×

โอไมครอนระบาดเพิ่มขึ้น ตรวจ ATK ได้หรือไม่ ควรตรวจเมื่อไร

04.01.2022
  • LOADING...
โอไมครอน

ปีใหม่ 2565 สถาบันการศึกษาและองค์กรหลายแห่งมีนโยบายให้ตรวจ ATK ก่อนเข้าเรียน/ทำงาน เพราะช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่น่าจะไปฉลองปีใหม่ เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด ในขณะที่สายพันธุ์โอไมครอนซึ่งแพร่กระจายเร็วกำลังระบาดในหลายจังหวัด และหลายคนเริ่มมีเพื่อนในกลุ่มติดเชื้อโควิด เรายังตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ได้หรือไม่ และควรตรวจเมื่อไรบ้าง

 

ATK เป็นชุดตรวจโควิดที่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง และทราบผลเร็วภายใน 15-30 นาที ย่อมาจาก Antigen Test Kit แปลตรงตัวคือชุดตรวจแบบตรวจหา ‘แอนติเจน’ หรือ ‘ชิ้นส่วนของไวรัส’ ซึ่งชิ้นส่วนที่ว่าจะเป็นโปรตีนที่หุ้มสารพันธุกรรมของไวรัส (Nucleocapsid) ไม่ใช่โปรตีนหนาม (Spike) ด้านนอกที่มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง และต่างจากวิธี PCR ที่จะตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส

 

ATK ตรวจโอไมครอนได้หรือไม่

 

ปัจจุบันยังไม่มี ATK ตรวจแยกตามสายพันธุ์ แต่ทุกยี่ห้อที่ผ่านมาตรฐาน อย. ยังใช้ตรวจโควิดได้ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด เนื่องจาก ATK ตรวจหาโปรตีนที่หุ้มสารพันธุกรรม ในขณะที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์มากตรงโปรตีนหนาม ดังนั้นการที่บางยี่ห้อระบุว่า ‘ตรวจโอไมครอนได้’ น่าจะหมายถึงว่าถ้าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ชุดตรวจยี่ห้อนั้นก็จะยังตรวจพบผลบวกได้ (ยังขึ้น 2 ขีดเหมือนเดิม)

 

สำหรับข่าวหรืออินโฟกราฟิก ‘5 ยี่ห้อ ATK ตรวจโอไมครอนได้ ขายในไทย’ หรือ ‘ประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ในไทยในการตรวจจับโอไมครอน’ เป็นผลการศึกษาในต่างประเทศที่นำชุดตรวจ 7 ยี่ห้อมาทดสอบความไว (Sensitivity – ความสามารถในการตรวจพบผลบวกในผู้ที่ติดเชื้อ) ซึ่งพบว่ายังตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ แต่จะมีความไวลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า

 

ความไวที่ลดลงนี้อาจทำให้เกิดโอกาสเกิดผลลบปลอม (False Negative) มากขึ้น ซึ่งปกติก็มีโอกาสเกิดขึ้นในกรณีที่เพิ่งได้รับเชื้อหรือเชื้อมีปริมาณน้อย ดังนั้นผู้ที่มีประวัติเสี่ยง เช่น สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบควรกักตัวแล้วตรวจซ้ำในอีก 3-5 วัน แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอาจตรวจซ้ำด้วย ATK อีกยี่ห้อหนึ่ง หรือไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจด้วยวิธี PCR

 

ควรตรวจ ATK เมื่อไรบ้าง

 

  1. ตรวจเมื่อเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด ได้แก่ อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน หรือพูดคุยในระยะ 1-2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรืออยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อในสถานที่ปิด นานกว่า 30 นาที โดยไม่ได้สวมหน้ากาก สามารถตรวจ ATK เร็วที่สุด 3 วันหลังสัมผัสกับผู้ป่วย เพราะระยะฟักตัวของโอไมครอนสั้นลง หรือตามที่กรมควบคุมโรคกำหนดให้ตรวจหาเชื้ออย่างน้อย 1 ครั้งหลังวันที่ 7 เป็นต้นไป

 

  1. ตรวจเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเหนื่อย ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคแนะนำว่าต้องมีประวัติเสี่ยงร่วมด้วย เช่น อาศัย/เดินทางเข้าในพื้นที่ระบาดหรือสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 14 วัน เพราะถ้าไม่มีประวัติเสี่ยง อาการเหล่านี้ก็อาจเกิดจากเชื้อโรคอื่นได้ และเป็นผลบวกปลอม (False Positive)

 

  1. ตรวจเพื่อความปลอดภัย ก่อนเข้าสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือก่อนร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก ยกตัวอย่าง มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ของร้านอาหาร ฝั่งผู้ใช้บริการ ซึ่งในช่วงแรกกำหนดให้ต้องได้รับวัคซีนครบ หรือมีผลตรวจ ATK เป็นลบภายใน 1 สัปดาห์ แต่ต่อมาในช่วงปีใหม่ปรับเป็นภายใน 72 ชั่วโมง

 

  1. ตรวจเพื่อเฝ้าระวังโรค ในสถานศึกษา/สถานประกอบการ ยกตัวอย่าง มาตรการเปิดโรงเรียน (Sandbox Safety Zone in School) ในช่วงแรกกำหนดให้ตรวจ ATK ทุก 2 สัปดาห์ แต่ต่อมาให้สุ่มตรวจเป็นระยะๆ ส่วนมาตรการ COVID Free Setting ฝั่งผู้ให้บริการกำหนดให้พนักงานตรวจ ATK เป็นประจำทุก 1 สัปดาห์ เพื่อตรวจจับการระบาดได้เร็วขึ้น

 

  1. ตรวจหลังเทศกาลปีใหม่ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือว่าหลังเทศกาลปีใหม่ หากสามารถทำงานที่บ้านได้ให้ Work from Home เป็นเวลา 14 วัน แต่หากต้องเข้าสถานที่ทำงานขอให้ตรวจ ATK ก่อน และในสัปดาห์แรกให้ตรวจ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวังอาการจนครบ 14 วัน

 

ATK เป็นบวก แต่ PCR เป็นลบต้องทำอย่างไร

 

เมื่อผลตรวจ ATK เป็นบวกจะต้องแยกตัวทันที สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่บ้านร่วมกับผู้อื่น แจ้งญาติและเพื่อนในกลุ่มเพื่อให้กักตัวและตรวจหาเชื้อในระยะเวลาที่เหมาะสม และติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วน 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยอาจได้รับการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) แต่ถ้ามีอาการรุนแรงต้องติดต่อสายด่วน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

.

หากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธี PCR หากผลออกมาเป็นลบ จะถือว่าเป็น ‘ผลบวกปลอม’ เนื่องจากวิธี PCR เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจโควิด มีสาเหตุจากชุดตรวจไม่ได้มาตรฐานหรือการปนเปื้อนเชื้อ กรณีนี้กรมควบคุมโรคให้แยกตัวรักษาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา และเก็บตัวอย่างส่งตรวจ PCR ซ้ำอีกครั้งภายใน 24 ชั่วโมง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X