×

ผู้ติดเชื้อโควิดลด วางใจจนคลายล็อกดาวน์ได้จริงหรือ?

27.08.2021
  • LOADING...
ผู้ติดเชื้อโควิดลด

วันนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ +18,702 ราย ‘สถานการณ์การระบาด’ ของโควิดในไทยดูเหมือนว่าจะดีขึ้นเมื่อยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ ศบค. รายงานทุกเช้ามีแนวโน้มลด จากเดิมที่เคยขึ้นไปสูงที่สุด 23,000 รายเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ลดลงมาเหลือต่ำกว่า 2 หมื่นรายเป็นเวลา 6 วันติดต่อกัน ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังอยู่ที่ประมาณ 18,500 ราย (ถึงแม้ว่ายอดหลักหมื่นจะยังถือว่าสูงอยู่ดี) 

 

จากกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชนรายวัน ระลอกเมษายน 2564 ที่เผยแพร่ในเพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 เส้นสีแดงภาพรวมของทั้งประเทศ และเส้นสีน้ำเงินของ กทม. และปริมณฑลมีแนวโน้มลดลง และน่าจะผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ส่วนเส้นสีเขียวของต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้นแซงเส้นสีน้ำเงินในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมมีแนวโน้มคงตัวประมาณวันละ 12,000 รายมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมและเริ่มลดลงแล้วเช่นกัน

 

 

 

ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าได้มีการหารือเตรียมเข้าสู่ ‘ระยะเปลี่ยนผ่าน’ ภาวะวิกฤต โดยจะเปิดประเทศอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ (Smart Control and Living with COVID-19) มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาดให้จำนวนผู้ป่วยหนักไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข

 

แต่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีผู้สงสัยว่า ‘สถานการณ์การระบาดดีขึ้นจริงหรือไม่’ คำถามนี้เต็มไปด้วยความไม่มั่นใจในชุดข้อมูลที่ ศบค. เผยแพร่ ในขณะที่ ศบค. กำลังพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หลังครบกำหนด 1 เดือนแล้ว ซึ่งถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ‘จริง’ ก็ย่อมเป็นข่าวดีที่สามารถชะลอการระบาดลงได้ แต่ถ้าดีขึ้น ‘ไม่จริง’ ก็จะนำมาสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาดซ้ำได้

 

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่ต้องประเมินร้อยละของผลบวกด้วย

 

จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ‘จริง’ แต่เป็นจำนวนในระบบรายงาน แน่นอนว่ายอดที่รายงานนี้ต่ำกว่าความเป็นจริงแน่นอน เพราะยอดนี้ยังไม่รวมผู้ที่ตรวจพบเชื้อด้วยการตรวจ ATK ซึ่งไม่ใช่ทุกรายที่จะได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ซ้ำ เช่น ผู้ติดเชื้อที่รักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ตั้งแต่แรก รวมถึงผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงการตรวจหาเชื้อ หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ 

 

แต่ถ้าผู้ติดเชื้อในระบบรายงานเป็น ‘ตัวแทนที่ดี’ ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดก็อาจสรุปได้ว่า สถานการณ์การระบาดดีขึ้น ‘จริง’ โดยความเป็นตัวแทนนี้อาจพิจารณาจากแหล่งที่มาของผู้ติดเชื้อ ซึ่งมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ การตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล (Walk-in) และการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Active Case Finding) หากโรงพยาบาลไม่จำกัดการตรวจหาเชื้อ และการตรวจเชิงรุกครอบคลุมทุกพื้นที่ก็ถือว่าเป็นตัวแทนที่ดีได้

 

ข้อมูลใน Dashboard ของกรมควบคุมโรค กทม. มีจำนวนการตรวจหาเชื้อเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน ประมาณวันละ 5,100 คน ซึ่งถือว่าต่ำมาก แต่มีหมายเหตุว่า ‘***แสดงผลเฉพาะข้อมูลที่มีการคีย์เข้าระบบของทางกระทรวงฯ เท่านั้น’ แสดงว่ายอดนี้อาจไม่รวมการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชน หรือในกรณีที่ผลตรวจเป็นลบ โรงพยาบาลก็อาจไม่ได้คีย์เข้าระบบ เพราะเป็นระบบที่ใช้ในการบริหารจัดการเตียงเป็นหลัก 

 

ทำให้ไม่สามารถคำนวณร้อยละของผลบวกจากตัวเลขใน Dashboard ได้ ส่วนการตรวจเชิงรุก กทม. มีการดำเนินการของทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 (CCRT) ที่เข้าไปตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนในชุมชน และจุดตรวจของสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) รายงานเป็นร้อยละของผลบวกจากการตรวจด้วย ATK ในเพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 พบว่าล่าสุดพบผลบวก 10-14%

 

ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ล่าสุดถึงวันที่ 21 สิงหาคม ทั้งประเทศมีจำนวนการตรวจหาเชื้อเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน ประมาณวันละ 60,000 ตัวอย่าง ซึ่งอยู่ในช่วง 50,000-70,000 ตัวอย่างมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ร้อยละของผลบวกสูงสุด 27% ช่วงต้นเดือนสิงหาคมหลังจากนั้นเริ่มลดลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 24% ในขณะที่ กทม. มีจำนวนการตรวจหาเชื้อเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันประมาณวันละ 8,300 ตัวอย่าง 

 

ลดลงจาก 12,000 ตัวอย่างในช่วงต้นเดือนสิงหาคมด้วย แต่ร้อยละของผลบวกประมาณ 36% คงที่มาตลอดทั้งเดือน อาจเป็นเพราะในระยะหลังผู้ที่ตรวจด้วย RT-PCR เป็นผู้ที่พบผลบวกจากการตรวจด้วย ATK มาก่อนก็ได้ ดังนั้นสถานการณ์ในภาพรวมของประเทศน่าจะยังคงทรงตัว ส่วนใน กทม. ข้อมูลที่เผยแพร่ยังไม่พอที่จะสรุป (นอกจากนี้ยังมีเขตสุขภาพที่ 4 และ 5 ที่มีร้อยละของผลบวกสูงอยู่)

 

 

ผู้ป่วยหนักมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น

 

ตัวเลขอีกตัวที่บอกสถานการณ์การระบาดได้คือ ‘จำนวนผู้ป่วยหนัก’ เพราะผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ตัวเลขในระบบรายงานจึงน่าจะใกล้เคียงกับผู้ป่วยหนักทั้งหมด ข้อมูล ณ วันที่ 27 สิงหาคม จากผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษาอยู่ทั้งหมด 185,200 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 5,154 ราย (2.8%) และในจำนวนนี้มีอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 1,082 ราย (0.6%) 

 

โดยยอดผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุด 5,565 รายเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมจากนั้นเริ่มลดลง แต่ยังมากกว่า 5 พันรายเพราะผู้ติดเชื้อทั้งหมดยังมีจำนวนมากอยู่ หากตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับตัวเลขจริงก็น่าจะเป็นสัญญาณที่แสดงว่าการระบาดในประเทศไทยเลยจุดพีกมาแล้ว เพียงแต่ถ้าจะลดลงไปเรื่อยๆ จนเท่ากับ 3 พันรายในช่วงต้นกรกฎาคมคงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักใหญ่

 

ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตก็พอจะบอกสถานการณ์การระบาดได้เช่นกัน โดยจะมีความล่าช้าประมาณ 1-3 สัปดาห์ตามระยะเวลาในการดำเนินโรค ล่าสุดมีจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 250 รายเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง แต่ยอดผู้เสียชีวิตก็อาจเป็นผลมาจากมาตรการการฉีดวัคซีนหรือกระบวนการรักษา เช่น หากการฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมในกลุ่มเสี่ยง อัตราป่วยเสียชีวิตก็น่าจะลดลง 

 

ในการแถลงข่าวของ ศบค. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมได้มีการเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับแบบจำลองที่คาดการณ์ใน 3 กรณีคือ 1. ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ 2. ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ ลดค่า R ได้ 20% และ 3. ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ ลดค่า R ได้ 25% และฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงได้ตามเป้าหมายพบว่าขณะนี้ ‘จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่’ ลดลงมาตามแนวโน้มของฉากทัศน์ที่ 3 แล้ว

 

 

นี่จึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ ศบค. มั่นใจว่าการล็อกดาวน์มีประสิทธิผลและสถานการณ์การระบาดดีขึ้น แต่เงื่อนไขในแบบจำลองนี้คือการล็อกดาวน์ 2 เดือน (ขณะนี้ผ่านไป 1 เดือนกว่า) ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง แต่จะสังเกตว่ายอดผู้ติดเชื้อจะยังไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นราย และมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังผ่อนคลายมาตรการ ส่วน ‘จำนวนผู้เสียชีวิต’ ยังคงเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ในกรณีที่ 2 อยู่

 

เพราะฉะนั้นในการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการบางส่วนจะต้องพิจารณาให้รอบด้านอย่างรอบคอบ ทั้งสถานการณ์การระบาด ซึ่งหาก ศบค. มีชุดข้อมูลอื่นที่ทำให้มั่นใจว่าสถานการณ์ดีขึ้นจริงก็ควรนำมาสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ แต่ถ้ายังไม่มีก็ควรเก็บข้อมูลเพิ่มเติมหรือพัฒนาระบบข้อมูล เช่น ดีเดย์การตรวจ ATK ด้วยตนเอง หรือแอปพลิเคชันรายงานผล ATK เพราะมิฉะนั้นจะทำให้การตัดสินใจผิดพลาด 

 

ทั้งศักยภาพของระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการรักษาแบบ Home Isolation หรือในโรงพยาบาล เพราะเป้าหมายค่อนข้างชัดเจนว่าเพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้จำนวนผู้ป่วยหนักเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข แต่ถ้ายังมีผู้ติดเชื้อคงค้างเหลือในชุมชนจำนวนมาก จะทำให้เกิดการระบาดจากฐานผู้ติดเชื้อหลักหมื่นรายขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิผลอย่างครอบคลุมก็จะลดจำนวนผู้ป่วยหนักเช่นกัน

 

และทั้งมาตรการระดับองค์กรที่จะต้องมีการเฝ้าระวังโรคด้วยการตรวจ ATK และการป้องกันโรคด้วยการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น การระบายอากาศ ทั้งหมดนี้ควรนำมาสู่มาตรการควบคุมโรคตามระดับสถานการณ์และความเสี่ยงของกิจกรรม/กิจการ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และเมื่อการฉีดวัคซีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วก็น่าจะกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติมากขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X