×

คุ้มไหมกับการใช้เงิน 4.8 หมื่นล้านบาท สร้าง ‘สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์’ ที่ไม่ได้เปิดใช้งานทุกวัน

24.08.2023
  • LOADING...
สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์

HIGHLIGHTS

  • สนามกีฬาแห่งนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการแข่งขันกีฬาเพียงอย่างเดียว มันถูกคิดค้นบนความตั้งใจที่จะยกระดับของสนามกีฬาให้สูงขึ้นไปอีก ไม่เพียงแต่เรื่องของการออกแบบ ความรู้สึก ไปจนถึงการหลอมรวมกันระหว่างสนามกีฬา ชุมชน และชีพจรของเมือง
  • นับตั้งแต่เปิดใช้งานสนามเมื่อปี 2014 เป็นต้นมา สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์เจอดราม่าใหญ่โตหลายครั้ง ไม่ว่าจะเรื่องคุณภาพของสนามหญ้า หลังคาสนามรั่ว ไปจนถึงระบบแสงสีในสนามล่มในการแสดงวันชาติ! 
  • รัฐบาลสิงคโปร์ขอซื้อสิทธิ์ในการบริหารจัดการ Sports Hub กลับคืนจาก SHPL ด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท
  • คุณค่าในทางอ้อม การที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของอาเซียน ซึ่งหมายถึงโอกาสในการจัดอีเวนต์ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาใหญ่ที่สามารถไปได้ไกลถึงระดับโลก รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินมากมายที่พร้อมวนเวียนมาที่สิงคโปร์ ถือเป็นผลดีต่อประเทศอย่างมาก

ภาพสนามที่เปียกชุ่มจนทำให้เกมฟุตบอลนัดอุ่นเครื่องระหว่าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ กับ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เป็นภาพที่แตกต่างอย่างสุดขั้วจากภาพของบรรยากาศสุดคึกคักก่อนแมตช์ระหว่าง ลิเวอร์พูล พบ บาเยิร์น มิวนิก ที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD

           

นอกจากเสียงดนตรีจากดีเจที่เปิดเพลงสร้างความคึกคักกระหึ่มสนาม เงยหน้ามองขึ้นไปหลังคาสนามก็ถูกปิดเรียบร้อยไม่ต้องกลัวสายฝนจะสาดลงมา พร้อมลมเย็นแบบแผ่วๆ จากเครื่องปรับอากาศภายในสนามที่ทำงานได้ดีมากเมื่อคิดถึงสภาพอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศบนเส้นศูนย์สูตรแบบสิงคโปร์

           

เห็นแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะมีการคิดเปรียบเทียบสนามกีฬาแห่งชาติทั้งสองแห่งในเรื่องของความรู้สึก โดยเฉพาะในกลุ่มแฟนบอลชาวไทยที่เดินทางตามไปเชียร์ทีมขวัญใจมหาชนอย่าง ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูลเป็นจำนวนมาก

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


      

     

แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว ความแตกต่างระหว่างสนามกีฬาทั้งสองมีเยอะมาก และสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์เองก็เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

           

เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นมากกว่าแค่สนามกีฬาระดับโลก

           

มาลองทำความรู้จักเรื่องราวของสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์กันว่าเขาคิดและลงมือทำอย่างไร

           

และคำถามสำคัญที่จ่ายไป 4.8 หมื่นล้านบาทในการสร้างสนามคุ้มค่าหรือไม่?

 

จุดศูนย์กลางของคนรักกีฬา

 

ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีเนื้อที่น้อยมาก ทุกตารางนิ้วมีทั้งมูลค่าและคุณค่ามากมายมหาศาล แต่พวกเขากลับยอมสละพื้นที่ถึงกว่า 75,000 ตารางเมตร เพื่อสร้างสนามกีฬาขนาดยักษ์ความจุกว่า 55,000 คนขึ้นมาในย่าน Kallang

           

แต่หัวใจสำคัญสำหรับสนามกีฬาแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อปี 2014 นั้นไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาอย่างฟุตบอลเพียงอย่างเดียว

           

เพราะสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore National Stadium) นั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของโครงการขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า ‘Singapore Sports Hub’

           

