิน เดวิส) กับเพื่อนในจินตนาการที่มีชื่อว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
สีแดงและน้ำเงินถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่าเรื่องอีกครั้งในภาพยนตร์ที่ชวนให้เราทบทวนเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นผ่านสายตาของเด็กชายเรื่องนี้ แต่คราวนี้ความน่าสนใจกลับอยู่ที่กระบวนการใช้สีของเครื่องแต่งกายที่ถูกเพิ่มความหมายทางสัญลักษณ์อย่างชัดเจนมากขึ้น
โดยเฉพาะสีแดงที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งผ่านเครื่องแต่งกายของแม่ (สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน) นับตั้งแต่สีของลิปสติกบนริมฝีปาก ลวดลายต่างๆ บนเสื้อผ้า ไวน์ในขวดที่ชอบดื่ม ไปจนถึงรองเท้าหนังทูโทนสีขาวสลับแดงในแบบที่เรียกว่า Spectator Shoes
รองเท้าที่มีรูปลักษณ์แปลกจนถึงขั้นแฟนซีด้วยการใช้หนังฉลุลายตกแต่งในแบบที่บางครั้งก็เรียกว่าวิงทิปส์ (Wingtips) คู่นั้น แท้จริงแล้วในอดีตเป็นรองเท้าของนักกีฬาชายที่นิยมสวมใส่กันราวช่วงทศวรรษที่ 1920-30 และมีจุดประสงค์สำหรับการเล่นกีฬากลางแจ้ง เช่น กอล์ฟ หรือคริกเก็ต ก่อนจะแพร่หลายไปยังคนทั่วไป และกลายเป็นรองเท้าแฟชั่นที่สวมใส่ได้ในเวลาปกติทั้งชายหญิง
สีแดงที่ปรากฏในเครื่องแต่งกายรวมทั้งรองเท้าคู่นั้นสอดประสานกันจนกลายเป็นตัวแทนของแม่และการดำรงอยู่ของพ่อที่ขาดหายไปสำหรับโจโจ้ นอกเหนือจากการเป็นสัญลักษณ์แทนความรัก ความสุข การเต้นรำ ความฝัน และอิสรภาพ ที่แม่มักจะพูดถึงให้โจโจ้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง
แต่เมื่อสีแดงเฉดเดียวกันนั้นปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของธงชาตินาซีเยอรมนี ภาพที่โจโจ้และผู้ชมมองเห็นจึงไม่ต่างจากความสวยงามในความน่าเกลียดที่เราเองล้วนมองข้ามและไม่ทันระวังตัว
การทวิสต์กลับของนัยความหมายของสีที่เกิดขึ้นเมื่อโจโจ้รับรู้ถึงการกระทำของแม่ ไม่ว่าจะเป็นการลอบช่วยเหลือและแอบเด็กหญิงชาวยิวไว้ในบ้าน ไปจนถึงการที่ได้รู้ความลับว่าแม่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อต้านนาซีเยอรมนี (Resistance) จนกระทั่งวันที่ตำรวจลับของนาซีหรือเกสตาโปมาบุกค้นบ้าน พร้อมๆ กับการหายตัวไปของแม่ จึงไม่ต่างจากการกระตุกให้ผู้ชมและโจโจ้ได้มองเห็นรวมทั้งรับรู้ถึงความจริงอันโหดร้ายของสงครามที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้อิมเมจอันสนุกสนานสวยงามที่ถูกมองจากในนัยน์ตาอันไร้เดียงสาของเด็ก
