×

เปรียบเทียบการรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก vs. Home Isolation

01.03.2022
  • LOADING...
เปรียบเทียบการรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก vs. Home Isolation

ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด ‘แบบผู้ป่วยนอก’ หรือ Outpatient Department (OPD) สำหรับผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่มากกว่า 90% เป็นผู้ป่วยสีเขียว ในขณะที่ระบบแยกกักตัวที่บ้าน (HI) ศูนย์พักคอย (CI) และหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ยังคงดำเนินการอยู่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง*

 

ถึงแม้ในการรักษาแบบผู้ป่วยนอกร่วมกับการแยกกักตนเองที่บ้าน (OP with Self Isolation) และ Home Isolation (HI) ผู้ป่วยจะพักรักษาตัวที่บ้านเหมือนกัน แต่ 2 ระบบนี้มีกิจกรรมการรักษาต่างกันคือ 

 

  1. การโทรติดตามอาการ แบบ OPD โทรเพียงครั้งเดียวที่ 48 ชั่วโมง ในขณะที่ HI จะมีการโทรติดตามอาการทุกวัน
  2. อุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น เทอร์โมมิเตอร์ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว แบบ OPD ไม่มีให้ แต่ HI จะได้รับอุปกรณ์เพื่อติดตามอาการประจำวัน
  3. บริการอื่นๆ แบบ OPD ไม่มีบริการอาหาร 3 มื้อ แต่ HI จะมีบริการให้

 

ส่วนกิจกรรมการรักษาที่ยังเหมือนกันคือ 

  1. การแยกกักตัวที่บ้าน ทั้ง OPD และ HI จะต้องแยกกักตนเองจนครบตามกำหนด (จากเดิมที่เคยมีข่าวว่า แบบ OPD ไม่ต้องกักตัว) ซึ่งปัจจุบันคือ 10 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ 
  2. การจ่ายยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะส่วนมากหายได้เอง แต่อาจได้รับยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์
  3. ระบบส่งต่อเมื่อมีอาการแย่ลง หากมีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับมายังโรงพยาบาล และจะได้รับการส่งต่ออย่างทันท่วงที

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งกำกับดูแลแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด อธิบายว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พบผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ประกอบกับมีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนมากขึ้น ข้อมูลของกรุงเทพฯ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่ามีผู้ป่วยสีเขียวมากกว่า 90% แยกเป็นระบบ HI 29,519 ราย (56.4%) CI 2,022 ราย (3.9%) และเตียงระดับ 1 จำนวน 18,910 ราย (36.1%)

 

ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงสามารถดูแลที่บ้านได้ โดยให้การรักษาตามอาการ ซึ่งเป็นการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเตรียมพร้อมสู่โรคประจำถิ่น (Endemic)

 

หมายเหตุ: *ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี, โรคปอดเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้, ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30) ตับแข็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

อ้างอิง: กระทรวงสาธารณสุข 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X