×

จับตาโอไมครอนกระทบเศรษฐกิจไทยปี 2565 ห่วงซ้ำรอยเดลตา ฉุดการฟื้นตัวล่าช้า

04.01.2022
  • LOADING...
โอไมครอนกระทบเศรษฐกิจไทยปี 2565

สำนักวิจัยและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจหลายแห่งต่างออกมาฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ราว 1% ซึ่งถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำหากเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่หากมองย้อนกลับไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า GDP ไทยในปีนี้เคยถูกคาดการณ์เอาไว้ว่าจะเติบโตได้สดใสที่ 3-4% มาก่อน

 

แต่ภาพดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่รุนแรง ส่งผลให้รัฐบาลต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ปิดประเทศชั่วคราวเพื่อควบคุมสถานการณ์ในช่วงกลางปี จนก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและบริการซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงมากของ GDP ไทย 

 

แรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวและบริการที่หายไปในช่วงล็อกดาวน์ทำให้ทุกสำนักวิจัยมีการปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยลงหลายระลอกในรอบปีที่ผ่านมา บางแห่งถึงกับประเมินว่าในกรณีเลวร้ายเศรษฐกิจไทยถึงขั้นติดลบเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน 

 

ในความโชคร้ายอาจยังมีความโชคดีหลงเหลืออยู่บ้าง เมื่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ของไทยอย่างภาคส่งออกกลับสร้างปรากฏการณ์ขยายตัวได้ถึง 15-16% สูงสุดในรอบ 12 ปี โดยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

 

ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและคลายล็อกดาวน์ในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีเริ่มกลับเข้าสู่ลูปการฟื้นตัวได้อีกครั้ง 

 

‘โอไมครอน’ ความเสี่ยงใหญ่เศรษฐกิจไทยปี 2565

อย่างไรก็ดี การมาถึงของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ ที่มีอัตราการแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาในช่วงปลายปี ก็ทำให้ไทยต้องประกาศยกเลิกการเปิดรับนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Test & Go และกลับไปใช้ระบบกักตัวเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง เช่นเดียวกับการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ของห้างร้านต่างๆ ที่ถูกประกาศยกเลิกเช่นกัน

 

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เร่งตัวขึ้นหลายวันติดต่อกันในขณะนี้ เริ่มสร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนเมื่อครั้งที่สายพันธุ์เดลตามีการระบาดจนนำไปสู่การล็อกดาวน์อีกหรือไม่

 

โดยล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ได้ประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดโอไมครอน และยอมรับว่าไวรัสโอไมครอนจะกลายเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในช่วงต้นปี 2565 นอกเหนือจากความท้าทายที่มีอยู่เดิม โดย กกร. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-4.5% 

 

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กรณีฐานลงมาเหลือ 3.2% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.4% เนื่องจากมองว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นในช่วงต้นปี ทำให้ภาพรวมของภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ GDP ไทยยังจะเป็นการฟื้นตัวได้ช้า โดยคาดว่าในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 5.9 ล้านคน

 

ขณะที่ในกรณีเลวร้าย (Worst Case) คือเกิดการระบาดรุนแรงขึ้นอีกรอบจากสายพันธุ์โอไมครอน จนทำให้หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยอาจลดลงไปอยู่ที่ 2.6 ล้านคน ตามการจำกัดการเดินทางของประเทศต้นทางนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีนที่อาจยืดเวลาการเปิดประเทศออกไป ซึ่งในกรณีนี้ GDP ไทยจะขยายตัวได้เพียง 2.3%

 

อย่างไรก็ดี กรณีที่ดีกว่าคาด (Better Case) คือการพัฒนาการฉีดวัคซีนของโลกและไทยดีกว่าคาด และการระบาดของโอไมครอนไม่รุนแรง รวมถึงภาครัฐมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม GDP ไทยก็มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 4.1% 

 

สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่แบ่งสมมุติฐานการแพร่ระบาดสายพันธุ์โอไมครอนออกเป็นกรณีดี คือไวรัสแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา และไม่มีการล็อกดาวน์ ในกรณีนี้เศรษฐกิจปี 2565 จะฟื้นตัวได้ที่ 3.7% ส่วนกรณีแย่ คือมีความรุนแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้ต้องปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ เศรษฐกิจไทยในปี 2565 อาจเติบโตได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.8% 

 

ด้านสำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่า การระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค​ ส่งผลให้การใช้จ่ายของประชาชนชะลอตัวชั่วคราวในช่วงปลายเดือนธันวาคมต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม​ อย่างไรก็ดี ยังมองว่าหากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังต่ำกว่าระดับหนึ่งหมื่นรายต่อวัน​ การระบาดจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ​ไทย​รุนแรง​ โดย GDP ปี 2565 จะยังขยายตัวได้ที่ 3.8% แต่ในกรณีเลวร้ายที่เกิดการล็อกดาวน์เศรษฐกิจไทยก็มีความเสี่ยงที่จะโตได้ต่ำกว่า 3% เช่นกัน

 

กูรูมองอาจกระทบแค่ไตรมาสแรก GDP ทั้งปียังโตได้ 3-4%

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กับ THE STANDARD WEALTH โดยระบุว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจกำลังจับตาดูจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในขณะนี้ คือข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคที่ยังไม่มีความชัดเจน แต่จากข้อมูลที่มีการแพร่เผยออกมาในเวลานี้ก็ค่อนข้างแน่ชัดแล้วโอไมครอนแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดลตา 4-5 เท่า

 

ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวหากเดลตาใช้เวลาราว 4 เดือนในการควบคุมโรค โอไมครอนจะใช้เวลาน้อยกว่าโดยน่าจะอยู่ที่ 2-3 เดือน ซึ่งหมายความว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยน่าจะถูกจำกัดอยู่ภายในไตรมาสแรก จากนั้นในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่โหมดฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง

 

“GDP ไทยปี 2565 น่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3-4% เนื่องจากผลกระทบจากโอไมครอนจะจำกัดอยู่ภายในไตรมาสแรก โดยในช่วงครึ่งปีหลังการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้นจากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นของโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจมี Upside จากการท่องเที่ยวได้อีก” กอบศักดิ์ระบุ

 

กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากความเสี่ยงจากโควิดแล้ว ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงของค่าเงินที่ผันผวนจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในเดือนมิถุนายน, กันยายน และธันวาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าหลุดระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้

 

“เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับที่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงกลางปี 2566 ซึ่งหมายความว่าสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเรา 1 ปี ในช่วงระหว่างนี้ค่าเงินจะผันผวน ต้นทุนการเงินในตลาดพันธบัตรจะเพิ่มสูงขึ้น ผู้ส่งออกและนำเข้าต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน” กอบศักดิ์กล่าว

 

เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2565 พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีแรกเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway โดยมีปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท 2 เรื่อง ได้แก่  

 

  1. สถานการณ์การระบาดของโอไมครอนในยุโรป ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าจะถึงจุดพีกในเร็วๆ นี้และสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายได้ภายในไตรมาสแรก ซึ่งหากเป็นไปตามสมมติฐานเงินดอลลาร์อาจจะอ่อนค่าลง

 

  1. นโยบายการเงินของ Fed ซึ่งปัจจุบันตลาดรับรู้ไปแล้วว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2, 3 และ 4 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์สายเหยี่ยวบางส่วนยังมองว่าโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่านั้น หรือปรับขึ้นดอกเบี้ยทันทีหลังจบมาตรการ QE ในเดือนมีนาคม เนื่องจากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปแล้วถึง 4% ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่า Fed พร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

 

“ในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway แต่จะไม่หลุดจากกรอบ 34 บาทต่อดอลลาร์ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่าเทรนด์จะเปลี่ยน เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจน นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเข้ามาไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าจากดุลบริการที่ปรับตัวดีขึ้น” พูนกล่าว

 

โดยมองว่า ในกรณีที่ยังมีปัญหาการระบาดของโควิดรบกวนการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวอยู่บ้าง เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์ แต่ถ้าการท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้โดยไม่มีปัญหาโควิดมารบกวนมาก นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยมีจำนวนเกิน 6 ล้านคน เงินบาทอาจมีโอกาสแข็งค่าขึ้นไปถึงระดับ 31.5 บาทต่อดอลลาร์

 

เงินเฟ้อ การชะลอตัวของจีนและหนี้ครัวเรือน ยังเป็นความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทย

 

ขณะที่ ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะถูกตรึงไว้ที่ 0.5% ตลอดปี 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางภายใต้เงินเฟ้อที่แม้จะเร่งตัวแต่ยังอยู่ในกรอบนโยบาย

 

สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2565 คาดว่ามีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปี 2564 โดยนับตั้งแต่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล จนถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลง 1.4% จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับแย่ลง ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะในตลาดหุ้น สำหรับแนวโน้มเงินบาท ณ สิ้นปี 2565 คาดว่าอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วง 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

โดยนอกจากความเสี่ยงจากการระบาดของโอไมครอนแล้ว ในปี 2565 ไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอีก 3 ด้านที่อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาดได้ ได้แก่ 

 

  1. การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น และปัญหาคอขวดอุปทานโลก ส่งผลกระทบทางตรงผ่านกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง และทางอ้อมผ่านภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นเร็ว โดยเฉพาะหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าคาด 

 

  1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มากกว่าคาดจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ 

 

  1. ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง

 

ยรรยงสรุปว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ในปี 2565 แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ทำให้มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Output Loss) ในระดับสูง และอาจกระทบต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ผ่านการลงทุนและการจ้างงานที่น้อยลง โดยกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับปี 2562 (ก่อนโควิด) อาจต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566 

 

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising