×

ทำไมไทยถึงมีต้นทุนผลิตไฟถูกลง เมื่อการผลิตปิโตรเลียมอ่าวไทยเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต

07.03.2023
  • LOADING...
ต้นทุนผลิตไฟฟ้า

ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 8 มีนาคมเป็นต้นไป ประเทศไทยจะมีต้นทุนผลิตไฟถูกลง เมื่อถึงจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์พลังงานปิโตรเลียมไทย ‘จากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC)’ ที่คณะรัฐมนตรีไฟเขียว ปตท.สผ.-เชฟรอน ได้สิทธิ์ประมูลอ่าวไทย (แหล่งบงกช)

 

วันนี้ (7 มีนาคม) สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในการยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 

 

โดยบริษัท ปตท.สผ. อีดี เป็นผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515.42 ตารางกิโลเมตร และอนุมัติให้บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร 

  

ทั้งนี้ การดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC) ซึ่งจะดำเนินงานโดย ปตท.สผ. อีดี

 

โดยมั่นใจว่าสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ราบรื่นทุกขั้นตอนแบบไร้รอยต่อและไร้ปัญหา เนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เตรียมความพร้อมรองรับ โดยได้ตั้งวอร์รูมเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านในลักษณะบูรณาการร่วมกับผู้รับสัมปทานรายเดิม ผู้รับสัญญารายใหม่ และผู้รับซื้อปิโตรเลียม ผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบัญชาการที่ห้องวอร์รูมในกระทรวงพลังงาน และมีทีมเฉพาะกิจภาคสนาม จำนวน 3 ทีม คอยติดตาม ควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบนแท่นผลิตในทะเลอ่าวไทย จะประจำที่แท่นผลิตกลางบงกช เพื่อตรวจสอบปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรอบสุดท้ายในช่วงเวลาก่อนหมดอายุสัมปทาน (ก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 8 มีนาคม) รวมทั้งวัดปริมาณปิโตรเลียมที่คงค้างในเรือกักเก็บ ก่อนที่จะมีการส่งมอบให้กับผู้รับสัญญารายใหม่อย่างเป็นทางการวันนี้

 

“เที่ยงคืนวันที่ 8 มีนาคม 2566 และวันพรุ่งนี้ ถือเป็นอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์พลังงานของประเทศไทยที่จะใช้ระบบใหม่ในกิจการปิโตรเลียม จากเดิมที่ใช้ระบบสัมปทาน แต่ระบบใหม่จะเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC)” สราวุธกล่าว

 

ระบบแบ่งปันผลผลิตกดราคาก๊าซลงกว่า 2 หมื่นล้านบาท

โดยความต่างจากระบบสัมปทานคือ เมื่อเปลี่ยนเป็น ‘ระบบแบ่งปันผลผลิต’ แล้วจะมีผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากแปลง G2/61 ปรับลดลงจากเดิม 279-324 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 172 บาทต่อล้านบีทียู หรือลดลงประมาณ 107-152 บาทต่อล้านบีทียู คิดเป็นมูลค่าประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท (เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2566) 

 

นอกจากนี้ระบบแบ่งปันผลผลิตจะช่วยสร้างเสถียรภาพของราคาก๊าซธรรมชาติที่จะนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ลดต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ลดพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และมีส่วนช่วยลดผลกระทบเกี่ยวกับราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนได้ อีกทั้งราคาก๊าซธรรมชาติโลกในปัจจุบันก็เริ่มปรับตัวลดลง ทั้งนี้จะช่วยลดได้มาก-น้อยแค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 

 

ปัจจุบันแหล่งบงกชสามารถผลิตก๊าซธรรมธรรมชาติอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ในข้อตกลงใหม่คือ ‘ระบบแบ่งปันผลผลิต’ จะกำหนดไว้ให้มีการผลิตก๊าซธรรมธรรมชาติที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

 

ดังนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงขอความร่วมมือผู้รับสัญญารายใหม่คงอัตราการผลิตก๊าซธรรมธรรมชาติที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อให้สามารถชดเชยปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลงของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเดิม) 

 

สำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย สร้างการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบ ‘ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม’ และรายได้อื่นๆ (ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต) เป็นมูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านบาท 

 

เชฟรอนพร้อมรับช่วงต่อระบบแบ่งปันผลผลิต

รณรงค์ ชาญเลขา กรรมการ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า เชฟรอน ออฟชอร์ จะมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตระหว่างกระทรวงพลังงานและผู้ได้รับคัดเลือกต่อไป และยินดีที่ได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐให้เป็นผู้รับสัญญาของแหล่ง G2/65 

 

ซึ่งการร่วมขอเป็นผู้รับสิทธิ์ในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการเดินหน้าภารกิจส่งมอบพลังงานที่สะอาดขึ้นอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาวต่อไป ดังที่ได้ดำเนินงานมากว่า 60 ปี

 

“ด้วยการผสานความรู้ความเชี่ยวชาญในธรณีวิทยาของอ่าวไทยเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และแนวทางปฏิบัติงานที่เป็นเลิศจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เชฟรอนเชื่อมั่นว่าเราสามารถพัฒนาปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งขับเคลื่อนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593” รณรงค์กล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X