×

โควิด-19 กดดันต่อเนื่อง ดัชนี SET ร่วงทดสอบ 1,550 จุด นักวิเคราะห์แนะเฟ้นหุ้นที่แนวโน้มกำไรดีไตรมาสแรก

07.04.2021
  • LOADING...
โควิด-19 กดดันต่อเนื่อง ดัชนี SET ร่วงทดสอบ 1,550 จุด นักวิเคราะห์แนะเฟ้นหุ้นที่แนวโน้มกำไรดีไตรมาสแรก

สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่กลับมาเป็นประเด็นหลักที่กดดันตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศกลับมาเร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับฐานแรง 2 วันติดต่อกัน จากเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ดัชนี SET พุ่งขึ้นแตะระดับ 1,600 จุด ก่อนจะดิ่งลงกว่า 40 จุด มาแตะระดับ 1,557 จุด คิดเป็นการลดลงประมาณ 2.6% 

 

เฉพาะวันนี้ (7 เมษายน) ดัชนี SET ปรับลดลงมา 23.10 จุด หรือ 1.46% มาปิดตลาดที่ 1,556.56 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นกว่า 107,774 ล้านบาท

 

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า จากข้อมูลสถิติย้อนหลังในช่วงการระบาดระลอก 2 ตั้งแต่วันที่ 17-21 ธันวาคม 2563 ดัชนี SET ปรับตัวลง 5.5% ในเวลาประมาณ 3 วัน แม้ตัวเลขรายวันจะเพิ่มมากขึ้นในอีกเดือนเศษให้หลัง ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่อ่อนแอกว่าตลาด (Underperform) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ 

 

  • กลุ่มรับเหมา -8.5% 
  • กลุ่มธนาคาร -8.5% 
  • กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ -8.1% 
  • กลุ่มโรงแรม -7% 
  • กลุ่มอาหาร -6.6% 
  • กลุ่มบันเทิง -6.3% 
  • กลุ่มขนส่ง -6% 
  • กลุ่มพลังงาน -5.5% 

 

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่นกว่าตลาด (Outperform) คือ 

 

  • กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -0.4%  
  • กลุ่มเกษตร -2.9% 
  • กลุ่มประกัน -2.9% 
  • กลุ่มไฟแนนซ์ -4.4% 
  • กลุ่มโรงพยาบาลและกลุ่มสื่อสาร -5.3%

จากความเสี่ยงข้างต้นมีโอกาสที่จะเห็นการใช้มาตรการล็อกดาวน์บางพื้นที่ และหากสถานการณ์เลวร้ายลง มีโอกาสจะเห็นมาตรการที่เข้มงวดจากภาครัฐเพิ่มเติม นอกจากนี้การระบาดระลอก 3 อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อประมาณการของนักวิเคราะห์ โดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นประเมินว่า กรณีฐานดัชนี SET มีกรอบแนวรับ 1,567-1,550 จุด โดยประเมินว่าการแพร่กระจายทำให้เกิดพื้นที่สีแดงไม่เกิน 7 จังหวัด และทยอยควบคุมได้ ส่วนกรณีแย่ ดัชนี SET จะมีกรอบแนวรับ 1,540-1,510 จุด รับความเสี่ยงจากการแพร่กระจาย นำไปสู่การทยอยล็อกดาวน์บางพื้นที่ และมีพื้นที่สีแดงอื่นๆ 10 จังหวัดขึ้นไป

สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า ผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ในฝั่งของตลาดหุ้นยุโรปส่วนมากไม่ได้ปรับลดลงมากนัก โดยลดลงราว 1-2% และหลังจากที่ผ่านไปสักระยะหนึ่งจะเห็นว่าดัชนีหุ้นของบางประเทศสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาสูงกว่าระดับที่จะเกิดระลอก 3 ได้แล้ว 

 

ขณะที่ทางฝั่งเอเชียจะเห็นว่าการระบาดระลอก 3 ค่อนข้างรุนแรงมากกว่า และจะเห็นว่าตลาดหุ้นของแต่ละประเทศปรับลดลงค่อนข้างมาก เช่น อินโดนีเซีย -5.5%, ฟิลิปปินส์ -4.8%, อินเดีย -4.4% และปากีสถาน -3.8% 

 

จุดแบ่งที่ทำให้ฝั่งยุโรปและเอเชียแตกต่างกันคือ ความว่องไวหรือความรวดเร็วในการฉีดวัคซีน ถ้าดูประเทศที่ทำได้เร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงมาก ซึ่งการกระจายวัคซีนของประเทศไทยมีความล่าช้าและถือเป็นความเสี่ยง

 

หากประเมินว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยที่ราว 3% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของการลดลงของตลาดหุ้นในประเทศที่เกิดการระบาดระลอก 3 ทำให้ดัชนี SET มีความเสี่ยงจะปรับลงไปทดสอบระดับ 1,550 จุด 

 

ส่วนกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้รับแรงกดดัน ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว, ธนาคาร, พลังงาน, ศูนย์การค้า, ร้านอาหาร, ค้าปลีก, นิคมอุตสาหกรรม, โรงพยาบาล (เน้นลูกค้าต่างชาติ), สื่อ และขนส่งมวลชน ส่วนหุ้นที่ได้ประโยชน์ในระยะสั้นราว 1 สัปดาห์ ได้แก่ ถุงมือยาง, ขนส่ง, ประกัน, บริหารหนี้ และสินค้าไอที 

 

วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การปรับฐานของหุ้นไทยถูกกดดันจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นอีกครั้ง รวมถึงมูลค่าของหุ้นไทย ซึ่งขึ้นแตะบริเวณ 1,600 จุด เป็นระดับที่ค่อนข้างตึงตัว 

 

อย่างไรก็ตาม การปรับฐานลงมาทดสอบระดับ 1,550 จุด และสามารถยืนอยู่ได้ จะทำให้หุ้นไทยยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น 

 

ช่วงหลังจากนี้จะต้องกลับมามองหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรไตรมาส 1 ที่โดดเด่น ไม่ใช่เพียงแค่หุ้นที่มีสตอรีเพียงอย่างเดียว แต่กำไรยังฟื้นตัวไม่ทัน หากหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตถูกขายลงมาพร้อมตลาด นักลงทุนสามารถตั้งรับได้บ้างด้วยสัดส่วนเงินลงทุนที่ยังไม่มากนัก 

 

ถัดจากนี้คงต้องติดตามมาตรการควบคุมต่างๆ หากเป็นมาตรการแรง ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจชะงัก อาจเห็นตลาดปรับฐานแรงก่อน แต่หลังจากนั้นเชื่อว่าจะเริ่มฟื้นกลับได้ 

 

ในภาพใหญ่เชื่อว่าตลาดจะฟื้นกลับขึ้นไปได้อีกครั้งด้วยการเดินหน้าเปิดประเทศ การกระจายวัคซีนที่มากขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในขณะที่ทั่วโลกก็เป็นภาพของการฟื้นตัวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จุดด้อยของไทยคือเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับภาพบริการมาก จึงมีแรงกดดันจากการถูกหั่น GDP ปีนี้ลง

 

ส่วนกรณีที่ดัชนีหลุด 1,550 จุดลงไป อาจเห็นการแพนิกในระยะสั้น แต่หากดัชนีลดลงไปถึงบริเวณ 1,450 จุด เชื่อว่าจะเห็นแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันเข้ามาชัดเจน ในกรณีนี้อาจจะรอจังหวะให้เริ่มเห็นการสร้างฐานของหุ้นได้ก่อน แล้วค่อยเข้าลงทุน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X