×

โลกยังมีหวังไหม ทางรอดจากโควิดอยู่ตรงไหน ประมวลภาพรวมวัคซีนโควิดปี 2021 และก้าวต่อไปในปี 2022

16.12.2021
  • LOADING...
โควิด

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เป็นต้นเหตุของโรคโควิด ซึ่งส่งผลกระทบเลวร้ายเป็นวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกประเทศ

 

ความหวังสำคัญที่ทั่วโลกรอคอยมาตลอดคือวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมามีหลายกลุ่มวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนที่ประสบความสำเร็จขั้นต้นในการพัฒนาวัคซีนโควิดที่มีประสิทธิภาพออกมาได้ ขณะที่หลายประเทศพยายามจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน เพื่อยับยั้งการแพร่ะบาดให้บรรเทาลง

 

แน่นอนว่า ณ ปัจจุบัน สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดยังไม่มีทีท่าจะยุติลง แม้ว่าหลายประเทศจะเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้จำนวนมาก แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง มาจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ที่ก่อให้เกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะเดลตา และโอไมครอน ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

 

สำหรับคำถามสำคัญที่เชื่อว่า แทบทุกคนกำลังต้องการคำตอบ คือโลกยังมีความหวังแค่ไหนสำหรับการเร่งยุติการระบาดของโควิดด้วยวัคซีน และการพัฒนาวัคซีนโควิด ตอนนี้ก้าวไปถึงจุดไหนแล้ว?

 

ทั่วโลกมีวัคซีนกี่ตัว และพัฒนาไปถึงไหน

การพัฒนาวัคซีนโควิด เดินหน้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมปี 2020 หลังจากที่โลกเริ่มตระหนักถึงอันตรายของโควิดอย่างจริงจัง โดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและยาระดับโลก ตลอดจนมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หันมาทุ่มเทความพยายามในการพัฒนาวัคซีนโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัคซีนหลายตัว อาทิ Pfizer-BioNTech, Moderna, AstraZeneca, Sinopharm และ Sinovac เริ่มมีการอนุมัติใช้งานฉุกเฉินในช่วงกลางปีถึงปลายปี 2020 ก่อนที่จะใช้งานเป็นวงกว้างในหลายประเทศช่วงปีนี้ 

 

จนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมีวัคซีนโควิดที่ผ่านการอนุมัติใช้งานแพร่หลายแล้วมากกว่า 10 ตัว โดยวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ปัจจุบัน มี 8 ตัว ได้แก่  

 

  1. วัคซีน mRNA-1273 ของ Moderna
  2. วัคซีน BNT162b2 (Comirnaty) ของ Pfizer–BioNTech
  3. วัคซีน Janssen Ad26.COV2.S ของ Johnson & Johnson
  4. วัคซีน AZD1222 ของ Oxford / AstraZeneca
  5. วัคซีน Covishield ของ Serum Institute of India (ใช้สูตรของ Oxford / AstraZeneca)
  6. วัคซีน Covaxin ของ Bharat Biotech 
  7. วัคซีน BBIBP-CorV (Vero Cells) ของ Sinopharm (Beijing)
  8. วัคซีน CoronaVac ของ Sinovac

 

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนตัวอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการประเมินของ WHO หรือมีการอนุมัติใช้แล้วในบางประเทศ เช่น Sputnik V ของรัสเซีย, Novavax ของสหรัฐฯ,  Sanofi-GSK, AD5-nCOV (Convidecia) ของ CanSino และวัคซีน WIBP-CorV ของ Sinopharm

 

สำหรับวัคซีนโควิดนั้นแบ่งออกเป็น 4 ชนิดหลักๆ ได้แก่ วัคซีนแบบ mRNA, Viral Vector, วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) และวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine)

 

โดยวัคซีนของ Pfizer-BioNTech และ Moderna ถือเป็นวัคซีน mRNA ที่ถูกจับตามองจากทั่วโลกในระยะแรกๆ เนื่องจากประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิดที่สูงกว่า 90% 

 

ส่วนวัคซีนอื่นๆ เช่น AstraZeneca พบว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่า 76%, Covishield 78%, Covaxin 64%, BBIBP-CorV (Sinopharm) 78%, CoronaVac (Sinovac) 66% ส่วนวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย มีรายงานอ้างประสิทธิภาพสูงกว่า 91% แต่ยังมีข้อกังขาเรื่องความคลาดเคลื่อนของข้อมูล

 

ปัจจุบัน ทีมวิจัยวัคซีนโควิดทั้งของภาครัฐและเอกชน ยังคงเดินหน้าการพัฒนาและทดลองวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน และการใช้งานในประชากรกลุ่มอายุต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุน้อย ซึ่งที่ผ่านมา มีหลายบริษัท อาทิ Pfizer, Moderna และ Sinovac ที่พยายามทำการทดลองให้วัคซีนในเด็กและวัยรุ่น ตั้งแต่อายุ 6 เดือนไปจนถึง 17 ปี

 

ขณะที่ Pfizer นั้นประสบผลสำเร็จในการทดลองทางคลินิกเฟส 2/3 ที่แสดงให้เห็นว่า วัคซีนนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพป้องกันโควิดสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 5-11 ปี ก่อนจะได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ให้ใช้งานวัคซีนในกรณีฉุกเฉินสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ได้เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

อัตราฉีดวัคซีนและการจัดหาวัคซีน

ที่ผ่านมา แทบทุกประเทศต่างมีการจัดเตรียมแผน เพื่อเร่งดำเนินการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเป้าหมายหลักคือลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยหนัก เพื่อไม่ให้เกิดภาวะผู้ป่วยล้นในโรงพยาบาลต่างๆ จนส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในระบบสาธารณสุข และลดผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งแผนฉีดวัคซีนของประเทศส่วนใหญ่จะเริ่มจากกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาสุขภาพ ตามด้วยกลุ่มผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ตามด้วยกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุ 12-17 ปี และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 

 

สำหรับการจัดหาและกระจายวัคซีนนั้น พบว่าจนถึงตอนนี้ ยังคงมีปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศรายได้สูงและรายได้ต่ำ ซึ่งข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 พบว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการสั่งซื้อวัคซีนโควิดรวมกว่า 10,000 ล้านโดส ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่ง เป็นคำสั่งซื้อจากประเทศร่ำรวยที่มีประชากรรวมกัน คิดเป็นประมาณ 14% ของทั้งโลก 

 

ข้อมูลจาก ourworldindata.org ที่เปิดเผยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า อัตราฉีดวัคซีนทั่วโลกกว่า 76% นั้นมาจากประเทศรายได้สูงและรายได้ปานกลาง ขณะที่ข้อมูลล่าสุดของ มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มประชากรผู้ใหญ่ในประเทศรายได้ต่ำ มีอัตราฉีดวัคซีนโดสแรกอยู่ที่ราว 8% เท่านั้น ซึ่งสวนทางกับประเทศรายได้สูง ที่มีอัตราฉีดวัคซีนให้ประชากรผู้ใหญ่สูงกว่า 65% 

 

ปัญหาความไม่เท่าเทียมในการจัดหาวัคซีนระหว่างประเทศรายได้สูงและรายได้ต่ำยิ่งเห็นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศยากจนแถบทวีปแอฟริกา อย่างเอธิโอเปีย ไนจีเรีย และแทนซาเนีย ที่มีประชากรได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียงไม่ถึง 2% ในขณะที่หลายประเทศรายได้สูง อย่าง สหรัฐฯ และประเทศยุโรป กำลังเดินหน้าแผนฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น (Booster Shot) ให้แก่ประชาชนของตนเอง

 

อย่างไรก็ตาม WHO พยายามเป็นหัวหอกในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านวัคซีน โดยเป็นผู้นำในการตั้งโครงการแบ่งปันวัคซีน COVAX ซึ่งแรกเริ่มนั้นมีการตั้งเป้าจัดส่งวัคซีนแก่ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ให้ได้ 2 พันล้านโดสภายในสิ้นปี แต่จนถึงตอนนี้ เป้าหมายนั้นถูกปรับลดลงแล้วมากกว่าครึ่ง เหลือเพียง 800 ล้านโดสหรืออาจน้อยกว่านั้น สาเหตุหลักคาดว่ามาจากการที่ประเทศผู้บริจาครายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จัดส่งวัคซีนได้ค่อนข้างช้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ และการระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศ เช่น ในยุโรป ทำให้ความต้องการใช้วัคซีนมีเพิ่มมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันทั่วโลกมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิดสูงกว่า 8.5 พันล้านโดส หรือคิดเป็นประชากรโลก 4.4 พันล้านคน หรือประมาณ 57% ที่ได้ฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 โดส (ข้อมูลถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2021) โดย ourworldindata.org ชี้ว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีอัตราฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบโดสสูงสุดอยู่ที่ 90% ตามด้วย คิวบา, โปรตุเกส, ชิลี, สิงคโปร์, จีน, เกาหลีใต้ และกัมพูชา ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 20 โดยมีประชาชนฉีดวัคซีนครบโดสแล้วกว่า 61% 

 