โครงการดังกล่าวนั้นริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2001 ตามการแนะนำของ อับดุลลาห์ ทาร์มูกี (Abdullah Tarmugi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาชุมชนและกีฬา ซึ่งได้รับการเสนอรายงานจากคณะกรรมการการกีฬาสิงคโปร์ (The Committee of Sporting Singapore) ที่เสนอให้มีการสร้างศูนย์กีฬาแห่งใหม่ใจกลางเมืองเพื่อทดแทนสนามกีฬาแห่งชาติแห่งเดิมที่ทรุดโทรม และสร้างวัฒนธรรมการเล่นกีฬาขึ้นใหม่

           

จากปี 2001 โครงการ Sports Hub ได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยมีการคิดอย่างรอบด้านถึงประโยชน์การใช้งานภายในศูนย์ ไปจนถึงเรื่องของการเดินทางของประชาชนที่จะมาสนาม ซึ่งทำให้ภายในศูนย์กีฬาแห่งนี้ประกอบไปด้วยสนามกีฬาและอื่นๆ มากมาย ได้แก่

 

  • สนามกีฬาแห่งชาติ ความจุ 55,000 ที่มีหลังคาสามารถเปิด-ปิดได้
  • สนามกีฬาอินดอร์สิงคโปร์ สนามกีฬาในร่มความจุ 12,000 คน
  • ศูนย์กีฬาว่ายน้ำ OCBC Aquatic Centre ที่มีสระขนาดและคุณภาพระดับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่สามารถจัดการแข่งขันระดับนานาชาติของสมาคมกีฬาว่ายน้ำนานาชาติ (FINA) ได้
  • OCBC อารีนา สำหรับใช้จัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาในร่ม
  • ศูนย์กีฬาทางน้ำสำหรับเรือคายัคและเรือแคนู
  • สนามกีฬาสำหรับกีฬาต่างๆ เช่น สนามบาสเกตบอล, เน็ตบอล, วอลเลย์บอล รวมถึงลู่สำหรับวิ่งและจักรยาน
  • หอสมุดกีฬา (Sports Hub Library)
  • ห้างสรรพสินค้า Kallang Wave Mall ที่มีร้านค้าและร้านอาหารติดสนาม รวมถึงกำแพงสำหรับกีฬาปีนเขา และสวนน้ำสำหรับเด็กๆ

 

โดยที่ทั้งหมดนี้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายผ่านการเดินทางระบบสาธารณะอย่างรถใต้ดินสายสีส้มสถานี Stadium ซึ่งไม่เพียงแต่จะเดินทางมาถึงได้ง่าย แค่ออกจากสถานีก็เจอสนามกีฬาแล้ว และยังสามารถระบายคนออกจากพื้นที่ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วอย่างมาก

           

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทุกอย่างผ่าน ‘การคิดแบบรอบด้าน’ มาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทำเลที่ตั้ง การเดินทาง ไปจนถึงการใช้ประโยชน์ของสถานที่ให้มากที่สุด

 

ภาพ: Nicky Loh / Getty Images

           

อภิมหาโครงการนี้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มกราคม 2008 และใช้เวลา 6 ปีในการดำเนินการรวมถึงการก่อสร้าง ก่อนจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการได้ในปี 2014

 

ไข่มุกแห่งอาเซียน

 

ท่ามกลางสิ่งต่างๆ มากมายภายในศูนย์กีฬา Singapore Sports Hub สิ่งที่ถือเป็น ‘หัวใจ’ ย่อมหนีไม่พ้นสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์

           

ก่อนก่อสร้าง สนามกีฬาแห่งชาติแห่งนี้ได้มีการเปิดให้เสนอแบบ โดยผู้เสนอรายแรกได้แก่ บริษัท Alpine Mayreder ซึ่งเสนอแบบสนามที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสนามอลิอันซ์ อารีนา หนึ่งในสนามฟุตบอลระดับโลกของทีมบาเยิร์น มิวนิก ภายใต้ชื่อ Premier Park ที่จะมีหลังคาเปิด-ปิดได้ และจอโปรเจกชันขนาดยักษ์

           

ขณะที่ SSHC ได้เสนอแบบสนามภายใต้คอนเซปต์ ‘โดมทำความเย็น’ (Cool Dome’ โดยสนามได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบเป็นรูปเกือกม้า ที่มีหลังคาสนามที่สามารถทำการเปิดและปิดได้เช่นกัน ซึ่งอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า SSHC เป็นผู้ชนะก่อนที่จะมีการร่วมทุนกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในลักษณะ Public-Private Partnership (PPP) อันประกอบไปด้วย InfraRed Capital Partners, Dragages Singapore, Cushman & Wakefield Facilities & Engineering, and Global Spectrum Asia ร่วมกันในนาม ‘SportsHub Pte Limited’ (SHPL)

           

อย่างไรก็ดี สนามกีฬาแห่งนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการแข่งขันกีฬาเพียงอย่างเดียว

           

และที่สำคัญมันถูกคิดค้นบนความตั้งใจที่จะยกระดับของสนามกีฬาให้สูงขึ้นไปอีก ไม่เพียงแต่เรื่องของการออกแบบ ความรู้สึก ไปจนถึงการหลอมรวมกันระหว่างสนามกีฬา ชุมชน และชีพจรของเมือง

 

สนามกีฬาความจุ 55,000 ที่นั่งจึงเป็นมากกว่าแค่สนามกีฬาเฉยๆ

           

“สิงคโปร์ไม่ได้เป็นชาติที่เล่นกีฬาอย่างเดียว” อุนจินเทียก (Oon Jin Teik) COO ของ Singapore Sports Hub กล่าวต่อ CNN เมื่อปี 2014 ที่เปิดทำการใช้สนามครั้งแรก “ศูนย์กีฬาแห่งนี้จะรองรับทั้งกีฬาฟุตบอล กรีฑา รักบี้ คริกเก็ต หรือแม้แต่การแสดงคอนเสิร์ตที่จะจัดใต้หลังคาขนาดยักษ์”

           

หลังคาขนาดยักษ์นี้มีความยาวถึง 310 เมตร และเป็นหลังคาโดมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ปกป้องสนามและผู้ชมจากสายลม แสงแดด ความร้อน ไปจนถึงสายฝนที่ไม่สามารถทำอะไรสนามแห่งนี้ได้อย่างแน่นอน

           

โดยหลังคาสนามเปิดและปิดได้ภายในระยะเวลาแค่ 22 นาทีเท่านั้น

           

มากไปกว่านั้น เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตร ทำให้สภาพอากาศร้อนชื้น สนามแห่งนี้จึงมีระบบปรับอากาศที่ทำความเย็นให้แก่สนาม ที่จะทำให้ผู้ชมรับชมได้อย่างสบายใจด้วย โดยใช้ระบบล้ำสมัย Bowl Cooling System ที่ลดการใช้พลังงานได้มากถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับระบบปรับอากาศภายในสนามกีฬาขนาดใหญ่แห่งอื่น

 

ภาพ: Christian Richters / View Pictures / Universal Images Group via Getty Images

           

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สนามแห่งนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรองรับชาวสิงคโปร์เพียงอย่างเดียว

           

ทุกสิ่งที่สร้าง ทุกอย่างที่ลงทุน เป็นการทำเพื่อยกระดับให้สิงคโปร์กลายเป็น ‘ศูนย์กลาง’ สำหรับกีฬาและความบันเทิงของภูมิภาคด้วย ซึ่งสิ่งนี้เริ่มเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการที่มีทีมฟุตบอลระดับโลกจากยุโรปเดินทางมาทำการแข่งขันที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ในช่วงเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลใหม่

           

รวมถึงสุดยอดคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Jay Chou, Madonna รวมถึง Coldplay และ Taylor Swift ที่เตรียมเปิดการแสดงถึง 6 รอบในช่วงต้นปี 2024 โดยเฉพาะนักร้องสาวคนดังอย่าง Taylor Swift ที่ไม่เปิดการแสดงในประเทศอื่นในแถบอาเซียนเลย

           

เพราะที่นี่พร้อมสำหรับทุกด้าน ทั้งเรื่องของสถานที่ ระบบที่รองรับ ไปจนถึงการมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ชม

           

ไม่ต่างอะไรจากไข่มุกแห่งอาเซียน ที่ไม่จำเป็นต้องมองหาที่ไหนอีก

 

สนามที่สมบูรณ์แบบ? ใครบอก!

 

แต่ใดๆ ในโลกล้วนมีด้านที่เลวร้ายด้วยกันทั้งนั้น สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์เองก็ไม่ได้แตกต่างกัน

           

นับตั้งแต่เปิดใช้งานสนามเมื่อปี 2014 เป็นต้นมา หนึ่งในประเด็นใหญ่ที่กลายเป็นดราม่าใหญ่โตคือเรื่องคุณภาพของสนาม ในความหมายของสนามจริงๆ ที่ไม่ใช่ระบบหรือสิ่งปลูกสร้าง

           

หญ้าบนสนามแห่งนี้ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่จะใช้แข่งขันเกมฟุตบอลในระดับสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมากเมื่อคิดถึงการลงทุนมากมายมหาศาลที่มาพร้อมกับแผนการใช้ประโยชน์ของสนามแบบอเนกประสงค์

           

แย่ขนาดไหน? ถึงขั้นที่การแข่งขันรักบี้ของทีมนิวซีแลนด์ ออลแบล็กส์ ต้องยกเลิกเลยทีเดียว ด้วยเหตุผลเรื่องของความปลอดภัย

           

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ผู้บริหารของสนามกีฬาถูกตำหนิอย่างมาก และต้องมีการวางแผนแก้ปัญหาเป็นการเร่งด่วน ซึ่งมีตั้งแต่การติดตั้งระบบไฟที่ใช้บำรุงดูแลสนามหญ้าที่อยู่ใต้หลังคา ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 52.98 ล้านบาท ก่อนจะมีการปรับปรุงอีกหลายครั้งกว่าจะได้พื้นสนามที่ยอดเยี่ยม

           

หลังคาสนามเองก็เคยเกิดการรั่วมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในรายการเทนนิส WTA Finals ไปจนถึงคอนเสิร์ตของ Jay Chou ที่โดนแฟนเพลงสาปส่งอย่างหนัก ไม่นับในเรื่องของระบบเสียงของสนามที่ไม่ได้ดีอย่างที่โฆษณาเอาไว้

           

แต่อะไรก็ไม่เท่ากับปัญหาขัดข้องทางเทคนิคในวันสำคัญที่สุดของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งก็คือวันชาติที่จะมีการแสดงของกองทัพ National Parade Day โดยปกติแล้วจะจัดการแสดงที่อ่าวมารีนา แต่ในปี 2016 ได้มีการจัดแสดงที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์แทน

           

ปรากฏว่าในวันนั้นระบบไฟสนามเกิดขัดข้องจนไม่สามารถฉายไฟเป็นสีประจำธงชาติสิงคโปร์ได้ในระหว่างการเดินขบวน ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ล้มเลิกแผนการจัดงานที่สนามกีฬาแห่งนี้ไปโดยปริยาย

           

ไม่นับเรื่องที่มีการออกข่าวว่างบประมาณสำหรับการแสดงถูกลงกว่าปกติ 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 260 ล้านบาท แต่เอาเข้าจริงกลับใช้งบประมาณถึง 39.4 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 1 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าการใช้งบประมาณปกติถึงเกือบ 2 เท่า

           

เรียกว่าสนามแห่งนี้เองก็ผ่านช่วงเวลาการเผชิญปัญหารูปแบบต่างๆ มาไม่น้อยเหมือนกัน

           

รวมถึงการต้องตอบคำถามสำคัญที่สุดคือ การลงทุนมหาศาลที่งบบานปลายไปถึง 1.87 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 4.8 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่?

 

 

ภาพ: Yong Teck Lim / Getty Images

 

สร้างสนามกีฬาคุ้มค่าตรงไหน?

 

ตามข้อมูลแล้วสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 1.87 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นงบประมาณการก่อสร้างสนามกีฬาที่สูงมากเป็นลำดับที่ 9 ของโลก

           

การลงทุนมหาศาลระดับนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสร้างรายได้กลับมาเพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

           

สัญญาณของปัญหาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ขวบปีแรกๆ เมื่อผู้บริหารชุดเดิมทยอยกันลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่ผู้ที่เช่าห้องสูทภายในสนามปฏิเสธที่จะต่อสัญญาออกไป เพราะจ่ายเงินมหาศาลเมื่อเทียบกับจำนวนอีเวนต์ที่เกิดขึ้น

           

ไม่นับเรื่องของศูนย์การค้า Kallang Wave ที่ไม่ตอบโจทย์ ร้านค้าต่างๆ ไม่ได้ขายดีนัก และของที่ขายก็ไม่ได้ดีเมื่อเทียบกับห้างดังบนถนนออร์ชาร์ด หรือวีโว่ ซิตี้ ทางเชื่อมต่อไปยังเกาะเซนโตซา ร้านอาหารเองแม้จะมีให้เลือกเยอะแต่ก็มีราคาค่อนข้างสูง

           

ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายที่สุดในช่วงของโควิดที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมอะไรได้เลย โดยช่วงนั้นกลายเป็นที่พักพิงสำหรับแรงงานต่างด้าวเท่านั้น ทุกอย่างซบเซาอย่างมาก ในขณะที่การดูแลสนามให้อยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมที่สุดเสมอใช้ต้นทุนมหาศาลถึงปีละกว่า 68 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 1.7 พันล้านบาท

           

ปัญหาหนักข้อเหล่านี้ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซง เริ่มจากการพยายามผลักดันโครงการในการทำให้สิงคโปร์กลายเป็น ‘หมุดหมาย’ สำหรับการจัดการแข่งขันกีฬา ไปจนถึงการแสดงคอนเสิร์ตประจำภูมิภาคอาเซียน ผ่านมาตรการการสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

           

และการตัดสินใจครั้งสำคัญคือการขอซื้อสิทธิ์ในการบริหารจัดการ Sports Hub กลับคืนจาก SHPL เมื่อปี 2022 ด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท แม้จะยังไม่ครบสัญญาสัมปทานก็ตาม

           

เรื่องนี้ถูกจับตามองอย่างมากว่าเป็นความล้มเหลวของการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือไม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่โครงการแบบ PPP ทุกโครงการจะล้มเหลว เพียงแต่สำหรับ Singapore Sports Hub แล้วปฏิเสธได้ยากว่ามีปัญหาจริงๆ

           

อย่างไรก็ดี ข้อดีคือเมื่อกลับมาอยู่ในการดูแลของรัฐภายใต้บริษัท Sport Singapore (SportSG) ที่จะเข้ามาบริหารจัดการกิจการทุกอย่าง และแก้ไขปัญหาที่มี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้งานให้คุ้มค่า พยายามจัดการแสดงหรือจัดการแข่งขันกีฬาให้บ่อยขึ้น ไปจนถึงเรื่องการบำรุงรักษาสนาม และแผนการปรับปรุงสนามในอนาคต

           

ข้อดีคืออย่างน้อยสนามกีฬาแห่งนี้จะยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่ง ถึงแม้จะตอบคำถามได้ยากในเรื่องของความคุ้มค่าของการลงทุน โดยเฉพาะกับการที่สนามเพิ่งเปิดใช้งานมาได้เพียงแค่ 9 ปี ยังยากที่จะตอบได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ในเรื่องของตัวเลขผลประกอบการทางตรง

           

แต่คุณค่าในทางอ้อม การที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของอาเซียน ซึ่งหมายถึงโอกาสในการจัดอีเวนต์ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาใหญ่ที่สามารถไปได้ไกลถึงระดับโลก รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินมากมายที่พร้อมวนเวียนมาที่สิงคโปร์ ถือเป็นผลดีต่อประเทศอย่างมาก

           

ไม่เพียงแค่ชื่อเสียง แต่หมายถึงการดึงดูดเม็ดเงินจากแฟนกีฬาหรือแฟนเพลงที่ย่อมต้องควบตำแหน่งนักท่องเที่ยวไปด้วยในตัว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวไม่น้อยอย่างสิงคโปร์

           

ส่วนอีกด้านที่สำคัญไม่แพ้กันคือ คุณค่าของ Singapore Sports Hub ที่เป็นพื้นที่สำหรับชาวสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเพศใด วัยใด ที่สามารถมาออกกำลังกายที่นี่ได้อย่างสะดวกสบาย ใช้จ่ายวันเวลาอย่างมีความสุขในทุกวัน คิดจะมาออกกำลังกายก็เดินทางง่าย ปลอดภัย

           

สำหรับประเทศที่ชีวิตค่อนข้างเครียดอย่างสิงคโปร์ สุขภาพกายและใจที่ดีของคนเป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมาก และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้

           

การลงทุนมหาศาลเพื่อสิ่งที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ก็ฟังดูไม่แย่เกินไปไม่ใช่หรือ?

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising