×

จับตา! หนี้บริษัททั่วโลกมูลค่ากว่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์จ่อระเบิด ซัดบริษัทล้มละลาย ภัยคุกคามเศรษฐกิจโลก?

24.07.2023
  • LOADING...
หนี้บริษัท

มูลค่าหนี้ที่มีปัญหา (Distressed Debt) ของบริษัททั่วโลกทะลุ 5.9 แสนล้านดอลลาร์ไปแล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลเนื่องจากปัญหาดังกล่าวอาจฉุดให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และทำให้ตลาดสินเชื่อตึงเครียดขึ้นอีก

 

นอกจากนี้ ข้อมูลต่างๆ ยังชี้ให้เห็นว่า มีหุ้นกู้จำนวนมากทั่วโลกจะครบกำหนดไถ่ถอนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศกลับทำให้ต้นทุนในการรีไฟแนนซ์ของบริษัทต่างๆ เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทเครดิตเรตติ้งหลายแห่งเห็นพ้องกันว่า ‘คลื่นการผิดนัดชำระ’ ลูกต่อๆ ไปอาจอยู่ไม่ไกล

 

Richard Cooper หุ้นส่วนของ Cleary Gottlieb สำนักงานกฎหมายชั้นนำที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลการยื่นฟ้องล้มละลายขององค์กรทั่วโลกนานหลายทศวรรษ เตือนว่าโลกกำลังเห็นการผิดนัดชำระของบริษัทจำนวนมาก

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สอดคล้องกับการรวบรวมข้อมูลของ Bloomberg พบว่า หนี้ที่มีปัญหาของบริษัททั่วโลก (Corporate-Debt Distress) ขณะนี้มีมูลค่ากว่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์ (หรือกว่า 17.24 ล้านล้านบาท) แล้ว โดยภาคส่วน (Sector) ที่มีหนี้และหุ้นกู้ที่มีปัญหามากที่สุดคือภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าหนี้และหุ้นกู้ที่มีปัญหาสูงถึง 1.68 แสนล้านดอลลาร์ รองลงมาคือภาคโทรคมนาคม สาธารณสุขและเภสัชภัณฑ์ ค้าปลีก และซอฟต์แวร์และบริการต่างๆ

 

อ้างอิง: Bloomberg

 

ทั้งนี้ ตามรายงานของ Bloomberg ระบุว่า หุ้นกู้ (Bonds) และสินเชื่อ (Loans) ของบริษัทที่มีปัญหา (Distressed) หมายถึงหุ้นกู้ที่มีการซื้อ-ขายต่ำกว่า 80 เซนต์ และมีสเปรดมากกว่า 1,000 Basis Points

 

เปิดสาเหตุของปัญหาหนี้บริษัททั่วโลก

 

สำหรับสาเหตุของปัญหานี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทบางแห่งปรับตัวไม่ทัน กระแสการทำงานทางไกล (Remote Work) ที่ทำให้อาคารสำนักงานหลายแห่งในฮ่องกง ลอนดอน และซานฟรานซิสโกว่างเปล่า

 

นอกจากนี้ อีกสาเหตุของปัญหานี้ยังมาจากการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ในยุคที่ธนาคารกลางทั่วโลกหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงไว้นานขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ กำลังสร้างภาระที่หนักขึ้นสำหรับบริษัทต่างๆ

 

ตามข้อมูลของ S&P Global ในสหรัฐอเมริกาปริมาณของหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High-Yield Bonds) และ Leveraged Loans ซึ่งหมายถึงสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้แก่ผู้กู้ที่มีหนี้ในระดับสูงหรือมีอันดับเครดิตต่ำอยู่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2008 โดยอยู่ที่ระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2021 หรือก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน (ปี 2021) ยอดขาย Junk Bond ในยุโรปก็พุ่งขึ้นกว่า 40% เพียงปีเดียว นับเป็นสินทรัพย์อีกประเภทที่ต้องจับตา เนื่องจาก Junk Bond เหล่านี้จะครบกำหนดไถ่ถอนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

ฝั่งเอกชน ‘รีไฟแนนซ์ยากขึ้น’

 

ด้านธนาคาร ABN AMRO ในเนเธอร์แลนด์ เตือนว่า อายุครบกำหนดไถ่ถอนเฉลี่ย (Average Maturity) ของหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงของยุโรป สั้นสุดในรอบเกือบ 4 ปีในเดือนพฤษภาคม เทียบกับค่าเฉลี่ยที่มากกว่า 6 ปี ระหว่างปี 2005-2007 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหมายความว่าในรอบนี้บริษัทต่างๆ มีเวลาน้อยกว่าเดิมในการรีไฟแนนซ์ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศยังทำให้ต้นทุนการรีไฟแนนซ์ของบริษัทต่างๆ เพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้ การไม่สามารถรีไฟแนนซ์หนี้ที่ครบกำหนดได้นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทต่างๆ ผิดนัดชำระหนี้

 

เครดิตเรตติ้งเห็นพ้อง ‘คลื่นการผิดนัดชำระ’ อยู่ไม่ไกล

 

ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในจีนและยุโรป และความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ ภาระการชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของบริษัทเหล่านั้นอาจมากเกินไปสำหรับบางธุรกิจ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว กองหุ้นกู้และสินเชื่อที่มีปัญหาได้พุ่งขึ้นกว่า 360% แล้วตั้งแต่ปี 2021

 

ดังนั้น หากปัญหานี้ยังคงลุกลามต่อไปอาจนำไปสู่วัฏจักรของการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้างครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2008 ได้

 

ในรายงานล่าสุดของ Moody’s Investors Service เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวว่า อัตราการผิดนัดชำระสำหรับบริษัทระดับเก็งกำไร (Speculative-Grade Companies) ทั่วโลก คาดว่าจะสูงถึง 5.1% ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจาก 3.8% ในช่วง 12 เดือนสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2023

 

โดยภายใต้สถานการณ์ที่มองโลกในแง่ร้ายที่สุด (Most Pessimistic Scenario) อัตราดังกล่าวอาจพุ่งสูงถึง 13.7% ซึ่งสูงกว่าระดับในช่วงวิกฤตสินเชื่อ (Credit Crash) เมื่อปี 2008-2009

 

ขณะที่ S&P Global ก็คาดว่าอัตราการผิดนัดชำระสำหรับบริษัทระดับต่ำกว่าลงทุน (Sub-Investment Grade) ของสหรัฐฯ และยุโรปจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.25% และ 3.6% ตามลำดับ ภายในเดือนมีนาคม 2024 นับว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากระดับ 2.5% และ 2.8% ในคาดการณ์เดือนมีนาคมนี้

 

ส่องสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ไทย

 

ศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด บริษัทเครดิตเรตติ้งที่มีจำนวนลูกค้าจัดอันดับเครดิตมากที่สุดในประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตลาดหุ้นกู้โดยรวมของไทย ‘ไม่น่าเป็นห่วง’ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอยู่ นอกจากนี้ตัวเลขทางการเงินต่างๆ ของบริษัทไทยยังดูดีขึ้นจากปีที่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ที่มีอันดับเรตติ้งต่ำและหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ (Non-Rated) มีโอกาสที่จะเห็นการผิดนัดชำระมากขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบที่สะสมมาจากช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิดซึ่งยังไม่สามารถฟื้นตัวได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X