โควิดสายพันธุ์ใหม่จุดเปลี่ยนของการพัฒนาวัคซีน

สิ่งหนึ่งที่ส่งผลให้โควิดเป็นโรคระบาดที่สร้างความกังวล และยังไม่รู้ว่าจะคลี่คลายได้เมื่อไร คือการกลายพันธุ์ของไวรัสที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่แล้วอย่างน้อย 14 สายพันธุ์ โดย WHO ได้แบ่งประเภทของโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลำดับความร้ายแรง ได้แก่

 

  1. กลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern: VC) ปัจจุบันมีเชื้อโควิด 5 สายพันธุ์ที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ อัลฟา, เบตา,แกมมา, เดลตา และล่าสุดคือโอไมครอน
  2. กลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variants of Interest: VOI) ปัจจุบันมีเชื้อโควิดสายพันธ์แลมบ์ดาและมิว
  3. กลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม (Variants Under Monitoring: VUM) ปัจจุบันมีเชื้อโควิด 7 สายพันธ์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ AZ.5, C.1.2, B.1.617.1, B.1.526, B.1.525, B.1.630 และ B.1.640

 

สำหรับสายพันธุ์โควิดที่สร้างความกังวลอย่างมากในปีนี้คือ เดลตา หรือ B.1.617.2 ที่พบครั้งแรกในอินเดียตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 และมีอัตราแพร่เชื้อที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟามากถึง 40-60% 

 

โดยเดลตากลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดการระบาดรุนแรงในหลายประเทศ และปัจจุบันมีมากกว่า 179 ประเทศที่กำลังเผชิญการระบาดของโควิดสายพันธุ์นี้ ขณะที่วัคซีนที่มีอยู่หลายตัว เช่น Pfizer, Moderna และ AstraZeneca ยังมีประสิทธิภาพในการต้านทานโควิดเดลตา ซึ่งงานวิจัยหลายฉบับแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็มยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการป้องกันเชื้อโควิดเดลตา และป้องกันการเกิดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าระดับภูมิคุ้มกันจะน้อยลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้า

 

ส่วนอีกสายพันธุ์ที่กำลังสร้างความกังวลไปทั่วโลกคือ โอไมครอน ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งงานวิจัยเบื้องต้นพบว่า มีอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่าเดลตา และปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 80 ประเทศ 

 

ความรุนแรงของโอไมครอนนั้น จากการวิเคราะห์ในขั้นต้นคาดว่าจะไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ซึ่งข้อมูลจากแพทย์ในแอฟริกาใต้ชี้ว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครอนส่วนใหญ่ไม่มีอาการป่วยรุนแรง แต่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า สัดส่วนของผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงที่มีจำนวนน้อยนั้น อาจเพิ่มมากขึ้นจนน่ากังวล หากมีผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ โควิดโอไมครอนมีการกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่ง ซึ่ง 32 ตำแหน่งเกิดขึ้นในส่วนโปรตีนหนาม ที่ไวรัสใช้ในการเกาะติดเซลล์ร่างกายมนุษย์และทำให้ติดเชื้อ โดยการกลายพันธุ์จำนวนมากนี้ นอกจากจะทำให้การแพร่ระบาดง่ายขึ้น ยังอาจส่งผลให้หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น และลดทอนประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสของวัคซีนที่มีอยู่ 

 

ขณะที่ผู้พัฒนาวัคซีนหลายราย ต่างเร่งทำการทดลองเพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีนในการต้านทานโอไมครอน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า การฉีดวัคซีนเพียง 2 โดสนั้นไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันสลายไวรัสได้ในระดับที่มากพอ และอาจจำเป็นต้องปรับสูตรการฉีดวัคซีนเพิ่มจาก 2 โดสเป็น 3 โดส

 

การใช้วัคซีนเข็มกระตุ้น

การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังคงไม่คลี่คลาย และเริ่มกลับมาทวีความรุนแรงอีกระลอกในหลายประเทศ เช่น ในทวีปยุโรป ประกอบกับสถานการณ์โควิดสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ตอนนี้มีอย่างน้อย 36 ประเทศ ที่ตัดสินใจเริ่มต้นแผนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน ท่ามกลางความหวังเพื่อบรรเทาสถานการณ์ และช่วยฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาหนักตลอดระยะเวลาการระบาดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา 

 

โดยอิสราเอล ถือเป็นประเทศแรกที่เริ่มฉีดวัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน เริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุ ก่อนจะขยายไปยังกลุ่มอายุเกิน 12 ปีขึ้นไป

 

ขณะที่สหรัฐฯ ได้อนุมัติการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนกลุ่มผู้ใหญ่ทุกคนที่อายุเกิน 18 ปีขึ้นไป ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่วนสหราชอาณาจักร ได้เริ่มเสนอฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 แล้วอย่างน้อย 3 เดือน และกลุ่มอายุเกิน 16 ปีที่มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศ อาทิ ตุรกี, เยอรมนี, ออสเตรีย, แคนาดา และฝรั่งเศส ที่เดินหน้าแผนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างจริงจัง 

 

อย่างไรก็ตาม WHO แสดงความกังวลที่หลายประเทศเริ่มต้นเดินหน้าแผนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ในขณะที่ยังมีประเทศยากจนจำนวนมากขาดแคลนวัคซีน ซึ่งข้อแนะนำล่าสุดของ WHO ยังคงสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเฉพาะในกลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพ หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งมีระดับภูมิคุ้มกันลดน้อยจนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

 

ยาต้านโควิด อีกความหวังพลิกเกมโควิด?

นอกเหนือจากวัคซีนแล้ว อีกหนทางในการรับมือกับวิกฤตแพร่ระบาดของโควิด คือการใช้ยาเม็ดต้านโควิด (Antiviral Pill) ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดไม่ให้เกิดอาการป่วยรุนแรง โดยช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีการเปิดตัวยาเม็ดต้านโควิดอย่างน้อย 2 ตัว จากบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างเห็นผล ได้แก่

 

  1. โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) พัฒนาโดยบริษัท Merck & Co. ร่วมกับ Ridgeback Biotherapeutics มีประสิทธิภาพช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตสำหรับผู้ป่วยโควิด ประมาณ 50% ปัจจุบันได้รับการอนุมัติใช้งานในสหราชอาณาจักร

 

  1. แพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) พัฒนาโดยบริษัท Pfizer ผลทดลองทางคลินิกเฟสที่ 2/3 ชี้ว่า มีประสิทธิภาพลดความเสี่ยงในการเกิดอาการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 89% หากทานยาภายใน 3 วันหลังมีอาการ และ 88% หากทานยาภายใน 5 วันหลังมีอาการ ซึ่ง Pfizer ได้ยื่นขออนุมัติใช้งานในกรณีฉุกเฉินต่อ FDA แล้ว

 

ขณะที่ล่าสุดมีหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ได้ดำเนินการสั่งซื้อยาต้านโควิดทั้ง 2 ตัว โดย Merck & Co. ได้ลงนามขายยาโมลนูพิราเวียร์ที่ใช้ในการทดลอง ให้กับรัฐบาลประเทศต่างๆ แล้วกว่า 7 ล้านเม็ด และมีการทำข้อตกลง อนุญาตให้ 105 ประเทศทั่วโลก สามารถผลิตยาและจำหน่ายได้ในราคาถูก แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงไทย

 

ส่วนยาแพ็กซ์โลวิดที่ยังอยู่ระหว่างการทดลอง ยังไม่มีข้อมูลการสั่งซื้อจากประเทศต่างๆ โดย Pfizer ได้อนุญาตให้ประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 95 ประเทศ สามารถผลิตและจำหน่ายยาแพ็กซ์โลวิดได้ในราคาถูกด้วย แต่ไม่รวมไทยเช่นกัน

 

เทรนด์วัคซีนปีหน้า และความหวังในการยับยั้งวิกฤตโควิด

สำหรับในปีหน้านั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า มีความเป็นไปได้ที่โควิดจะสูญเสียสถานะของการระบาดใหญ่ หรือ Pandemic ได้ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่เพิ่มสูงมากขึ้น ประกอบกับการมีเครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยหนัก เช่น ยาต้านโควิด

โดยโควิดอาจกลายมาเป็นโรคประจำถิ่นหรือ Endemic หรือโรคระบาดตามฤดูกาล ที่ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง และกลายเป็นโรคระบาดที่อยู่ในชีวิตของผู้คน เช่นเดียวกับโรคระบาดใหญ่อื่นๆ ในอดีต อาทิ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดสเปน หรือไข้หวัดหมู

ซึ่งเทรนด์การฉีดวัคซีนที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า คือเราอาจต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นประจำทุกปี คล้ายกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยตัววัคซีนเองก็น่าจะมีการพัฒนาเวอร์ชันใหม่ต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับโควิดที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ขณะที่คาดว่ากลุ่มเด็กจะได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นในปีหน้า

 

นอกจากนี้ การใช้ชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับโควิดมากขึ้น โดยการตรวจเชื้อโควิดในอนาคตจะมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำฤดูกาล การสวมใส่หน้ากากอนามัยและการล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการรักษาระยะห่างของผู้คนในชีวิตประจำวัน จะไม่เป็นเรื่องแปลกอีกต่อไป 

 

ภาพ:Photo Illustration by Carol Smiljan/NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X