×

ยอดวัคซีนสะสมเป็นเท่าไรกันแน่? ปริศนาตัวเลขที่หายไป ทำไมฉีดเพิ่มแต่ยอดลด

01.10.2021
  • LOADING...
ยอดวัคซีนสะสม

วันนี้ (1 ตุลาคม) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการปรับปรุงฐานข้อมูลที่ใช้ในการสรุปผลการฉีดวัคซีนโควิด หรือ MOPH Immunization Center (MOPH IC) ทำให้จำนวนการฉีดวัคซีนในวันที่ 30 กันยายน 2564 มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น 2,288,728 โดส สะสมรวม 53,784,812 โดส โดยเป็นยอดของเมื่อวาน 588,205 โดส

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมออนไลน์บางกลุ่มตั้งข้อสังเกตถึงความสอดคล้องกันของยอดฉีดวัคซีนสะสมที่เพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานในแต่ละวัน เนื่องจากยอดวัคซีนสะสมลดลงประมาณ 500,000 โดส จาก 51,398,473 โดสในวันที่ 28 กันยายน เหลือ 50,867,498 โดสในวันที่ 29 กันยายน ทั้งที่มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นทุกวัน

 

THE STANDARD ตรวจสอบอินโฟกราฟิกสรุปการให้บริการวัคซีนโควิดของเพจดังกล่าวย้อนหลังพบว่า เพจจะสรุปจำนวนการฉีดวัคซีนรายวันในวันที่ผ่านมา (รวมฉีดวานนี้) และจำนวนการฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 (สะสมรวม) เช่น ในวันที่ 30 กันยายน เพจจะรายงานจำนวนการฉีดวัคซีนรายวันของวันที่ 29 กันยายน และจำนวนสะสมตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ – 29 กันยายน 2564 ดังนี้

 

  • วันที่ 24 กันยายน 2564 รวมฉีดวานนี้ 626,896 โดส สะสมรวม 47,296,431 โดส
  • วันที่ 25 กันยายน 2564 ไม่มีอินโฟกราฟิกสรุปการให้บริการวัคซีน*
  • วันที่ 26 กันยายน 2564 รวมฉีดวานนี้ 112,215 โดส สะสมรวม 50,101,055 โดส
  • วันที่ 27 กันยายน 2564 รวมฉีดวานนี้ 175,926 โดส สะสมรวม 50,566,651 โดส
  • วันที่ 28 กันยายน 2564 รวมฉีดวานนี้ 734,597 โดส สะสมรวม 51,398,473 โดส
  • วันที่ 29 กันยายน 2564 รวมฉีดวานนี้ 726,805 โดส สะสมรวม 50,867,498 โดส
  • วันที่ 30 กันยายน 2564 รวมฉีดวานนี้ 628,586 โดส สะสมรวม 51,496,084 โดส

 

*อินโฟกราฟิกสถานการณ์ประจำวัน ซึ่งปกติจะมีการสรุปจำนวนการฉีดวัคซีนเช่นกัน ระบุว่า “ข้อมูลการให้บริการวัคซีนวันที่ 24 กันยายน 2564 อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล เนื่องจากมีผู้เข้ามารับวัคซีนมากกว่า 1 ล้านโดส” ต่อมาในวันเดียวกันมีอินโฟกราฟิกสรุปการฉีดวัคซีนเนื่องในวันมหิดล (24 กันยายน 2564) จำนวน 1,300,677 โดส แต่ไม่มียอดสะสมรวมทั้งหมด

 

จากข้อมูลข้างต้นสังเกตว่า จำนวนการฉีดวัคซีนรายวันมีความสอดคล้องกับที่ผ่านมาคือ ในวันทำการ ไทยสามารถฉีดวัคซีนได้วันละ 6-7 แสนโดส และลดลงเหลือ 1-2 แสนโดสในวันหยุดราชการ ส่วนวันมหิดลเป็นวันที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ได้ 1 ล้านโดส แต่ที่สะดุดตาคือยอดสะสมที่ลดลง 5 แสนโดสจาก 51.3 ล้านโดส เป็น 50.8 ล้านโดสในวันที่ 29 กันยายน 

 

อินโฟกราฟิกสรุปการให้บริการวัคซีนนี้จะตรงกับข้อมูลในสไลด์แถลงสถานการณ์โควิดประจำวันที่เผยแพร่ผ่านเพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ในแต่ละวัน เมื่อทบทวนสไลด์ดังกล่าวย้อนหลังพบว่า ปกติแล้วรายงานสรุปการฉีดวัคซีนจะอ้างอิงที่มาจากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (MOPH IC) และตัดข้อมูล ณ เวลา 18.00 น. ของทุกวัน แล้วนำมาเผยแพร่ในวันถัดมา

 

ทว่า ในวันที่ 26-28 กันยายน 2564 ได้อ้างอิงจากฐานข้อมูลหมอพร้อม และตัดข้อมูลในเวลาต่างกัน กล่าวคือเวลา 12.07 น. ของวันที่ 25 กันยายน และเวลาประมาณ 23.00 น. ของวันที่ 26 และ 27 กันยายน ความแตกต่างของแหล่งข้อมูลและเวลาที่ใช้ในการตัดข้อมูลอาจส่งผลให้จำนวนการฉีดวัคซีนที่รายงานมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ยอดสะสมไม่น่าจะลดลงได้

 

หากติดตามรายงานการฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อมในวันนี้ (1 ตุลาคม) สรุปข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 เวลา 23.08 น. ระบุว่า ฉีดวันนี้ 676,928 โดส และฉีดสะสม 53,881,279 โดส แสดงว่ายอดสะสมเมื่อวานควรจะเป็น 53,204,351 โดส ซึ่งมากกว่าในอินโฟกราฟิกของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ถึง 1.7 ล้านโดส แต่กลับระบุที่มาว่า MOPH IC เหมือนกัน

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ชี้แจงวันนี้ (1 ตุลาคม) ว่า กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการปรับปรุงฐานข้อมูล MOPH IC ทำให้จำนวนการฉีดวัคซีนในวันที่ 30 กันยายน 2564 มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น 2,288,728 โดส โดยเป็นการบันทึกข้อมูลเพิ่มตั้งแต่วันมหิดล 1,700,523 โดส สะสมรวม 53,784,812 โดส

 

ศบค. จะอ้างอิงข้อมูลจาก MOPH IC เป็นหลัก ในขณะที่ฐานข้อมูลหมอพร้อมจะเป็นการรายงานแบบเร็วจากจุดฉีดวัคซีน บางจุดสามารถรายงานทุกชั่วโมง แต่อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด พอแต่ละจังหวัดส่งยอดมายัง MOPH IC จะมีการตรวจสอบข้อมูลที่ซ้ำซ้อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะพยายามปรับข้อมูลให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด 

 

แสดงว่าปัจจุบันน่าจะมีฐานข้อมูล MOPH IC ของกระทรวงสาธารณสุข (MOPH เป็นตัวย่อภาษาอังกฤษของกระทรวงฯ) ในการรวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศไทย แต่จะมีการรายงาน 2 แบบ คือ แบบเร็วผ่านระบบหมอพร้อม และแบบที่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องแล้วผ่าน ศบค. ส่วนข้อมูลที่ไม่ตรงกันในขณะนี้น่าจะเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนจำนวนมากในสัปดาห์ก่อนหน้า 

 

หรือจะมองว่าเป็นเพราะความไม่พร้อมของระบบข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศได้หรือไม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X