โดยเฉพาะเมื่อกล้องมักจะวางผู้ชมให้เห็นภาพในระดับสายตาของเด็กอายุ 10 ขวบอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เรามองเห็นและจดจำจึงกลายเป็นสิ่งเดียวกับทุกๆ สิ่งที่โจโจ้จดจำและมองเห็น ทั้งในช่วงครึ่งแรกของภาพยนตร์ที่คอสตูมและองค์ประกอบต่างๆ ถูกกำหนดอย่างจงใจให้มีสีสันที่สดใสเกินจริง
เรามองเห็นและจำได้ถึงสีฟ้าในชุดเสื้อคลุมของแม่ที่ตัดกับรองเท้าหนังแฟนซีสีขาวแดงที่แม่มักจะสวมและขยับเท้าเต้นรำ พร้อมๆ กับพูดถึงความฝันและวันที่สงครามจะยุติ จนเมื่อความจริงอันน่าเกลียดของสงครามปรากฏ ภาพทั้งหมดที่เราเห็นเป็นภาพเดียวกับสายตาของโจโจ้ก็หม่นลงในเวลาที่สีแดงค่อยๆ เลือนหายไป
วันนั้นปีกสีน้ำเงินของผีเสื้อโบยบินอย่างอิสรภาพขึ้นจากกองเถ้าถ่าน ก่อนที่มันจะพาเราย้อนกลับไปเห็นรองเท้าสีแดงที่ไร้ชีวิตและปราศจากความฝันของแม่ห้อยต่องแต่งจากลานประหาร ขณะที่ความพ่ายแพ้ของฮิตเลอร์กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ ในเวลาเดียวกันนั้นเราก็กำลังเห็นภาพธงนาซีสีแดงถูกกระชากทิ้งลงบนพื้น และผ้าคลุมไหล่กับขนนกสีแดงเฉดเดียวกันบนหมวกของนายทหารหัวหน้ากลุ่มยุวชนนาซีหายไปในประกายไฟจากแรงระเบิด
และเมื่อสีน้ำเงินจากธงชาติอเมริกันเข้ามายุติเหตุการณ์เลวร้ายด้วยชัยชนะ ภาพทั้งหมดในสายตาของโจโจ้ที่เรามองเห็นพร้อมกับเขาก็ค่อยๆ สอดประสานเข้าด้วยกัน เพื่อสะท้อนทั้งสองด้านของสีแดงกับสีน้ำเงินให้กลายเป็นตัวแทนของความสวยงามบนความน่าเกลียดในลักษณะที่ไม่ต่างจากความโหดร้ายของสงครามอันมีส่วนทำให้โจโจ้ได้พบกับความรัก ความหมายของการมีชีวิต การเต้นรำ และอิสรภาพ
4. Once Upon a Time…in Hollywood คำทำนายสีเหลือง
ออกแบบเครื่องแต่งกาย: อาเรียน ฟิลลิปส์
กำกับภาพยนตร์: เควนติน ทารันติโน
อ้างอิงจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญของคดีฆาตกรรมนักแสดงหญิง ชารอน เทต (มาร์โกต์ ร็อบบี้) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1969 ผ่านสายตาของตัวละครสมมติ ริค ดาลตัน (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) อดีตนักแสดงชื่อดังที่พยายามหวนคืนสู่วงการ และคลิฟฟ์ บูธ (แบรด พิตต์) สตันท์แมนคู่ใจที่บังเอิญมีบ้านพักอยู่ติดกันในฮอลลีวูด
สีแดงและสีน้ำเงินกลับมาทำหน้าที่อีกครั้งในลักษณะคู่ตรงกันข้ามผ่านเครื่องแต่งกายของตัวละครดาลตันและบูธ ด้วยการสร้างสภาวะของความสัมพันธ์ให้ผู้ชมได้เห็นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เพราะขณะที่ตัวละครของดาลตันอยู่ในชุดเสื้อหนังกับเสื้อคอเต่าสีน้ำตาลอมแดงอันสะท้อนถึงรสนิยมหรูหราและการติดอยู่ในโลกมายาแบบดาราคาวบอย
บูธกลับดูแมนๆ สบายๆ และติดดินมากกว่าด้วยแจ็กเก็ตและกางเกงยีนส์ การจัดวางคู่ความต่างของเครื่องแต่งกายให้เกิดขึ้นผ่านลักษณะที่สะท้อนเข้าหากันเช่นนี้จึงช่วยกระตุกให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความผูกพันอันลึกซึ้งในแบบหยินหยางที่ทั้งคู่มีต่อกันอย่างแยกไม่ขาดอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น สีเหลืองยังปรากฏบทบาทสำคัญในฐานะของการเป็นอีกสีหนึ่งในวงจรสีปฐมภูมิที่ถูกเลือกใช้อย่างเจาะจงกับตัวละครหลักทั้ง 3 ได้แก่ ริค ดาลตัน, คลิฟฟ์ บูธ และชารอน เทต ผ่านเครื่องแต่งกายที่พวกเขาเลือกใส่ในวันที่ต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต
เริ่มตั้งแต่เทตในชุดมินิจัมป์สูทที่เธอสวมไปในงานปาร์ตี้กับสามีผู้กำกับชื่อดังอย่าง โรมัน โปลันสกี ก่อนที่วันรุ่งขึ้นเธอจะได้พบกับ ชาร์ล แมนสัน ฆาตกรผู้จะลงมือสังหารเธอในอีกไม่กี่เดือนถัดจากนั้น
ชุดเสื้อคอเต่าสีเหลืองและแจ็กเก็ตหนังสีน้ำตาลอ่อนของดาลตันในวันที่เขาแฮงโอเวอร์แล้วต้องลากสังขารตัวเองไปถ่ายหนังคาวบอยในบทตัวร้าย ก่อนที่จะถูกสอนการแสดงโดยเด็กหญิงอายุ 8 ขวบ ขณะที่บูธสวมเสื้อฮาวายสีเหลืองสดกำลังจอดรถรับสาวฮิปปี้นักโบก ผู้ที่จะพาเขาไปยังบ้านไร่แหล่งซ่องสุมของเหล่าฮิปปี้ สมาชิกครอบครัวแมนสันแฟมิลี่
หากเราเรียงลำดับการแต่งกายทั้งหมดตามโครงสร้างไทม์ไลน์และความสัมพันธ์ของตัวละครแล้ว เราจะพบว่ามีเพียงเทตคนเดียวเท่านั้นที่สวมชุดสีเหลือง ในคืนก่อนที่ดาลตันและบูธจะต้องพบกับเรื่องวุ่นวายในวันรุ่งขึ้น
เพราะในวันเกิดเหตุที่หนุ่มๆ ต้องปวดหัวและพยายามพาตัวเองออกจากสถานการณ์อันซับซ้อนนั้น เทตกลับสวมเสื้อคอเต่าสีดำกับมินิสเกิร์ตสีขาว แล้วแวะเข้าไปดูภาพยนตร์ที่เธอเคยเป็นหนึ่งในนักแสดงประกอบอย่างมีความสุข แต่หลังจากที่วันอันวุ่นวายนั้นสิ้นสุดลง และสถานการณ์ทั้งหมดคลี่คลายพร้อมๆ กับเพลง California Dreamin’ ดังขึ้น เทตจะเป็นเพียงคนเดียวที่ยังคงติดอยู่กับการปรากฏตัวด้วยชุดสีเหลืองสดใส
ความน่าสนใจในของการวางคอนเซปต์เครื่องแต่งกายในภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกทำให้ชัดเจนมากขึ้นในคืนที่ดาลตันและบูธกลับจากยุโรป แล้วตัดสินใจไปกินอาหารที่ร้านเดียวกันกับเทตและเพื่อน
คืนนั้นเราจะเห็นเทตสวมชุดคลุมท้องสีเหลืองสว่าง ขณะที่บูธสวมเสื้อยืดรัดรูปสีดำกับกางเกงสีขาว จนดูไม่ต่างจากคอมโพสิชันของสีในชุดที่เทตเคยใส่ไปดูหนังด้วยความสุขเมื่อหลายเดือนก่อนหน้า ราวกับว่าทั้งบูธและเทตได้กลายเป็นภาพสะท้อนในกระจกของกันและกัน
ดังนั้นการที่บูธถูกทำร้ายจากสมาชิกแมนสันแฟมิลี่ในเวลาต่อมาจนถึงขั้นบาดเจ็บเลือดตกยางออกเมื่อกลับถึงบ้าน จึงไม่ต่างจากการที่คอสตูมกำลังทำหน้าที่เป็นคำทำนายที่บอกใบ้ให้คนดูได้ย้อนรำลึกถึงจุดจบอันโหดร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับเทตหลังจากนั้น
คำทำนายอันแสนโหดร้ายที่กลายเป็นจริงจนทำให้คำพยากรณ์อันบ้าคลั่งที่ว่าโลกจะถึงกาลอวสานด้วยสงครามระหว่างสีผิวที่ ชาร์ล แมนสัน ใช้ล้างสมองบรรดาสมาชิกในกลุ่ม จนนำไปสู่เหตุฆาตกรรมที่สุดท้ายกลายเป็นเพียงแค่เรื่องหลอกเด็ก
5. Joker สูทสีแดงกับอดีตสีเหลืองในเมืองสีน้ำเงิน
ออกแบบเครื่องแต่งกาย: มาร์ก บริดเจส
กำกับภาพยนตร์: ท็อดด์ ฟิลลิปส์
ในมหานครกอตแธมซิตี้ที่หม่นเศร้าและเต็มไปด้วยอาชญากรรม อาร์เธอร์ เฟล็ก (วาคีน ฟีนิกซ์) กำลังป่วยจากโรคประจำตัวที่ไม่สามารถควบคุมการหัวเราะของตนเองได้ เขาหมดสิ้นความหวังและกำลังพยายามหาทางที่จะทำชีวิตให้รอด
ตั้งแต่เปิดเรื่อง สีเหลืองถูกใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในเครื่องแต่งกายของเฟล็ก เริ่มจากเสื้อกั๊กที่เป็นส่วนประกอบในชุดตัวตลกที่กลับไม่มีความตลกในสายตาของคนที่เห็น ภายใต้สภาวะหม่นเศร้ามืดครึ้มของกอตแธมซิตี้ เฟล็กต้องถูกทำร้ายจากแก๊งเด็กอันธพาลในชุดสีน้ำเงิน ก่อนที่ตัวหนังสือ Joker สีเหลืองสดจะปรากฏขึ้น
หลังจากที่เราได้รู้จักตัวจริงของเขาเป็นครั้งแรก สีเหลืองก็จะกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของเฟล็กที่คอยตามติดตัวเขาจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโอเวอร์โค้ตที่เขาสวมเป็นประจำ เสื้อคาร์ดิแกนในวันที่เขาไปนั่งคุยกับนักสังคมสงเคราะห์ในสถานบำบัดจิต ไม่เว้นแม้แต่ชุดสีเหลืองของ บรูซ เวย์น ในวัยเด็กที่เฟล็กหลงเชื่อว่าเป็นน้องชายร่วมบิดา
สีเหลืองที่ตามหลักจิตวิทยาแล้วควรจะเป็นสีที่ให้ค่าความหมายของวัยเยาว์อันสดใสและเบิกบาน แต่สำหรับเฟล็กมันกลับชวนให้นึกถึงฝันร้ายแสนหดหู่ อดีตที่หลอกหลอน และชวนหม่นเศร้าจนน่าคลื่นเหียน
ขณะที่สีฟ้าซึ่งควรนำพาเราไปสู่ความสงบและความรู้สึกปลอดภัยก็กลับกลายเป็นตัวแทนของบรรยากาศเมืองอันไร้อนาคตและเต็มไปด้วยอันตราย ไม่ต่างจากทัศนคติของ เมอร์เรย์ เจนกินส์ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) พิธีกรโทรทัศน์ในชุดสูทสีน้ำเงินผู้กวักมือเรียกเฟล็กที่ในเวลานั้นก็สวมชุดสีน้ำเงินเช่นเดียวกันให้เดินออกจากกลุ่มผู้ชมเพื่อทำการสัมภาษณ์ด้วยคำถามงี่เง่าในรายการสดเพื่อกระตุ้นเสียงหัวเราะขบขันจากบรรดาผู้ชมในห้องส่ง
และหากเสียงหัวเราะนั้นไม่ต่างจากเหรียญสองด้านที่เป็นได้ทั้งความสุข แต่ขณะเดียวกันก็สามารถกลายเป็นตัวแทนของความเศร้าและความเจ็บป่วย เหมือนกับขั้วบวกและลบที่เกิดขึ้นกับสีเหลืองและสีน้ำเงิน
สีแดงสำหรับเฟล็กที่เกิดขึ้นจากรอยยิ้มและจมูกสีแดงของตัวตลกก็คงไม่ต่างจากความฝันและความรักที่สามารถชักพาเขาให้ก้าวไปสู่ความเจ็บปวดและความโกรธแค้น ด้วยเหตุนี้เราจึงเริ่มเห็นสีแดงในเครื่องแต่งกายผ่านการให้ความหมายของ ‘สิ่งของต้องปรารถนา’ (Object of Desire) ในสายตาของเฟล็ก
ไม่ว่าจะเป็นในชุดกระโปรงสีแดงของหญิงสาวข้างห้องที่เขาหลงรัก เสื้อกั๊กสีแดงตัวที่เขาใส่ขึ้นพูดมุกตลกจนได้รับเสียงปรบมือ ก่อนที่สีแดงนั้นจะกลายเป็นตัวแทนของเลือดที่เกิดขึ้นมาจากการฆ่าด้วยความโกรธ และชุดสูทสีแดงชุดสุดท้ายที่ทำให้เขากลายเป็นโจ๊กเกอร์ได้โดยสมบูรณ์
ถึงแม้ว่า มาร์ก บริดเจส นักออกแบบเครื่องแต่งกาย จะให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจเรื่องของชุดสูทสีแดงชุดนี้มาจากตัวละครโจ๊กเกอร์ที่เคยแสดงไว้โดย ซีซาร์ โรเมโร ในซีรีส์เรื่อง Batman ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ในช่วงทศวรรษที่ 1960
ทว่าการเพิ่มสัญลักษณ์และขยายพัฒนาการทั้งในส่วนของภูมิหลังและสภาพแวดล้อมของเฟล็กด้วยสีและองค์ประกอบอื่นๆ จนส่งอิทธิพลต่อการกระทำของเขาก่อนที่จะได้กลายเป็นโจ๊กเกอร์ได้อย่างชัดเจนนั้น ก็นับว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการช่วยขยายความเข้าใจของผู้ชมที่มีกับตัวละครให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นมันยังช่วยทำให้อิมเมจของสูทสีแดง เสื้อกั๊กสีเหลือง และเชิ้ตสีเขียวน้ำเงินของโจ๊กเกอร์ในเวอร์ชันใหม่นี้สามารถสั่นสะเทือนหัวใจของเราได้อย่างทรงพลัง พร้อมๆ กับสร้างความน่าหวาดกลัวให้มีมากยิ่งขึ้นจนน่าขนลุก
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://www.gq.com/story/irishman-costumes-interview-pajamas
- https://www.instyle.com/fashion/little-women-movie-costumes-paintings
- https://www.motionpictures.org/2019/10/jojo-rabbit-costume-designer-mayes-rubeo-on-outfitting-taika-waititis-vision/
- https://deadline.com/2019/12/once-upon-a-time-in-hollywood-costume-designer-arianne-phillips-quentin-tarantino-interview-news-1202807200/
- https://deadline.com/2019/11/joker-costume-designer-mark-bridges-joaquin-phoenix-marriage-story-interview-news-1202783500/