×

เรารู้อะไรเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตโรคโควิด-19 รายแรกของไทย

โดย THE STANDARD TEAM
01.03.2020
  • LOADING...

 

เรารู้อะไรเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตโรคโควิด-19 รายแรกของไทย

 

  1. ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19 เป็นเรื่องเศร้าที่แพทย์ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ รวมระยะเวลารักษาประมาณ 1 เดือนเศษ แต่สถานการณ์ในภาพรวมของไทยมีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 42 ราย กลับบ้านแล้ว 30 ราย (70%) และเสียชีวิต 1 ราย (2% ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ป่วยในประเทศจีน)
  2. ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ป่วยรายที่ 27 ซึ่งได้รับการแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ รวมกับผู้ป่วยรายอื่นอีก 7 ราย (ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 25 เป็น 32 รายในวันเดียว) โดยเป็นผู้ชาย อายุ 35 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ทำงานเป็นพนักงานขายสินค้าที่สัมผัสกับนักท่องเที่ยวจีน จึงจัดเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อในประเทศ (Local Transmission) 
  3. เริ่มป่วยวันที่ 27 มกราคม ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคไข้เลือดออก และนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน ต่อมามีอาการไข้ ไอ เหนื่อย ส่งตรวจพบเชื้อก่อโรคโควิด-19 จึงถูกส่งมารับการรักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ (ถ้าผลการตรวจถูกต้อง แสดงว่ามีติดทั้ง 2 เชื้อในเวลาไล่เลี่ยกัน)
  4. เป็นผู้ป่วยหนัก 1 ใน 2 รายของไทย โดยมีภาวะวิกฤตทางระบบทางเดินหายใจ แพทย์พิจารณาใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) ร่วมกับเครื่องช่วยหายใจ ได้รับน้ำเลือดจากผู้ป่วยหายดี (Convalescent Plasma) และได้รับยาต้านไวรัสที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในประเทศจีน
  5. แพทย์ได้ตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 ในผู้ป่วย ผลไม่พบเชื้อตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ แต่ด้วยสภาพปอดที่ถูกทำลาย หัวใจและอวัยวะภายในล้มเหลว (Multi-organ failure) จึงเสียชีวิตในที่สุดเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต จะมีคณะกรรมการวิชาการภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง
  6. ผู้ป่วยรายที่ 34 เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยรายนี้ขณะนอนรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งตอนแรกได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคไข้เลือดออก ทำให้บุคลากรฯ ไม่ได้สวมชุดป้องกัน จากการสอบสวนโรคมีผู้สัมผัสที่เป็นผู้ร่วมงาน 24 คน (ซึ่งส่วนหนึ่งก็สัมผัสกับผู้ป่วยรายที่ 27 ด้วย) ผลปกติทั้งหมด
  7. ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 10 ที่พบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ต่อจากจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อิตาลี, ฟิลิปปินส์, อิหร่าน, ไต้หวัน, ฝรั่งเศส, ฮ่องกง (ไม่ได้เรียงลำดับตามวันที่พบผู้เสียชีวิต แต่ยังไม่มีสิงคโปร์ ทั้งที่พบผู้ป่วยมากกว่า) ซึ่งในวันเดียวกันนี้ก็มีอเมริกาและออสเตรเลียด้วย
  8. อัตราการเสียชีวิต 2% เป็นความรุนแรงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการป้องกันเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ไม่จับใบหน้าถ้าไม่ล้างมือ กลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด รวมถึงรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • การแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุข และรายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ประจำวันของสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

 

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising