×

ตีแผ่กลโกงเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง เปิดช่องโหว่ระบบราชการ สังคมไทยควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้

28.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • 3 ปีที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่งไปแล้วกว่า 1,367.96 ล้านบาท มีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว 682,133 คน หากมีการทุจริต นั่นหมายถึงชะตากรรมของคนนับแสนกำลังถูกย่ำยีซ้ำจากข้าราชการที่มีหน้าที่ช่วยเหลือคุ้มครองพวกเขาโดยตรง
  • ดร.มานะ นิมิตรมงคล ให้ความเห็นว่าความน่ากลัวของการคอร์รัปชันรูปแบบนี้คือการที่ทุกฝ่ายวิน-วิน ซึ่งทำให้การตรวจสอบกลายเป็นเรื่องยาก และเป็นการโกงกินอย่างเป็นระบบที่อาจฝังรากลึกในระยะยาว
  • โครงการดังกล่าวมีช่องโหว่ในหลายขั้นตอน ตั้งแต่การใช้ดุลพินิจของผู้อำนวยการศูนย์ฯ ขั้นตอนการเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานที่ตรวจสอบยาก รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณ

กรณีการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่งกลายเป็นประเด็นที่คนในสังคมให้ความสนใจจับตามองเป็นพิเศษในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยจุดเริ่มต้นของการเปิดโปงกลโกงนี้มาจาก น้องแบม-ปณิดา ยศปัญญา นักศึกษาฝึกงานของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น ก่อนจะลุกลามบานปลายกลายเป็นการโกงกินที่ขยายวงกว้างออกไปทั่วประเทศ

 

ในขณะที่สังคมเชิดชูยกย่องความกล้าหาญของน้องแบมและเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ที่ออกมาเปิดโปงเรื่องดังกล่าวอย่างไม่เกรงกลัวภัยคุกคาม ในอีกด้าน การตรวจสอบทุจริตยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการตรวจพบการทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 14 จังหวัดแล้ว และอาจมีข้าราชการระดับสูงหลายคนเกี่ยวข้องกับมหากาพย์การทุจริตเรื่องนี้ด้วย

 

แม้ผลลัพธ์จะยังไม่ชี้ชัดว่าใครถูก-ผิด แต่ระหว่างนี้มีหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และสังคมน่าจะได้เรียนรู้ร่วมกันได้เพื่อป้องกันไม่ให้การทุจริตลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

 

ที่มาของกลโกงเงินสงเคราะห์

ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 เพื่อจัดสรรสวัสดิการสังคมให้กับคน 3 กลุ่มคือ กลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ให้ทุนประกอบอาชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย และให้เงินสงเคราะห์แก่ผู้ติดเชื้อเอดส์

 

โดยในหลักเกณฑ์การขอรับเงินอุดหนุนระบุไว้ว่า ผู้ขอเงินอุดหนุนต้องมีสัญชาติไทย หัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้หารายได้เสียชีวิต ทอดทิ้ง สูญหาย หรือต้องโทษจำคุก เจ็บป่วยร้ายแรง พิการจนไม่สามารถทำงานได้ ครอบครัวประสบภาวะยากลำบากในการดำรงชีพ ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ด้วยเหตุอื่นใด หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ ในพื้นที่

 

ขั้นตอนการจ่ายเงินสงเคราะห์ดังกล่าวจะเริ่มจากเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรืออาสาสมัครออกไปพบเจอผู้เดือดร้อน หรือผู้เดือดร้อนเข้ามาขอความช่วยเหลือเองที่ศูนย์ฯ จากนั้นทางศูนย์ฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและบันทึกข้อมูล แล้วนำกลับมาวิเคราะห์หาแนวทางการช่วยเหลือ

 

ซึ่งการช่วยเหลือมีตั้งแต่ให้เงิน ให้สิ่งของอุปโภคบริโภค ให้เข้ารับการศึกษา ให้เข้ารับการรักษาพยาบาล ก่อนจะเสนอให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือผู้ได้รับมอบหมาย นั่นคือผู้อำนวยการศูนย์ฯ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติต่อไป

 

สำหรับการให้สงเคราะห์ด้วยเงิน ผู้อำนวยการศูนย์ฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่าครอบครัวผู้เดือดร้อนควรจะได้รับวงเงินสงเคราะห์เท่าไร โดยเริ่มตั้งแต่ 1,000-3,000 บาทต่อครั้ง และจะให้ได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปีงบประมาณ จากนั้นจึงจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปมอบเงิน ซึ่งตามระเบียบการเบิกจ่ายจะทำได้ใน 2 แนวทางคือ จ่ายเป็นเช็คและเงินสด

 

 

โดย 3 ปีที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้วกว่า 1,367.96 ล้านบาท มีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว 682,133 คน แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2559 จำนวน 298,022 คน วงเงิน 599.74 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 246,872 คน วงเงิน 493.74 ล้านบาท และปี 2561 (งวดที่ 1) อีกจำนวน 137,239 คน วงเงิน 274.47 ล้านบาท

 

แน่นอนว่าหากเงินจำนวนนี้ถูกนำไปช่วยเหลือผู้ไร้ที่พึ่งที่กำลังเดือดร้อนจริงก็น่าจะช่วยบรรเทาทุกข์และสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับพวกเขาได้ไปสักระยะ แต่ในทางกลับกัน หากมีการทุจริตเกิดขึ้น นั่นหมายถึงชะตากรรมของคนนับแสนกำลังถูกย่ำยีซ้ำจากข้าราชการที่มีหน้าที่ช่วยเหลือคุ้มครองพวกเขาโดยตรง

 

 

เปิดช่องโหว่เงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง: ระบบรั่วหรือคนชั่ว

จากการชี้แจงหลังมีการตรวจสอบการทุจริต โดย นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ระบุว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดส่วนบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ทั้งๆ ที่ระเบียบการจ่ายเงินสงเคราะห์มีความชัดเจนและดีอยู่แล้ว

 

โดยมาตรการเพื่อให้การทำงานรัดกุมยิ่งขึ้น หลังจากนี้ทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ดังนี้

  1. ให้ดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด
  2. จ่ายเงินหรือมอบสิ่งของในสถานที่ราชการโดยมีพยานรับรู้
  3. ให้ใช้แบบบันทึกข้อมูลผู้ประสบภัยทางสังคมของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
  4. ใบสำคัญรับเงิน ให้กรอกรายละเอียดจำนวนเงินให้ครบถ้วน
  5. ให้ผู้รับลงลายมือชื่อรับเงินด้วยตนเอง หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือ
  6. ให้บันทึกภาพขณะมอบเงินหรือสิ่งของ
  7. ให้สุ่มติดตาม ตรวจสอบ การรับมอบเงินช่วยเหลือด้วยการโทรศัพท์หรือไปเยี่ยมบ้าน

 

นอกจากนี้ยังมอบมาตรการการจ่ายเงินโดยเน้นให้จ่ายผ่านธนาคารด้วยระบบ E-Payment จ่ายเป็นเช็ค หรือกรณีที่ประชาชนอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล ไม่สะดวกรับเงินผ่าน E-Payment หรือเช็คก็ให้จ่ายเป็นเงินสด แต่ต้องถ่ายภาพให้เห็นจำนวนเงินสดที่มอบ และเชิญภาคีเครือข่ายหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาร่วมเป็นพยานในการจ่ายเงินทุกครั้งด้วย

 

ส่วนระบบติดตามผลการดำเนินงานหลังจากนี้จะเน้นย้ำให้หัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่ ลงพื้นที่ติดตามผลการจ่ายเงินสงเคราะห์เป็นระยะ และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะมีการจัดชุดคณะนิเทศติดตาม โดยกำหนดแผนในการติดตามเป็นรายปี

 

อีกด้านจากการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พลตำรวจเอก จรัมพร สุระมณี พบช่องโหว่ของโครงการดังกล่าวในเบื้องต้นว่าจุดอ่อนอยู่ที่การเขียนแผนยุทธศาสตร์เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้ยากไร้ในลักษณะที่ได้รับงบประมาณมาแล้ว จึงทำการสำรวจจำนวนผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้ยากไร้ นอกจากนี้ยังให้อำนาจผู้อำนวยการศูนย์ฯ ใช้ดุลพินิจเบ็ดเสร็จทั้งในฐานะผู้สำรวจ ผู้มีสิทธิ์ ผู้อนุมัติจ่ายเงิน โดยไม่มีการกลั่นกรองจากหน่วยงานอื่น

 

“ขณะนี้ยังไม่อยากฟันธงหรือชี้ชัดว่ามีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ บอกได้เพียงว่าเป็นอาชญากรรมพื้นฐานที่มีการทำบ่อย ทำซ้ำจนเป็นขบวนการ ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบอีกว่าเงินช่วยเหลือจากรัฐสามารถจ่ายได้หลายรูปแบบ หลายกรณี ได้แก่ เงินสงเคราะห์บุตร เงินส่งเสริมอาชีพ เงินสงเคราะห์ผู้ป่วยเอดส์”

 

นอกจากนี้ พันตำรวจโท วันนพ จินตนกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. ยังเปิดเผยข้อมูลว่า จากการตรวจสอบพบว่าพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดมีด้วยกัน 4 รูปแบบคือ หนึ่ง ปลอมแปลงเอกสารทั้งหมด เช่น บัตรประชาชน เอกสารอื่นๆ โดยชาวบ้านไม่ทราบเรื่อง แล้วนำเอกสารไปยื่นเบิกงบ สอง ให้ชาวบ้านยื่นเอกสารจริง แต่ไม่ได้รับเงิน สาม ให้ชาวบ้านยื่นเอกสารจริงและได้รับเงิน แต่ได้ไม่ครบจำนวน สี่ ให้ชาวบ้านที่ไม่มีคุณสมบัติยื่นเอกสาร

 

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าโครงการดังกล่าวมีช่องโหว่ในหลายขั้นตอน ตั้งแต่การใช้ดุลพินิจของผู้อำนวยการศูนย์ฯ ขั้นตอนการเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานที่ตรวจสอบยาก รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนเงินไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ แต่ผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้อาจร้ายแรงกว่าที่คิด

 

 

แพตเทิร์นกลโกงใหม่: คอร์รัปชันในระบบราชการ

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่าเป็นเรื่องปกติที่แพตเทิร์นของการคอร์รัปชันจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ เพื่อให้ยากต่อการตรวจจับ จากเดิมที่เป็นการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เป็นการโกงจากระดับบนลงไประดับล่าง แต่โครงการนี้เป็นการทุ่มเงินลงไปข้างล่างก่อน แล้วระดับล่างจึงมีการทุจริตกัน จากนั้นจึงส่งส่วยกลับมาที่ข้างบน ซึ่งทำให้ยากต่อการตรวจสอบ เพราะข้อมูลและเอกสารต่างๆ จะมีปริมาณมากและถูกกองอยู่ในระดับล่าง

 

“ความน่ากลัวของการทุจริตรูปแบบนี้คือยากต่อการตรวจจับ และที่สำคัญกว่านั้น มันอาจเป็นการโกงกินในระบบราชการที่เรียกว่าคอร์รัปชันในระบบราชการ ซึ่งมีมานานแล้ว แต่กำลังพัฒนารูปแบบใหม่ๆ เป็นการกินอย่างเป็นระบบ และเกื้อกูลกันระหว่างระดับล่างกับระดับบนโดยที่ทั้งสองฝ่ายรับรู้กันดีอยู่แล้ว

 

“ทีนี้ความน่ากลัวมันอยู่ที่การเริ่มดึงประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวพันอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในผลประโยชน์ที่เกิดจากการโกงอย่างต่อเนื่อง มันจะเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ไม่ถูกต้องให้ซึมลึกฝังแน่นเข้าไปอีก

 

“ถ้าทุกคนวิน-วินก็ไม่มีใครออกมาเปิดโปง ในเมื่อแกได้ ฉันได้ ทุกฝ่ายยอมรับได้ การโกงกินก็จะกลับมา”

 

ในขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันได้แสดงความกังวลต่อท่าทีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ออกมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงความเข้าใจผิด ซึ่งอาจจะทำให้การตรวจสอบและการหามาตรการป้องกันในอนาคตทำได้ยากยิ่งขึ้น

 

“สิ่งที่เราอยากเห็นในตอนนี้คือให้กระบวนการตรวจสอบมันลุล่วงไปโดยโปร่งใส ไม่มีการแทรกแซง ในวันนี้ ป.ป.ท. เข้าไปตรวจสอบแล้ว ในวันข้างหน้าหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควรจะมีส่วนในการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, ป.ป.ช. หรือ ปปง. เพื่อดูว่าเรื่องนี้เป็นการปิดบังซ่อนเร้นเงินที่ได้มาจากการทุจริตไหม เพราะฉะนั้นถ้าหน่วยงานต่างๆ ทุ่มเทกำลังเข้าไปตรวจสอบให้เต็มที่ ทุกอย่างก็จะมีความชัดเจนมากกว่านี้”

 

นอกจากนี้ ดร.มานะยังระบุว่าการทุจริตที่เกิดขึ้นถือเป็นการคอร์รัปชันขนาดย่อยที่เม็ดเงินในแต่ละศูนย์ถือว่าไม่เยอะมาก แต่เรื่องนี้กลับเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะอาจเป็นการคอร์รัปชันในระบบราชการที่กินพื้นที่กว้าง ดังนั้นหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบต้องตอบคำถามให้ได้ว่านี่คือรูปแบบใหม่ของการคอร์รัปชันในระบบราชการใช่หรือไม่ จากนั้นจึงตีแผ่กลโกงเหล่านี้ให้สังคมได้รับรู้

 

“ถ้าทุกคนช่วยกันปกปิดแล้วบอกว่ามันเป็นเรื่องของคนไม่กี่คน เกิดขึ้นไม่กี่พื้นที่ การแก้ไขปัญหาก็จะไม่เกิด นั่นหมายถึงรัฐบาลต้องมีความใจกว้างด้วย และวันนี้คงต้องทวงถามคำสั่ง คสช. ที่ 69/2557 ที่บอกว่าถ้าข้าราชการทุจริต ผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดชอบด้วย จะเกิดขึ้นกับกรณีนี้ไหม”

 

 

เป็นคนดีมีต้นทุน: กรณีน้องแบม สู่ภาพสะท้อนของคนตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้กับระบบที่ไม่เป็นธรรม

สำหรับคนที่ติดตามข่าวกรณีนี้มาตั้งแต่ต้นคงจะทราบแล้วว่า ก่อนที่เรื่องนี้จะถูกเปิดโปงและมีหน่วยงานอิสระเข้ามาตรวจสอบ น้องแบม ผู้จุดประเด็นนี้ให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้กลับต้องเผชิญชะตากรรมที่กล้ำกลืน ทั้งถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกเค้นสอบจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เข้าใจว่าเธอกุเรื่องขึ้นมาเอง คำดูถูกว่า ‘ทำไมไม่เรียนให้จบก่อนล่ะ ถ้าอยากจะไปร้องเรียนเอาผิดเขา’ จนมาถึงการต้องก้มลงกราบเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก

 

สะท้อนภาพชัดเจนว่าการเป็นคนดีในบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องอาศัยทั้งความกล้าหาญและความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ซึ่งน้องแบมยอมรับว่ากว่าจะตัดสินใจไปยื่นเรื่องร้องเรียน เธอต้องใช้เวลานานมากในการตัดสินใจ และรวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด แต่สุดท้ายเธอก็กัดฟันเดินหน้าต่อด้วยความคิดว่า

 

“ตอนนั้นคือคิดถึงอนาคตของตัวเราเองด้วย แล้วก็คิดถึงประชาชน 2,000 คนที่เรากรอกเอกสารเป็นลายมือเรา ปลอมเรื่องเท็จให้เขา ทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักบ้านเขา ไม่รู้รายได้ที่เขามี เหมือนรู้สึกผิดที่เราต้องมาทำอะไรแบบนี้ แล้วมันขัดกับสิ่งที่เราเรียนมา

 

เมื่อ THE STANDARD ถามเธอว่า คิดว่าการเป็นคนดีมีต้นทุนที่สูงไหมเมื่อเทียบกับการอยู่เฉยๆ แล้วไม่ต้องเดือดร้อน น้องแบมเปิดใจว่า “หนูคิดว่าไม่นะ เพราะหนูได้รับคำขอบคุณและกำลังใจจากชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนจริงๆ มาเยอะ รู้สึกดีใจมากกว่า เพราะจากที่ดูข่าว ทางชาวบ้านที่ ป.ป.ท. ลงไปสอบถามรายละเอียดเขาก็พูดว่า ป้าไม่รู้ว่าเป็นเด็กสถาบันไหน แต่ป้าขอบคุณมากที่มาเปิดโปง ถ้าไม่เปิดโปง ป้าคงไม่รู้ว่าป้าโดนหลอก คือบางคนก็ได้เงินไม่ครบ หรือบางคนก็ไม่ได้เงินเลยทั้งที่มีชื่อเขาปรากฏอยู่”

 

นอกจากนี้เธอยังฝากบอกคนที่กำลังตัดสินใจจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่า “อยากจะบอกว่าถ้าเราเมินเฉย สิ่งที่คุณทำเพื่อประชาชนมันก็เสียเปล่า แล้วประชาชนจะไปขอความช่วยเหลือจากใครได้ ถ้าพวกเราเมินเฉยกันแบบนี้ ช่วยๆ กันเถอะค่ะ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องนี้ แต่ประเทศเรากำลังมีปัญหาในหลายๆ เรื่อง”

 

ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า กรณีน้องแบมถือเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะหากประเทศไทยมีคนรุ่นใหม่แบบนี้มากๆ เราคงเอาชนะคอร์รัปชันได้ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีแบบนี้แล้ว สังคมต้องช่วยกันพูดต่อและยกย่องให้คนเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งดีงามอย่างไร ส่วนเรื่องการปกป้องคุ้มครองน้องแบม ส่วนตัวมองว่าเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขนาดนี้แล้ว สังคมจะเป็นเกราะคุ้มครองให้กับความปลอดภัยของเธอได้แน่นอน

 

“ในเคสนี้ สิ่งที่ดีที่สุดเลยคือทำให้เราได้เห็น active citizen หรือพลเมืองตื่นรู้สู้โกง คือเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของประเทศไทยที่รังเกียจการโกง ปฏิเสธการโกง และพร้อมที่จะต่อสู้กับคนโกง ทำให้เราเห็นอนาคตของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ”

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X