×

3 วัคซีนแก้ป่วยเศรษฐกิจไทยโคม่าจากโควิด-19 ที่ต้องฉีดเดี๋ยวนี้

04.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่เฟส 2 ของพายุเศรษฐกิจโควิด-19 ซึ่งทั่วโลกเริ่มตระหนักว่าปีนี้เศรษฐกิจกระอักแน่ๆ ที่สำคัญคือรัฐบาลต่างๆ เริ่มยอมรับความท้าทายนี้ นี่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากนโยบายรัฐบาลจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยในเฟส 2 ได้บางส่วนแล้วยังเป็นเสมือน ‘วัคซีนทางเศรษฐกิจ’ ที่ช่วยป้องกันการป่วยล้มยาวที่อาจเกิดขึ้นในเฟส 3 ได้ 
  • ในทางทฤษฎี ข้อดีของนโยบายการคลังคือสามารถเฉพาะเจาะจงฉีดให้กับคนที่ต้องการที่สุดได้ ในขณะที่นโยบายการเงินมักจะเป็น ‘การยิงลูกซอง’ ในแนวกว้าง
  • กระทรวงการคลังกำลังมีการเตรียมจะจัดยาชุดใหญ่ในเร็วๆ นี้ แต่อีกความท้าทายคือทำอย่างไรให้สามารถฉีดวัคซีนเศรษฐกิจในรูปแบบที่ถูกต้องให้กับคนไข้ที่ต้องการที่สุด
  • ปีนี้โรคทางเศรษฐกิจรุนแรงไม่เบาแน่นอน แต่หากได้รับวัคซีนครบอย่างน้อย 3 เข็ม น่าจะช่วยบรรเทาอาการป่วยและป้องกันไม่ให้เราล้มป่วยแบบยาวหลังภัยพิบัติครั้งนี้ผ่านพ้น

มาถึงวันนี้ทุกคนคงคิดตรงกันแล้วว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ ‘ป่วย’ ไม่เบาแน่ แต่ผมจะขอชวนคิดอีกมุมว่าเรากำลังป่วยอยู่เฟสไหน และที่สำคัญจะมี ‘วัคซีน’ อะไรบ้างที่จะช่วยบรรเทาอาการทางเศรษฐกิจ และป้องกันไม่ให้เราป่วยแบบล้มยาวได้บ้าง


3 เฟสแห่งการป่วยทางเศรษฐกิจด้วยโควิด-19

ในทางเศรษฐกิจ เราสามารถแบ่ง ‘การป่วย’ จากโควิด-19 ได้เป็น 3 เฟส

 

ป่วยเฟส 1 – ศูนย์กลางของพายุเศรษฐกิจอยู่ที่จีน และผลกระทบต่อโลกที่หนักที่สุดจะออกมาในรูปของห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมที่โดนป่วน (Supply Side Disruptions) เพราะจีนเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเกือบทุกอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างไทยจะโดนกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป

 

ป่วยเฟส 2 – พายุเศรษฐกิจได้เคลื่อนออกไปสู่โลก จนในวันที่เขียนนี้กว่า 50 ประเทศมีผู้ติดเชื้อแล้ว ปัญหาในเฟสนี้ไม่ได้อยู่แค่เรื่องซัพพลาย แต่กลายเป็นเรื่องการชะลอตัวของการบริโภคและลงทุนด้วย เพราะทั่วโลกอยู่ในภาวะตื่นกลัว ไม่กล้าใช้เงิน (นอกจากซื้อหน้ากากและอุปกรณ์อนามัยหรือตุนอาหาร) ธุรกิจต่างๆ อยู่ในโหมดพยายามเอาตัวรอด ไม่ต้องพูดถึงการลงทุน

 

ป่วยเฟส 3 – ‘พายุ’ ผ่านไป เหลือ ‘ซากปรักหักพัง’ มากน้อยต่างกันไป บางที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไม่ได้พังมาก เอสเอ็มอียังอยู่ คนยังมีงานทำ ก็สามารถกลับมาวิ่งต่อได้จนกลับสู่เทรนด์ปกติ แต่หากบางทีเครื่องชำรุดหนัก ธุรกิจล้มระนาว คนตกงาน ติดหนี้ ก็ย่อมฟื้นตัวได้ช้า เป็นการป่วยแบบล้มยาว

 

ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่เฟส 2 ของพายุเศรษฐกิจโควิด-19 ซึ่งทั่วโลกเริ่มตระหนักว่าปีนี้เศรษฐกิจกระอักแน่ๆ ที่สำคัญคือรัฐบาลต่างๆ เริ่มยอมรับความท้าทายนี้ เช่น ทางรัฐมนตรีเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจ G7 เพิ่งออกมาประกาศว่าจะใช้ทุกเครื่องมือเพื่อต่อสู้กับภัยเศรษฐกิจครั้งนี้

 

นี่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากนโยบายรัฐบาลจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยในเฟส 2 ได้บางส่วนแล้วยังเป็นเสมือน ‘วัคซีนทางเศรษฐกิจ’ ที่ช่วยป้องกันการป่วยล้มยาวที่อาจเกิดขึ้นในเฟส 3 ได้ 

 

วัคซีนเศรษฐกิจ 3 เข็ม บรรเทาอาการป่วยจากโควิด-19

ผมคิดว่าวัคซีนเพื่อกันการล้มยาวของเศรษฐกิจมีอย่างน้อย 3 เข็ม

 

วัคซีนเข็มแรกคือนโยบายการเงิน

วัคซีนนี้คือสิ่งที่นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกคาดหวังมากที่สุด ที่ตลาดหุ้นพอจะบวกขึ้นมาได้บางวันก็เพราะความหวังว่าธนาคารกลางต่างๆ จะลดดอกเบี้ย นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เพิ่งลดดอกเบี้ยแบบ ‘แจกโปรโมชัน’ รวดเดียว 0.5% (ปกติจะลดทีละ 0.25%) ครั้งสุดท้ายที่ทำแบบนี้คือตอนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

 

ในประเทศไทยเองก็มีโอกาสสูงที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยลงไปอีกจาก 1% ในปัจจุบันที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่แล้ว นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังร่วมมือกับธนาคารไทยออกมาตรการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อน พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อต่อสายป่านให้ผู้กู้ยามลำบาก

 

แต่คำถามคือเข็มแรกเข็มเดียวเพียงพอหรือไม่

 

คำตอบคือ ‘ไม่น่าพอ’ ต้องมีการฉีดเข็มที่สอง และต้องการอย่างเร่งด่วน

 

วัคซีนเข็มที่สองคือนโยบายการคลัง

ในทางทฤษฎี ข้อดีของนโยบายการคลังคือสามารถเฉพาะเจาะจงฉีดให้กับคนที่ต้องการที่สุดได้ ในขณะที่นโยบายการเงินมักจะเป็น ‘การยิงลูกซอง’ ในแนวกว้าง

 

และประเทศไทยมีกระสุนการคลังเพียงพอที่จะใช้ได้ในยามเผชิญภัยพิบัติทางเศรษฐกิจแบบนี้ด้วยหนี้สาธารณะที่ยังค่อนข้างต่ำ (41% ของ GDP)

 

แต่ข้อเสียคือบางครั้งทำได้ไม่เร็วเท่าไร เพราะบางทีขั้นตอนการจัดและเบิกใช้งบก็ต้องใช้เวลา

 

เข้าใจว่ากระทรวงการคลังมีการเตรียมจะจัดยาชุดใหญ่ในเร็วๆ นี้ แต่อีกความท้าทายคือทำอย่างไรให้สามารถฉีดในรูปแบบที่ถูกต้องให้กับคนไข้ที่ต้องการที่สุด

 

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ข้อคิดจากสิงคโปร์

หากลองส่องประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘สิงคโปร์’ ที่ถูกกระทบจากโควิด-19 หนักเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีนโยบายช่วยเหลือทางการคลังที่น่าสนใจ

 

ในงบประมาณล่าสุด สิงคโปร์ประกาศแผนช่วยเหลือเศรษฐกิจจากภัยโควิด-19 มูลค่าตีเป็นเงินไทยประมาณ 9 หมื่นล้านบาท โดยมีมาตรการที่น่าติดตามคือ

 

หนึ่ง นโยบายอัดฉีดเพื่อช่วยแรงงาน รัฐบาลจะชดเชยเงินค่าจ้างให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบ เช่น ท่องเที่ยว การบิน ร้านอาหาร ค้าปลีก ในสัดส่วน 8% ของค่าแรงแต่ละคน (แต่ไม่เกินหัวละประมาณ 8 หมื่นบาทต่อเดือน) เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน

 

นอกจากนี้ยังมีการขยายโครงการ ‘ปรับตัวและเติบโต’ ที่ให้เงินสนับสนุนบริษัทได้ใช้โอกาสนี้ในการนำแรงงานที่เสี่ยงจะถูกปลดในอุตสาหกรรมเปราะบางไปฝึกงาน Reskill หรือ Upskill มีทั้งเสริมทักษะเก่าหรือเรียนทักษะใหม่เพื่อเตรียมไว้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นจะสามารถกลับมาทำงานเดิมหรืองานใหม่ก็ได้

 

นับเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะเป็นการพลิกวิกฤตจากที่ไม่มีงานทำมาเป็นโอกาสในการหาความรู้โดยไม่ต้องออกจากงาน

 

สอง นโยบายเพื่อช่วยเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมที่โดนหนัก เช่น การให้สินเชื่อเงินหมุนเวียน การลดภาษี ค่าเช่า ที่ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่ขายไม่ออก แต่ยังต้องจ่าย

 

แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือโครงการที่จะเร่งผลักดันให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น (Digital Transformation) โดยจะมีการอบรมและสนับสนุนให้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ

 

แม้รายละเอียดของโครงการนี้จะยังไม่ออกมา แต่หากลองวิเคราะห์ก็อาจเป็นอีกหนึ่งโครงการที่พยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

 

เพราะหากไปดูประสบการณ์ของจีนที่เจอภัยพิบัติโควิด-19 ก่อนใคร ทำให้บางภาคเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การทำงานผ่านช่องทางออนไลน์จากที่บ้าน การศึกษาออนไลน์ การซื้อของออนไลน์ และการชำระเงินรูปแบบดิจิทัล เติบโตอย่างก้าวกระโดดเพราะคนต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทต่างๆ สามารถมาลองใช้เครื่องมือดิจิทัลทั้งหลายที่ปกติอาจไม่ได้คิดถึง

 

วัคซีนเข็มสุดท้าย

วัคซีนเข็มนี้ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ แต่อาจมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมากคือการสื่อสาร

 

ในยามเกิดโรคระบาด เราไม่ได้เปิดศึกกับแค่ไวรัสเท่านั้น แต่ยังมีอีกศึกใหญ่ที่ซ่อนตัวอยู่ด้วยเสมอคือ ‘ศึกด้านข้อมูล’

 

สิ่งที่เราต้องสกัดออกมานอกจากโรคระบาดคือ ‘ความกลัวโรคระบาดแบบขาดสติ’ ที่ทำลายเศรษฐกิจหรือแม้แต่สังคมได้ไม่ใช่น้อย

 

ความตื่นตระหนกนี้ยิ่งเกิดขึ้นง่ายในยุคที่ข้อมูลแพร่สะพัดทั้งจริงและปลอม เช่น เกิดระบาดขึ้นที่ไหน หน้ากากแบบไหนใช้ได้ ไวรัสนี้ติดทางการหายใจได้ไหม ฯลฯ

 

แต่วิธีการจะหยุด ‘การระบาด’ ของความตื่นตระหนกไม่ใช่การปิดข้อมูล เพราะคนหาข้อมูลได้อยู่แล้วในยุคนี้

 

ไม่ใช่การสื่อสารบอกคนว่าไม่มีปัญหา เพราะคนจะไม่เชื่อและยิ่งกลัว

 

ไม่ใช่การตำหนิ ดูถูก หรือทำโทษคนรับข้อมูลแบบผิดๆ เพราะหลายคนอาจไม่ได้ตั้งใจสร้างข่าวปลอม เพียงแต่เข้าใจผิดจากอารามตื่นกลัว

 

แต่ควรแก้ข้อมูลปลอมโดยการให้ข้อมูลจริงจากกระบอกเสียงที่เชื่อถือได้ผ่านสื่อที่เข้าถึงคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว

 

เช่น ในสิงคโปร์จะมี WhatsApp กลุ่มที่ทุกคนสามารถรับการประกาศจากรัฐบาลทุกวันว่ามีกรณีใหม่ที่ไหนบ้าง เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อคนก่อนๆ ที่เคยพบไหม ข้อมูลปลอมและความเข้าใจผิดที่กำลังแพร่หลายมีอะไรบ้าง และรัฐบาลกำลังมีมาตรการอะไรใหม่ๆ บ้าง (เช่น ทำความสะอาดแท็กซี่ รถไฟ และรถเมล์บ่อยขึ้น)

 

ที่สำคัญในการสื่อสาร รัฐบาลจะเสมือนเป็น ‘คณะแพทย์ของประชาชน’ ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเป็นเสมือน ‘คุณหมอ’ ที่ควรต้องออกมาสัมภาษณ์เป็นเสียงเดียวกัน พูดและยอมรับปัญหา พร้อมแสดงความเข้าอกเข้าใจในความกังวลของคน (แสดง Empathy) และคอยอัปเดตวิธีแก้ปัญหาแบบที่หมอดีๆ ทำกับคนไข้ไม่ให้เสียขวัญ

 

สรุป ปีนี้โรคทางเศรษฐกิจรุนแรงไม่เบาแน่นอน แต่หากได้รับวัคซีนครบอย่างน้อย 3 เข็มนี้น่าจะช่วยบรรเทาอาการป่วยและป้องกันไม่ให้เราล้มป่วยแบบยาวหลังภัยพิบัติครั้งนี้ผ่านพ้น เรามาช่วยกันคิดนะครับว่ามีวัคซีนตัวใดอีกบ้างที่เศรษฐกิจต้องการ

 

เพราะสุดท้ายภัยนี้ ‘มันก็จะผ่านไปเช่นกัน’ (This too shall pass)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X